ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ยืนยันไม่เลื่อนเลือกตั้ง ก.พ. 2562 วอน ศาล รธน. เร่งตีความกฎหมายเลือกตั้ง ขณะที่ ประธาน สนช. ยื้อส่งร่างกฎหมาย ส.ส.ที่สมาชิก สนช.ล่าชื่อ อ้างรอนายกฯ ตัดสินใจก่อน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตี ว่า ตนยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกรอบเดือน ก.พ.2562 และขอย้ำว่าไม่มีการเลื่อนเลือกตั้งแน่นอน ทั้งนี้ ต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความกฎหมายทั้งสองฉบับให้เร็วๆ

เมื่อถามว่า ความตั้งใจของรัฐบาลจะให้เลือกตั้งเดือน ก.พ.2562 แต่เมื่อเกิดเงื่อนไขทางกฎหมาย ดูเหมือนทำให้ยากที่จะให้เป็นไปตามโรดแมป พล.อ.ประวิตร ระบุเสียงดังว่า "ก็บอกว่าไม่เลื่อนไงเล่า" เมื่อถามย้ำว่า แต่ สนช. จะส่งให้ สนช.ตีความกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า จะส่งก็ส่ง ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเร็วก็จบ

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง พล.อ.ประวิตร บอกว่า ต้องให้พรรคการเมืองใหม่ตั้งพรรคให้เรียบร้อยก่อน แล้วให้ไปพร้อมกันในเดือน มิ.ย.นี้ 

เมื่อถามอีกว่า การปลดล็อคให้พรรคการเมืองต้องมีเงื่อนไข เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “คิดว่าไม่เห็นมีอะไรที่พรรคการเมืองขัดแย้งกัน ก็มีแต่สื่อนี่แหละที่ขัดแย้ง” เมื่อถามต่อว่า พรรคการเมืองและ กกต.ขอให้คสช.แก้ไข คำสั่งคสช.ที่53/2560 ที่เกี่ยวกับการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่าไม่มีการแก้ไขคำสั่งกล่าว หากจะให้แก้ขอให้กกต.ทำเรื่องมา

สนช. ปัดกลับลำตีความกฎหมาย ส.ส.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ระบุว่า ไม่ทราบละเอียดสมาชิก สนช. ได้เข้าชื่อ 25 คนเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากยังมีข้อกังวลว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต ต้องยอมเสียเวลาในส่วนนี้เพื่อให้ตกผลึกในทุกประเด็น แม้ส่วนตัวจะเห็นว่าทั้ง 2 ประเด็นในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือศาลรัฐธรรมนูญเร่งรัดพิจารณาเป็นกรณีพิเศษอาจจะไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง

นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า การส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ สนช.กลับลำ แต่เป็นเรื่องของสมาชิกกลุ่มหนึ่งที่ใช้สิทธิเข้าชื่อ เนื่องจากเห็นว่าจะช่วยแก้ปมปัญหาได้ ดีกว่าเกิดปัญหาในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าใครจะหยิบมาเป็นข้อโต้แย้งหากไม่ประสบความสำเร็จหลังการเลือกตั้งหรือไม่

ด้าน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ระบุว่า ล่าสุดตนและสมาชิก สนช.รวม 27 คน ได้ยื่นหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใน 2 ประเด็น คือ การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุดำรงตำแหน่งข้าราชการฝ่ายการเมือง และการลงคะแนนแทนผู้พิการ ทุพพลภาพ และคนชรา ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่รวบรวมรายชื่อจนครบจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ทราบว่า จะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวันไหน เพราะต้องรอผู้ใหญ่อีกที แต่หากจะส่งต้องอยู่ในกรอบเวลาที่ไม่เกินวันที่ 12 เม.ย.นี้ โดยเชื่อว่า การยื่นตีความครั้งนี้ จะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งอย่างแน่นอน

'พรเพชร' ยื้อส่งร่างกฎหมาย ส.ส. ให้ศาล รธน. รอนายกฯตัดสินใจ

ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ชี้แจงว่า สนช. ได้นำส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นอำนาจในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงเป็นของนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 148(2) แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่แบบบุรุษไปรษณีย์ที่จะต้องส่งคำร้องของสมาชิก สนช. ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน สนช. จึงต้องส่งคำร้องของสมาชิก สนช. ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ หากนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับความเห็นของสมาชิก สนช. นายกรัฐมนตรีก็มีดุลพินิจที่จะใช้อำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ด้วยตัวเอง

หากนายกรัฐมนตรีไม่ใช้อำนาจในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยตัวเองนายกรัฐมนตรีต้องแจ้งกลับมายัง สนช. และประธาน สนช. จะส่งคำร้องของสมาชิกไปยังศาลรัฐธรรมนูญแทน แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่ตอบกลับมาภายในวันที่ 12 เม.ย.นี้ ตนก็จะไม่ส่งคำร้องของสมาชิก สนช. ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นายพรเพชร เผยว่า หากนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ยื่นศาลตีความ มี 2 วิธีที่จะร่นระยะเวลา เพื่อมิให้กระทบกับโรดแมปเลือกตั้ง ทางแรกคือ หมายเหตุขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว ทางที่สองคือ รัฐบาลอาจคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ลดเวลาจัดการเลือกตั้งลงจาก 150 วัน ซึ่งอาจเหลือ 90 หรือ 120 วัน อย่างไรก็ตามนายพรเพชร ยืนยันว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสองประเด็นนั้นในร่างขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะไม่เป็นผลทำให้ตกไปทั้งฉบับ อย่างมากแค่ตัดประเด็นดังกล่าวทิ้ง ไม่มีอะไรน่ากังวล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง