ไม่พบผลการค้นหา
คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ย้ำข้อเสนอและคำอธิบายมาตรการเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 อีกครั้ง หลังเสนอ 16 ข้อ รัฐเพิ่งทำไป 3 ข้อ

ทั้งนี้ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอมาตรการดูแลลูกจ้างและคนทำงานอิสระ, ธุรกิจรายย่อย และเกษตรกร พร้อมทั้งเสนอดึงงบกลาง-ตัดงบที่ไม่จำเป็นเช่นเงินซื้ออาวุธและดูงาน อาจมีเงินถึงแสนล้านสำหรับแก้ปัญหาทั้งการควบคุมโรคและดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ หากทำจนสุดความสามารถแล้วยังต้องกู้เพิ่ม จะพร้อมยกมือให้

“อย่างแรกก็คือการควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งยังยืนยันว่าขณะนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ได้เร็วที่สุด และให้มากที่สุด ให้เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อสยบโรคให้ได้เร็วที่สุด และอีกประการคือการมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องทำควบคู่กัน เพราะถ้าไม่ทำก็จะส่งผลต่อการควบคุมโรค”

ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยกล่าวพร้อมยกตัวอย่างความโกลาหลที่เกิดขึ้นหลังมีการประกาศปิดกิจการ 28 ประเภทในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยไม่มีมาตรการทางเศรษฐกิจมารองรับ ส่งผลให้ผู้คนที่ต้องหยุดงานหลั่งไหลออกจากรุงเทพฯ นับเป็นแสนคน เท่ากับเป็นการนำความเสี่ยงกลับไปยังจังหวัดต่างๆ

“หัวใจมีอยู่ 2 อย่างเท่านั้น หนึ่ง สยบโรคให้เร็ว สอง มาตรการทางเศรษฐกิจต้องทัน”

สำหรับมาตรการทางเศรษฐกิจนั้น ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยระบุว่า ได้เห็นว่ารัฐบาลเห็นพ้องและนำไปปฏิบัติบ้างแต่ยังมีอีกหลายมาตรการที่ขอนำเสนอและขอวิงวอนให้รัฐบาลช่วยพิจารณา ดังนี้

1. มาตรการเพื่อลูกจ้าง และอาชีพอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคม

PT01.jpg

1. เบี้ยยังชีพ ทั้งนี้ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้เงินกรณีขาดรายได้ 7,500 บาทอยู่แล้ว ส่วนที่เสนอสำหรับลูกจ้างและอาชีพอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคมคือเบี้ยยังชีพ 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือนรวม 15,000 บาท ซึ่งรัฐบาลรับไปทำแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด รัฐบาลจะให้ประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งไม่เพียงพอ คนที่ลำบาก คนที่เดือดร้อนมีมากกว่านั้น ต้องให้เขาให้ครบแล้วเราจะมีมาตรการให้เขาอยู่บ้านให้เขาทำอะไรเขาก็จะให้ความร่วมมือในเมื่อเขาไม่ต้องดิ้นรนที่จะหาเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัว

2. พักชำระหนี้ทุกประเภทเป็นเวลา 6 เดือน  หนี้นี้ไม่ใช่หนี้ที่ไปก่อจากการไปช็อปปิ้งซื้อเสื้อผ้า   แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากสิ่งที่เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องมือทางการเกษตร หรือคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงนาโนไฟแนนซ์ ประเภทเงินกู้ด่วนต่างๆ ด้วย  ประเด็นนี้รัฐยังไม่ได้พิจารณา ฝากรัฐพิจารณาค่ะ

3. ลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับเงินกู้ทุกประเภท

4. ชดเชยรายได้ ให้ผู้ที่ต้องกักตัวเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน อันนี้จำเป็นเลย ต้องให้เขาคนละ 5,000  บาท ไม่เช่นนั้นจะมีคนจำนวนมากที่ลูกเมียรออาหาร รอเงินจากเขาในการประทังชีพในแต่ละวัน เขาหยุดงานไม่ได้ เขาจะต้องไม่บอกความจริงว่าเขาเจ็บหรือเขาป่วย เพราะเจ็บป่วยแปลว่าลูกเมียเขาต้องอด เรื่องนี้สำคัญว่าถ้าเราจ่ายให้เขา 5,000  บาท เราจะทำให้คนเข้าระบบมากขึ้น

5. ลดค่าน้ำค่าไฟให้กับบ้านที่ใช้ไม่เกิน 1,000  บาท แปลว่าเป็นบ้านของผู้มีรายได้น้อย ไม่เกิน 1,000 บาทให้ใช้ฟรีเลยเพื่อช่วยลดรายจ่ายของผู้มีรายได้น้อย

6. ช่วยเอกชนด้วยการงดเก็บภาษีของเอกชนและบรรเทาทุกข์บางเรื่อง เพื่อให้เอกชนไปงดเก็บค่าเช่า เช่นแผงลอย ค่าเช่าร้านคาเล็กๆ ในตลาด ในศูนย์การค้าต่างๆ ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าลำบากมากเพราะไม่มีเงินไปจ่ายค่าเช่าอย่างน้อย 3 เดือนค่ะ

7. ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนมาเยอะพอสมควร เด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ ปรากฏว่าเรียนไป 20 กว่าวัน ค่าอินเตอร์เน็ตไป 700-800  แล้ว ขอเสนอให้คนที่ต้องเรียนออนไลน์ก็ดี คนที่ต้อง Work from Home ก็ดี อาจารย์ที่ต้องสอนออนไลน์ก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงให้ใช้เน็ตฟรี

กสทช. มีเงินเยอะนับแสนล้าน ถึงเวลาแล้วค่ะที่จะต้องเอาออกมาช่วยประชาชน

นี่คือมาตรการสำหรับพนักงาน ลูกจ้าง อาชีพอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคม รัฐอาจจะยังพิจารณาอยู่แต่ยังไม่ได้คลอดมาตรการออกมา

2. ช่วย SME ช่วยธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้เขาไม่เลย์ออฟคนงาน

PT02.jpg

มาตรการต่อไปนะคะ ก็คือมาตรการที่จะต้องช่วยเยียวยาเจ้าของธุรกิจโดยเราพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก คนตัวเล็ก SME ธุรกิจรายย่อยต่างๆ การช่วยธุรกิจก็เหมือนการช่วยประชาชนเพราะว่า เมื่อเขายืนอยู่ได้ เขาก็จะไม่เลย์ออฟคนงาน

ธุรกิจเล็กๆ ไม่ว่าจะร้านค้าย่อย ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก สปา ร้านทำผม รับจัดอีเวนท์อะไรต่างๆ ทั้งหมด

มาตรการที่เราเสนอคือ

1. พักชำระหนี้ นี่สำคัญที่สุด คือพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เขาพอยืนอยู่ได้ในสภาวะที่เกิดวิกฤตโควิดแบบนี้นะคะ อันนี้รัฐยังไม่ได้พิจารณา

2. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งก็จะลดดอกเบี้ยให้ธุรกิจขนาดเล็ก ได้ยินว่ารัฐกำลังพิจารณาแล้วก็อาจจะออกบางมาตรการ ก็ขอให้ช่วยเร่งพิจารณานะคะ

3. คือ soft loan ให้กับธุรกิจตัวเล็กๆ คนตัวเล็กๆ ธุรกิจเล็กๆ ทั้งหลาย SME ให้เพื่อต่อชีวิตธุรกิจ รัฐได้ดำเนินการแล้วนะคะ แล้วก็เป็นมาตรการที่ดี น่าสนใจมากนะคะ จะช่วยได้ แต่มันมีคอขวดค่ะ

ได้รับการร้องเรียนจากพวก SME พวกสมาคมต่างๆ ว่ามาตรการออกมาดี แต่พอไปปฏิบัติยังใช้ไม่ได้ เพราะตัวธนาคารเองยังไม่กล้าปล่อย กลัวเป็นหนี้เสีย พอเป็นหนี้เสียแล้วก็จะมีกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติเข้ามา เป็นสิ่งที่รัฐบาลคิดดีแล้ว แต่อยากจะให้แก้ให้จบโดยการที่ให้แบงก์ชาติหรือรัฐบาลเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ตรงนี้ให้กับแบงก์พาณิชย์ แบงก์พาณิชย์จะได้กล้าปล่อยกู้ soft loan เพื่อต่อชีวิตธุรกิจให้กับพวก SME ตรงนี้ทำดีแล้วค่ะ แต่ยังนำไปสู่ภาคปฏิบัติไม่ได้ ขอเพิ่มอีกนิดหนึ่งนะคะ

4. เงินอุดหนุนนายจ้างเพื่อไม่ให้เลิกจ้างพนักงาน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้ามีการเลิกจ้างพนักงานมากๆ ภาระก็จะตกไปอยู่กับรัฐบาลอีกละค่ะ ดังนั้น ควรที่จะอุดหนุนนายจ้าง ตอนนี้เขาอาจจะ leave without pay อยู่บางส่วนอยู่แล้ว ถ้าเราให้รายละสัก 5,000 ต่อคนนะคะ ให้นายจ้างเอาไปจ่ายให้พนักงาน แล้วก็อย่าเลิกจ้าง อันนี้สำคัญอยากให้รัฐพิจารณานะคะ

5  เลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคล อันนี้รัฐบาลทำแล้ว แต่รู้สึกว่าจะทำแค่ 3 เดือน ไม่น่าพอค่ะ น่าจะยืดระยะเวลาเป็นสัก 6 เดือนนะคะ

6  ลดภาษีน้ำมัน อันนี้สำคัญจริงๆ ขณะนี้ราคาน้ำมันโลกลงไปแบบอยู่เรี่ยดินอย่างนี้นะคะ แต่ของเรายังลดไม่เท่ากับของจริง ก็ลดซะเถอะค่ะ เพื่ออะไรคะ เพื่อลดต้นทุนการผลิต แล้วก็เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนและที่สำคัญค่ะ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ เก็บภาษีน้ำมันดีเซลมาน่าจะ 5-6 ปีแล้วนะคะ ลิตรหนึ่งประมาณ 6  บาท ณ ตอนนี้มันวิกฤตจริงๆ ช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เลิกเก็บภาษีน้ำมันดีเซลนะคะ อันนี้คือมาตรการที่เรานำเสนและรัฐยังไม่ได้พิจารณาทั้งหมด ขอให้รัฐพิจารณาเพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กๆ นะคะ

3. กลุ่มเกษตรกร โคม่าก่อนโควิดด้วยพิษภัยแล้งน้ำท่วม

PT03.jpg

กลุ่มเกษตรกรมีความสำคัญเพราะว่าเขาคือฐานใหญ่ คือกำลังซื้อหลักของประเทศ และเป็นกลุ่มที่เดือดร้อน ลำบากมากที่สุดที่เราต้องช่วย

เขาลำบากจากไหน เขาลำบากมาก่อนหน้านี้น่าจะเกินครึ่งปีแล้ว จากน้ำท่วมจากภัยแล้ง แล้วยังจะมาเจอโควิดอีก กลุ่มนี้ ถือว่าถ้าเรา inject  เงิน หรือใส่เงินลงไปเท่าไหร่ เขาใช้หมดค่ะ แต่ขอให้ลงไปให้ถูก อย่าลงไปแบบบัตรคนจนที่ต้องไปรูดเพื่อที่จะไปซื้อของของธุรกิจขนาดใหญ่หรือเจ้าสัว อย่าไปเป็นชิม ช้อป ใช้ อะไรอย่างนี้ ที่เงินจะไปขึ้นข้างบนหมด ขอให้แจกลงไป จ่ายลงไปอย่างมีเหตุผล และให้การจ่ายนั้นให้เกิดการจ้างงานภายในชุมชน ภายในหมู่บ้านเขา

เราเสนออย่างนี้ค่ะ

1. ขอให้พักชำระหนี้ให้เกษตรกรทุกประเภทเลย ทั้งหนี้ ธกส. หนี้ที่ซื้อเครื่องจักร เครื่องยนต์การเกษตร หนี้ที่ไปกู้พวกนาโนไฟแนนซ์ต่างๆ ขอให้พักเป็นเวลา 6 เดือนก่อนเป็นอย่างน้อย เพราะว่าเขาลำบากมาก่อน sector อื่น เขาเหมือนกับคนเข้าไอซียู ไม่มีปัญญาจะลุกขึ้นมาต่อสู้อะไรได้นะคะ ปลดหนี้บนบ่าของเขาออกมาวางข้างๆ ก่อน ให้เขาลุกขึ้น ยืนขึ้นได้ เขาจะได้ไปทำมาหากินได้ อันนี้จำเป็นอย่างยิ่ง ขอร้องเลยค่ะว่ารัฐบาลต้องเร่งพิจารณา

2. เร่งจ่ายเงินชดเชยภัยแล้งหรือน้ำท่วม น้ำท่วมอาจจะหมดแล้ว อาจจะมีบ้าง แต่ภัยแล้งยังไม่ออกนะคะ เราเสนออย่างนี้ค่ะ ให้เขาไปเลย ไร่ละ 2,500 บาท สูงสุด 20  ไร่ แต่สำหรับคนที่มีนาน้อยๆ มี 3 ไร่ มี 5 ไร่ ไม่พอหรอกค่ะ เราก็ขอให้ขั้นต่ำเขาที่ครัวเรือนละ 25,000  บาท แล้วตรงนี้จะช่วยรัฐบาลได้เยอะมาก เพราะเกษตรกรกลุ่มนี้เมื่อได้รับเงินแล้วเขาต้องไปจับจ่ายซื้อของที่เขาขาด ที่เขาจำเป็น เงินจะหมุนเวียนค่ะ

และประการสุดท้ายค่ะ เราต้องการให้มีการสร้างงาน ให้มีการหมุนเงินอยู่ในหมู่บ้าน อยู่ในชุมชนในต่างจังหวัดให้เยอะที่สุด เราอยากให้จัดสรรงบประมาณ SML ที่พรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทยเคยเริ่มไว้ แล้วก็ขยับเรทนิดหน่อยนะคะ S ก็ประมาณ 500,000 ,  M 800,000 และ L 1,000,000 บาท

เงินจำนวนนี้ให้ทุกหมู่บ้าน ให้นำไปพัฒนาในสิ่งที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้านและในชุมชนเท่านั้น ใช้แรงงานในหมู่บ้านและในชุมชนเท่านั้น อย่าไปใช้อย่างอื่น ใช้อย่างอื่นถือว่าเงินตัวนี้ถูกตัดนะคะ

เอาไปใช้ทำอะไร - เอาไปใช้ขุดแหล่งน้ำ ตอนนี้แล้งมาก เอาไปขุดแหล่งน้ำในหัวไร่ปลายนา ในหมู่บ้าน เอาไปซ่อมถนนที่ใช้แรงงาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายเงินในหมู่บ้าน สร้างให้เกิดรายได้ใหม่ในหมู่บ้าน เงินก็จะหมุนเวียน เศรษฐกิจก็จะไม่หนักแบบนี้ นี่คือมาตรการของเกษตรกรซึ่งรัฐยังไม่มีเลย ยังไม่ได้พิจารณาใน sector นี้เลย เขาเจอทั้งภัยแล้ง แล้วจะเจอทั้งโควิด

ก็ขอร้องว่าขอให้รัฐบาลได้ช่วยโปรดพิจารณาใน 3  มาตรการทางเศรษฐกิจที่จะช่วยคน 3 sectors ตั้งแต่คนตัวเล็กๆ ที่เป็นลูกจ้าง เป็นพ่อค้าแม่ขาย เป็นคนขับแท็กซี่ เป็นคนประกอบอาชีพอิสระที่เดือดร้อนจากโควิด สอง ธุรกิจเล็กๆ SME  ไม่ว่าจะภาคท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของส่ง ร้านขายของที่กระทบจากโควิด และเกษตรกรเป็นกลุ่มสุดท้าย

หวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่ารัฐบาลจะได้พิจารณานะคะ เราชื่นชมและขอบคุณในสิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปแล้ว วันนี้เป็นเวลาที่ไม่อยากให้คิดว่าเป็นข้อเสนอจากฝ่ายค้าน เราในฐานะฝ่ายค้าน เรายินดีที่จะให้ความร่วมมือทุกอย่าง

เสนอดึงงบกลาง และตัดงบที่ไม่จำเป็นก่อนขอกู้  

ถามว่าเงินเอามาจากไหน ไม่ยากเลยค่ะ เงินก้อนแรกก็คืองบกลาง งบกลางที่มีอยู่เกือบ 500,000 ล้าน จำเป็นค่ะต้องเอามาใช้อย่างแรกเลย ก็คือ front line เอามาช่วยทางด้านสาธารณสุข งบกลางใช้ได้ทันทีเดี๋ยวนี้ นายกฯ เซ็นเดี๋ยวนี้ได้ เอามาช่วยแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล จัดสรรให้เขาเลยค่ะ ได้ทราบว่าจัดให้เพียง 1,500 ล้าน ไม่พอค่ะ ต้องให้นักรบด่านหน้าของเรา ซูเปอร์ฮีโร่ของเราคือหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเขาได้มีอาวุธที่จะไปต่อสู้กับเชื้อโรคนี้ วันนี้งบกลางขอให้จัดลงมาให้เต็มที่ในการควบคุมการระบาดและในการรักษา รวมทั้งกระจายเงินลงไปเลย จนไปถึง อสม. ต้องมีเบี้ยเลี้ยงให้เขาในการที่เขาจะไปตรึงพื้นที่   รวมทั้งต้องกระจายไปให้ผู้ว่าฯ เขาเรียกว่ากระจายอำนาจด้วย กระจายเงินด้วย ให้เหมือนกับผู้ว่าฯ ซีอีโอไปรับผิดชอบ

ตัดงบที่ไม่จำเป็น เช่น งบซื้ออาวุธ งบดูงาน ฯลฯ อาจะได้ถึงแสนล้านบาท

ก้อนที่ 2 ที่เราขอรัฐบาลพิจารณาก็คือว่าวันนี้เราขอให้ทุกกระทรวงได้พิจารณาตัดงบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้ทั้งหมด รวมพลังกันเอางบเหล่านี้มาสู้กับไวรัสโควิดก่อน งบที่เราเสนอให้ปรับเปลี่ยนก็เช่น งบสู้อาวุธ ปีนี้เราต้องจ่ายเงิน 20,000 กว่าล้านเพื่อซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำแล้วก็อาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย

เราไม่มีข้าศึกศัตรูที่จะต้องรบในช่วงนี้ ข้าศึกศัตรูเราคือเชื้อโรคตัวเล็กๆ และนักรบคือคุณหมอ คุณพยาบาลนะคะ ขอให้ปรับเปลี่ยนงบตรงนี้ ยืดเวลาการซื้อ อย่าเพิ่งซื้อปีนี้ไปซื้อปีหน้า งบสร้างตึกใหม่ทั้งหลาย งบเช่ารถ ซื้อรถประจำตำแหน่ง งบอบรมสัมมนาซึ่งไปไหนไม่ได้แล้ว โควิดปิดหมดแล้ว ให้แปลงงบเหล่านี้ ซึ่งเราคิดคร่าวๆ ในคำแถลงของพรรคเพื่อไทยมีชัดเจนว่าจะได้งบเพิ่มขึ้นมาประมาณ 7-8 หมื่นล้าน และถ้าตัดมากกว่านี้ก็อาจจะได้ถึงแสนล้านนะคะ เอาตัวนี้มาช่วยสู้กับโควิดก่อนนะคะ เอามาช่วยประชาชนก่อน เอามาช่วยจ่ายค่าเยียวยา เบี้ยยังชีพ พักชำระหนี้ เงินต่างๆ เหล่านี้ มาตรการต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น เอามาใช้ตรงนี้

แล้วถ้ายังไม่พอ ก๊อกที่ 3 ค่อยกู้เงิน ถ้ารัฐบาลได้ใช้มาตรการในการใช้งบกลางอย่างมีประสิทธิภาพ ตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน ใช้เงินอย่างโปร่งใส ใช้เงินให้ตรงจุด กับการแก้ไขปัญหาโควิดแล้วก็มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องห่วงค่ะ ถ้าจำเป็นต้องกู้เงิน ยังต้องกู้อีกเท่าไหร่ ฝ่ายค้านจะช่วยยกมือ จะช่วยสนับสนุนให้รัฐบาลกู้เงินมาช่วยเยียวยาประชาชน ไม่ต้องห่วงเลย

วันนี้ฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือทุกอย่างทุกประการกับรัฐบาลเพื่อที่จะจับมือต่อสู้กับภัยพิบัติครั้งใหญ่หลวงของประเทศ จับมือต่อสู้เพื่อให้คนไทยปลอดภัย จับมือต่อสู้เพื่อให้คนไทยได้ยืนอยู่รอดในวิกฤตครั้งนี้ ขอความกรุณาให้รัฐบาลได้ช่วยพิจารณาในสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เร่งลงมือทำให้มีประสิทธิภาพค่ะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง  

'สุดารัตน์' ของบกลางสนับสนุนการทำงานหมอ-พยาบาล

'สุดารัตน์' ขอบคุณรัฐบาลฟังเสียงฝ่ายค้าน จี้ออกมาตรการเยียวยารายย่อยเพิ่ม

Exclusive คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 1: ต้องประกาศวาระแห่งชาติ สยบโควิด-19 ใน 21 วัน

Exclusive คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตอน 2: ต้องมีมาตรการประคองธุรกิจขนาดเล็ก และประชาชน