ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือล้านช้างแม่โขงมีมติเห็นชอบแผนการความร่วมมือ 5 ปี เพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน-จีนตามแผนที่จีนเสนอ

ที่ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือล้านช้างแม่โขงมีมติเห็นชอบแผนการความร่วมมือ 5 ปี (2018-2022) สำหรับแผนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตามที่แผนจีนเสนอ โดยแผนการความร่วมมือ 5 ปีมีสาระสำคัญที่มุ่งเน้น การเชื่อมโยงประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามเข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคง การส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้แผนการความร่วมมือฉบับนี้จะเป็นการเชื่อมต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเข้ากับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และแผนยุทธศาสตร์ของอาเซียนปี 2025

แผนการความร่วมมือ 5 ปี (2018-2022) แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง คือ 1. ในช่วงปี 2018-2019 จะเป็นช่วงของการวางรากฐานความร่วมือ โดยเน้นความร่วมมือในระดับภาคีขนาดเล็กและขนาดกลาง

2. ในช่วงปี2020-2022จะเป็นการขยายความร่วมมืออกไปในระดับอนุภูมิภาคมากขึ้น โดยเน้นการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน ความร่วมมือด้านการกสิกรรมและขจัดความยากจน รวมไปถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆที่ขยายออกไป

ปัจจุบันภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขงมีโครงการ 132 โครงการของประเทศสามาชิก 5ประเทศที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากจีน และ 2 ใน 3 เป็นโครงการที่กู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิก


000_W72TF.jpg

ในที่ประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวเสนอทิศทางของความร่วมมือกับLMC ในอนาคต ดังนี้

ประการแรก กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ควรส่งเสริมให้อนุภูมิภาคนี้มีความทันสมัย ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม มีความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ และลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างกัน

ประการที่สอง เป็นกลไกหลักสนับสนุนให้อนุภูมิภาคนี้ สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งประเทศสมาชิกมีพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นภาคการเกษตร จึงต้องร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยรัฐบาลไทยกำลังเร่งพัฒนาพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้เกษตรกรสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลและตลาดโลกผ่านโครงการดิจิตอลชุมชนและอินเตอร์เน็ตประชารัฐโดยร่วมกับภาคเอกชน และการให้ความสำคัญกับกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยมีกองทุนสนับสนุนและให้ข้อมูล และได้มีการจัดงาน Startup Thailand ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่มีหลายประเทศหลายบริษัทให้ความสนใจเข้าร่วม

ประการที่สาม การเชื่อมโยงในภูมิภาคหรือ connectivity เป็นเครื่องมือสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล โดยไม่ละเลยกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล รวมทั้งการเข้าถึงของภาคประชาสังคมด้วย ซึ่งไทยมีบทบาทแข็งขันในการจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงทั้งในกรอบ ACMECS ASEAN BIMSTEC และ IORA สนับสนุนการเชื่อมโยงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบเพื่อการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีน ในการจะจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ซึ่งจะช่วยให้อนุภูมิภาคเชื่อมโยงเข้ากับนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน หรือ BRI และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

ประการที่สี่ ไทยสนับสนุนการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง – ล้านช้าง และผลักดันให้ระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคเชื่อมต่อเข้ากับระเบียงเศรษฐกิจของ BRI ทั้งกรอบทวิภาคีและ GMS ทั้งแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านตะวันออกของไทย (EEC) โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจจีน – อินโดจีน ยังสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย + 1 ซึ่งสนับสนุนการลงทุนและการค้าแบบบูรณาการ การผลิตร่วมกัน และขยายการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานกับตลาดภายนอก โดยเริ่มต้นจากกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป สินค้าอุปโภค และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการลงทุนด้านการเชื่อมโยงและการคมนาคม และการท่องเที่ยวร่วมกัน ซึ่งทั้ง 6 ประเทศต้องหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความเชื่อมโยงตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งด้านความต้องการพื้นฐาน การตระหนักรู้ การเข้าถึงทรัพยากรและการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากร ให้สอดคล้องกับสังคมแห่งการเรียนรู้

ประการที่ห้า ไทยเห็นพ้องกับจีนที่เสนอให้ขยายสาขาความร่วมมือของกรอบ MLC จาก 3+5 เป็น 3+5+X โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพร้อมของประเทศสมาชิกทุกประเทศ และ “จิตวิญญาณแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” โดยสาขาที่สามารถขยายความร่วมมือร่วมกันในอนาคตได้แก่ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความร่วมมือด้านน้ำที่ไทยให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่า น้ำเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญในลำดับต้น ที่จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิด ทั้งด้านการเมือง การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำท่วมและน้ำแล้งในประเทศลุ่มน้ำ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาการที่ยั่งยืนและความสุขสงบและสันติภาพของประเทศลุ่มน้ำโขง กรอบความร่วมมือ MLC และ MRC (Mekong River Commission) ต้องมีความเชื่อมโยงมากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างครอบคลุม ครบวงจรและรวดเร็วยิ่งขึ้น