ไม่พบผลการค้นหา
โฆษก กรธ. ตั้ง 7 ประเด็นแย้งร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. แจงเตรียมขอตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย แก้ไขร่างกฎหมาย เหตุบิดเบือนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ปิดกั้นโอกาสหลายด้าน สนช.รับเรื่องเข้าที่ประชุม 15 ก.พ.นี้

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ. มีความเห็นโต้แย้งต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 4 ประเด็น และความเห็นแย้งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 3 ประเด็น

ความเห็นแย้ง ร่าง พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. ประกอบด้วย 1) ตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งกรณีนี้เห็นว่า เป็นการจำกัดโอกาสบุคคลที่เข้ารับตำแหน่ง ไม่ใช่การตัดสิทธิเฉพาะตัว

2) การหาเสียงเลือกตั้งผ่านงานรื่นเริง หรือจัดมหรสพ ซึ่ง กรธ.มองว่าไม่ควรสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอเนื้อหาทางการเมือง

3) การขยายระยะเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็น 07.00-17.00 น. ถือเป็นประเด็นที่เพิ่มผลกระทบต่อการทำงานของกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอาจจะกระทบต่อความสุจริตในบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสุจริตเที่ยงธรรม

และ 4) ให้บุคคลอื่นหรือเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง ช่วยเหลือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถกระทำด้วยตนเอง เพราะพิการ หรือทุพพลภาพ

ทั้งนี้ กรธ.เข้าใจเหตุผลของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่รัฐธรรมนูญบัญญัติหลักการออกเสียงเลือกตั้ง ว่าต้องกระทำโดยตรงและลับ หากให้บุคคลอื่นกระทำแทนนั้น ถือว่าไม่ใช่การออกเสียงโดยตรงและลับ ดังนั้น กกต. ต้องหาวิธี หรือเครื่องมือเพื่อช่วยเหลืออื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ กรธ.โต้แย้งถือเป็นปัญหาเชิงเทคนิคและการจัดการ ดังนั้นเชื่อว่าจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อให้เกิดข้อยุติได้ และ กรธ. เตรียมเสนอ ตัวแทน 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.อัฎพร เจริญพานิช, นายภัทระ คำพิทักษ์, นายศุภชัย ยาวะประภาษ, นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และนายนรชิต สิงหเสนี เป็น กมธ.

ส่วนความเห็นแย้งต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มา ส.ว. ประกอบด้วย 1) การแบ่งกลุ่ม ส.ว. ที่เหลือเพียง 15 กลุ่ม เพราะ กรธ.เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ ส.ว. เป็นสภาของพลเมืองที่เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน การจำกัด โดยการรวบกลุ่มอาชีพ, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ หรือกลุ่มผลประโยชน์ เท่ากับลดโอกาสภาคส่วนที่จะเข้าเป็น ส.ว.

2) การแบ่งประเภท ส.ว. ออกเป็น 2 ประเภท คือ สมัครโดยอิสระ และผ่านการคัดกรองจากองค์กร ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้บุคคลทุกคนสามารถสมัครได้โดยอิสระ แม้สิ่งที่ สนช. ต้องการให้องค์กรคัดกรองบุคคลก่อนเข้าสมัคร เพื่อให้เกิดการยอมรับ แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์สร้างวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

และ 3) ยกเลิกวิธีเลือก ส.ว.แบบไขว้กลุ่ม โดยไม่มีมาตรการป้องกันการสมยอมระหว่างผู้สมัคร เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสมยอมและไม่มีมาตรการป้องกันการฮั้วลงคะแนนได้ 

ทั้งนี้ กรธ. มีมติส่งตัวแทน 5 คนร่วมเป็น กมธ.ของ สนช. คือ นายอัชพร จารุจินดา, นายชาติชาย ณ เชียงใหม่, นายปกรณ์ นิลประพันธ์, นายอภิชาต สุขัคคานนท์ และ นายอุดม รัฐอมฤต 

โดยเฉพาะประเด็น ของ พ.ร.ป. ส.ว. ถือเป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างกันมาก แต่เชื่อว่า สนช. และ กรธ. จะมีโอกาสหารือว่า รัฐธรรมนูญที่ต้องการคืออะไร และทำให้เจตนารมณ์เป็นจริงได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าว ระบุว่า สนช. ได้บรรจุวาระการประชุมดังกล่าวไว้ในวันที่ 15 ก.พ. นี้ และจะมีมติตั้งกรรมาธิการฯ ที่มาจากส่วนของ กรธ., กกต. และ สนช. ทั้งนี้เมื่อแต่งตั้งแล้วเสร็จ กมธ. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน