ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน ป.ป.ช. เผยส่งสำนวนฟ้องปมทุจริตจัดซื้อ"ALPHA 6" ไปยังอัยการสูงสุดแล้ว เตรียมนำการวินิฉัยไปใช้ขยายผลสำนวนคดีอื่นที่ยังค้างอยู่

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดและยาเสพติด ALPHA 6 (อัลฟ่าซิกส์) และ GT200 หลัง ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 11 ชุด โดยที่ประชุม ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดการทุจริตจัดซื้ออัลฟ่าซิกส์ ในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพบเจ้าหน้าที่รัฐระดับหัวหน้าสำนักงานของจังหวัด ระดับซี 8-ซี9 มีส่วนเกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์ชัดเจน รวมถึงพบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดปกติ แต่ไม่เชื่อมโยงถึงรัฐมนตรีหรือนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งในช่วงการจัดซื้อ 

ทั้งนี้ ได้ลงนามส่งสำนวนฟ้องไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ อสส.จะพิจารณาเนื้อหา พยานหลักฐานที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลไป หากเห็นพ้อง อสส.จะส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่หากเห็นว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์จะต้องตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดกรอบระยะเวลาของ อสส. แต่ตามกฎหมายใหม่ อสส.จะมีเวลา 180 วันในการพิจารณาส่งฟ้องสำนวน แต่หากเห็นว่ามีข้อไม่สมบูณณ์ต้องตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาให้เสร็จภายใน 90 วัน ทั้งนี้หากไม่เห็นฟ้อง ทาง ป.ป.ช.จะต้องส่งฟ้องเองภายใน 90 วัน

ประธาน ป.ป.ช. ยังกล่าวอีกว่า จะนำประเด็นการวินิจฉัยกรณีทุจริตจัดซื้อ ALPHA 6 ไปใช้เป็นแนวทางตรวจสอบขยายผลไปยังสำนวนคดีอื่นที่ยังค้างอยู่ เช่น กรณี GT 200 ที่มีความใกล้เคียงกัน

สำหรับคดีนี้ถูกร้องเรียนว่าจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบพกพาในราคาที่แพงเกินกว่าที่ควรจะเป็นและไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย ซึ่งงบประมาณที่จัดซื้อไปรวมกันทั้ง GT200 แและ ALPHA 6 มูลค่า 1,134 ล้านบาท และปัจจุบันไม่ได้มีการนำมาใช้งานจริง

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การทุจริตเชิงนโยบาย ส่งผลเสียในทุกมิติ ปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนา หลักเกณฑ์การตรวจสอบให้ทันสมัย รัดกุม เป็นธรรม  วางมาตราการเสริมในทุกระดับการขับคลื่อนนโยบาย ตั้งแต่พรรคการเมืองเริ่มคิด ไปจนถึงการประเมินผลนโยบาย เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลตัดสินใจ เลือกพรรคการเมือง และช่วยกันตรวจสอบ

ส่วนกรณี หลายฝ่ายมองว่า 4 ปี คสช. ล้มเหลวในการปราบปรามทุจริต  ประธาน กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. มีหน้าที่ไต่สวนเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาเท่านั้น ไม่ได้มองเรื่องนโยบายของรัฐบาล แต่บทเรียนที่ผ่านมาจะนำไปทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ย่อยที่ 3 เรื่อง 'ทุจริตเชิงนโยบาย' ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องช่วยกันกำหนดหลักเกณฑ์ป้องกันความเสี่ยง และให้สาธารณชนเข้ามาช่วยกันเฝ้าระวัง-ตรวจสอบ ทั้งนี้ มองว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด และเกิดความเสี่ยงทุจริตต่ำที่สุด



อ่านเพิ่มเติม