ไม่พบผลการค้นหา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติตั้งคณะกรรมาธิการร่วมแก้ร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ประชุมนัดแรก 19 ก.พ. ด้านประธาน สนช. มองการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 ยืนยันไม่มีการคว่ำร่างกฎหมาย

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ ปธ.สนช. ยืนยัน สนช. ไม่คว่ำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2 ฉบับนี้ เนื่องจากได้พูดคุยกับสมาชิก สนช.แล้ว ไม่พบปัจจัยในการนำไปสู่การคว่ำร่างกฎหมายแต่อย่างใด

พร้อมสัญญาว่า สนช. จะมุ่งมั่นพิจารณาร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป. การได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ออกมาดีที่สุด โดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณา


"สนช. มีหน้าที่ในการร่างกฎหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ในการกำหนดกรอบเวลาเลือกตั้ง ซึ่งการขยายเวลาการบังคับใช้ร่างกฎหมาย ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และ คสช." นายพรเพชร กล่าว


อย่างไรก็ตาม หาก สนช. มีมติไม่รับร่างกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ก็เป็นกระบวนการทางกฎหมาย แต่จะต้องถกเถียงกันในข้อโต้แย้งที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งมาก่อน

ส่วนกรณีของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 นั้นไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อคำนวณระยะเวลาตามโรดเเมปการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งระหว่างนี้พรรคการเมืองจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายพรรคการเมือง และ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2561 กำหนด โดยเฉพาะเรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามระบบไพรมารี่โหวต


"ขออย่าเปลี่ยนบรรยากาศที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งไปสู่บรรยากาศของความขัดแย้ง" นายพรเพชรกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายจะประชุมนัดแรกในวันจันทร์ที่ 19 ก.พ. นี้ และมีกรอบเวลาในการทำงาน 15 วันตามรัฐธรรมนูญ คือจะต้องส่งให้ สนช. พิจารณาอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 1 มี.ค. 2561

อ่านเพิ่มเติม :

กรธ.ยก 7 ประเด็นแย้งร่าง กม.เลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. ขอตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแก้ไข