ไม่พบผลการค้นหา
นานาชาติเตือนไทยส่งตัว 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' กลับบาห์เรน กระทบภาพลักษณ์-การเป็นเจ้าภาพแข่งฟุตบอลนานาชาติ เพราะไม่สามารถคุ้มครองนักเตะได้ ขณะที่สถานทูตออสเตรเลียแถลงฉะบาห์เรน ทำให้ไทยต้องลำบาก ทั้งที่รู้มาตลอดว่าฮาคีมอยู่ที่ไหนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ฮาคีม อัล-อาไรบี นักเตะผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน วัย 25 ปี ถูกเบิกตัวมายังศาลอาญา รัชดา วันนี้ (4 ก.พ.) หลังจากอัยการยื่นต่อศาล ขอดำเนินการส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรนเมื่อวันศุกร์ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แม้ว่าจะถูกรัฐบาลออสเตรเลียแถลงคัดค้าน เนื่องจากได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่ฮาคีมตั้งแต่ปี 2560

ทั้งนี้ ฮาคีมถูกนำตัวมายังศาลอาญารัชดา เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. โดยมีตัวแทนจากสถานทูต 13 ประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ พร้อมทั้งตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)

ทางด้านเครก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย แกนนำรณรงค์การปล่อยตัวฮาคีม ในแคมเปญ #SaveHakeem เดินทางมายังศาลอาญารัชดาเพื่อสังเกตการณ์การพิจารณาคำร้องในครั้งนี้ด้วย

ระหว่างเจ้าหน้าที่นำตัวฮาคีมไปยังห้องพิจารณาคดี เขาได้ตะโกนบอกสื่อมวลชนว่า "ได้โปรดบอกเขา อย่าส่งตัวผมกลับบาห์เรน" ส่วนฟอสเตอร์ได้ตะโกนบอกฮาคีมด้วยว่า ภรรยาของเขาบอกให้เขา 'เข้มแข็งไว้'

จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.30 น. ศาลมีคำสั่งเบิกตัวฮาคีมอีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 09.00 น. และกว่าจะถึงวันนั้น ฮาคีมจะต้องถูกส่งตัวกลับไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะที่ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของฮาคีมระบุว่า จะยื่นคำคัดค้านภายใน 60 วันพร้อมเอกสาร เพื่อทำให้ศาลเห็นว่าการที่จะส่งฮาคีมไปประเทศบาห์เรน 'ไม่ดี' กับตัวของเขา ทำให้เขาได้รับอันตรายได้ และไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะส่ง


ไทย 'ไร้หลักประกัน' คุ้มครองนักเตะต่างชาติ
Hakeem
  • เครก ฟอสเตอร์ ระบุว่า 'ยังพอมีหวัง' ว่าไทยจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ด้านเครก ฟอสเตอร์ แกนนำการรณรงค์ปล่อยฮาคีม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ศาลอาญารัชดาว่า การนำตัวฮาคีมมาขึ้นศาลพร้อมกับโซ่ตรวน เป็นการส่งสัญญาณที่น่ากลัวไปทั่วโลก และจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย รวมถึงบทบาทของไทยในการจัดแข่งขันฟุตบอลนัดระหว่างประเทศ เพราะไม่มีหลักประกันได้ว่านักฟุตบอลต่างชาติที่มายังไทยจะได้รับการคุ้มครอง


"ยังมีนักเตะอีกมากที่อาจจะเป็นผู้ลี้ภัยเหมือนฮาคีม แต่ต่อไปนี้ การจะมาแข่งขันฟุตบอลที่ไทยอาจต้องคิดหนักขึ้น หรือไม่ก็อาจจะต้องเสนอให้จัดการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติที่อื่นที่ไม่ใช่ไทย" ฟอสเตอร์ระบุ


ก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุว่าการพิจารณากรณีฮาคีมเป็นขอบเขตอำนาจของศาลไทย ซึ่งไม่อาจก้าวล่วงได้

ขณะที่นายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ย้ำว่าไทยต้องเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพราะฮาคีมได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในออสเตรเลีย และได้รับวีซ่าพำนักอาศัยถาวรตั้งแต่ปี 2560


จี้ไทย-บาห์เรน 'ทำในสิ่งที่ถูกต้อง' มิฉะนั้นจะเจอคว่ำบาตร

ฟรานซิส อะวารีเทเฟ อดีตนักกีฬาฟุตบอลออสเตรเลีย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานสหพันธ์นักกีฬาฟุตบอลอาชีพนานาชาติ (FIFPro) รับผิดชอบดูแลนักฟุตบอลอาชีพในออสเตรเลีย เป็นตัวแทนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของฮาคีมที่ศาลอาญารัชดาในวันนี้

อะวารีเทเฟเรียกร้องให้ทางการไทยและบาห์เรน "ทำในสิ่งที่ถูกต้อง" โดยระบุว่า การจับกุมและคุมขังฮาคีมไม่ควรเกิดขึ้น และเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้จำกัดวงแค่ในกลุ่มนักฟุตบอล ทั้งยังไปไกลเกินกว่าวงการกีฬา เพราะนี่คือเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นประเด็นสากล และหากไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง อาจเสี่ยงต่อการที่องค์กรระดับประเทศซึ่งเป็นเครือข่ายของฟีฟ่าฟรือฟิฟโปรจะถูกคว่ำบาตรได้


"นี่คือการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ นี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฮาคีม ถึงเวลาแล้วที่ทั้งสองประเทศต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นเราจะต้องหามาตรการคว่ำบาตรมาใช้กับองค์กรระดับประเทศ เพื่อกดดันให้พวกเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง"

#SaveHakeem ดังไกลหลายประเทศทั่วโลก

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยแห่งเอเชียแปซิฟิก (APRRN) แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) และฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) รวมถึงสโมสรฟุตบอลในออสเตรเลียและไทย ต่างเคลื่อนไหวคัดค้านการส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรนเช่นกัน โดยมีหลักฐานยืนยันว่าฮาคีมถูกจับกุมและซ้อมทรมานในบาห์เรน และอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตหากถูกส่งตัวกลับไปที่บาห์เรนอีกครั้ง

ขณะที่ตัวแทนสถานทูตจากประเทศต่างๆ ในไทย ที่เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีที่ศาลอาญารัชดาในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เบลเยียม รวมถึงตัวแทนสหภาพยุโรป

AFP-ฮาคีม-ออสเตรเลียชุมนุมค้านส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรน.jpg
  • ผู้ชุมนุมในออสเตรเลีย อังกฤษ และเยอรมนี ร่วมรณรงค์ให้ไทยปล่อยตัวฮาคีมเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ฮาคีมเป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำลายสถานที่ราชการในระหว่างการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 แม้เขายืนยันว่าขณะเกิดเหตุกำลังแข่งขันฟุตบอลในนัดที่มีการถ่ายทอดสด แต่ก็ยังถูกนำตัวไปคุมขังและทำร้ายร่างกาย ทำให้เขาตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ และได้รับสถานะผู้ลี้ภียในออสเตรเลีย ทั้งยังได้ทำสัญญาเป็นนักเตะประจำสโมสรพาสโคเวลส์ของออสเตรเลียอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ฮาคีมถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2561 ขณะที่เขาเดินทางมาฮันนีมูนกับภรรยาที่เมืองไทย โดยตำรวจไทยอ้างว่าเป็นการจับกุมตามหมายแดงของตำรวจสากลอินเตอร์โพล แม้หมายแดงจะถูกยกเลิกในภายหลังเพราะเป็นการออกหมายโดยขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของอินเตอร์โพลเอง แต่ศาลไทยสั่งควบคุมตัวฮาคีมต่ออีก 60 วัน นับตั้งแต่ที่เขาถูกเบิกตัวขึ้นศาลเมื่อ 11 ธ.ค. 2561

ฮาคีมถูกนำตัวจากห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ไปขังต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกระทั่งถึงกำหนดเบิกตัวขึ้นศาลในวันนี้ และมีการรับฟังว่าเขาจะยินยอมให้ส่งตัวกลับไปยังบาห์เรนโดยสมัครใจหรือไม่ ซึ่งฮาคีมยืนยันว่า "ไม่ยินยอมกลับบาห์เรน" จากนั้นศาลตัดสินไม่ให้ประกันตัว และนัดเบิกตัวฮาคีมมาขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย.

องค์กรสิทธิมนุษยชน 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' ทวีตข้อความแสดงความกังวลถึงสุขภาพและสวัสดิภาพของฮาคีม เพราะหากรวมเวลาที่เขาถูกคุมขังตั้งแต่เดือน พ.ย.จนถึงเดือน เม.ย. จะรวมเป็นเวลานานเกือบครึ่งปี


สโมสรไทย-ต่างชาติ หนุนคุ้มครองสิทธินักเตะ
https://pbs.twimg.com/media/DyaoedUV4AAcBn6.jpg:large

นอกจากนี้ มิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด รวมถึงนักฟุตบอลในทีม ได้ร่วมรณรงค์ปล่อยตัวฮาคีม โดยเรียกร้องให้ 'ส่งนักเตะคืนสนาม' หลังจากนั้น ทีมเชียงใหม่ เอฟซีก็ได้ร่วมรณรงค์ในแคมเปญปล่อยตัวฮาคีมด้วยเช่นกัน ซึ่งเครก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย ผู้รณรงค์เรียกร้องปล่อยตัวฮาคีม ระบุว่าขอบคุณทีมฟุตบอลไทยที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นความเป็นเอกภาพของทีมฟุตบอลไทยในการรณรงค์เพื่อสิทธิของนักเตะอย่างฮาคีม

ส่วนนักฟุตบอลมีชื่อเสียงระดับโลกที่ร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัวฮาคีม มีทั้งร็อบบี ฟาวเลอร์ อดีตนักเตะของลิเวอร์พูล และดิดิเยร์ ดร็อกบา

อย่างไรก็ตาม อดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลียได้เรียกร้องให้ฟีฟ่าและแวดวงกีฬาฟุตบอลทั่วโลกยกระดับการกดดันต่อผู้เกี่ยวข้องกับการจับกุมและคุมขังฮาคีม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยหรือบาห์เรน พร้อมระบุว่า นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า และเหตุการณ์ไม่ควรล่วงเลยมาไกลขนาดนี้


สถานทูตออสเตรเลียฉะบาห์เรน "ทำให้ไทยลำบาก"

เมื่อเวลา 15.30 น. สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงกรณีฮาคีม โดยระบุว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบาห์เรนไม่เคยแสดงความพยายามหรือแจ้งรัฐบาลออสเตรเลียแม้แต่ครั้งเดียวว่าต้องการตัวฮาคีมกลับประเทศ แต่ทันทีที่ฮาคีมและภรรยาเดินทางมาฮันนีมูนที่ประเทศไทย รัฐบาลบาห์เรนได้ประสานมาที่รัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อขอให้ควบคุมตัวฮาคีมและดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศบาห์เรนทันที


"การกระทำของรัฐบาลบาห์เรน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ลำบากมาก ซึ่งจริงๆ แล้วปีนี้เป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนชาวไทยและประเทศไทย"


รัฐบาลออสเตรเลียต้องการให้ฮาคีมกลับไปประเทศออสเตรเลีย เพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัย และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรที่ประเทศออสเตรเลียโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งย้ำว่า ฮาคีมเป็นนักฟุตบอลที่รักของแฟนคลับฟุตบอลทีมพาสโคเวลในออสเตรเลียซึ่งเขาเป็นทำสัญญาเป็นนักเตะตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จึงหวังว่าฮาคีมจะได้กลับไปหาครอบครัวและภรรยาของเขาในเร็ววัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง