ไม่พบผลการค้นหา
อัยการยื่นเรื่องต่อศาลอาญา เตรียมพิจารณาส่งตัวนักบอลผู้ลี้ภัย 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' กลับบาห์เรน แต่ผู้ชุมนุมในหลายประเทศทั่วโลกรวมตัวเรียกร้องไทยปล่อยตัวฮาคีมกลับออสเตรเลีย ซึ่งเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองตั้งแต่ปี 2560

ณัฐาสิริ เบิร์กแมน ทนายความตัวแทน 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ก.พ. 2562) อัยการได้ยื่นคำร้องขออย่างเป็นทางการต่อศาลอาญารัชดาภิเษก เพื่อรับสำเนาคำร้องขอส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรน และศาลมีคำสั่งให้เบิกตัวฮาคีมมาศาลในวันจันทร์ที่ 4 ก.พ. 262 เวลา 8:30 น. เพื่อสอบถามว่าจะยอมถูกส่งตัวตามคำขอหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทนายความของฮาคีมยืนยันว่าจะยื่นเรื่องคัดค้านคำร้องส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรน เนื่องจากเขาเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองซึ่งได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลออสเตรเลีย และได้รับการอนุมัติวีซ่าพำนักอาศัยถาวรตั้งแต่ปี 2560 โดยฮาคีมอาศัยอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น และเป็นนักฟุตบอลให้กับสโมสรฟุตบอลพาสโก เวลส์ (PVFC) ของออสเตรเลีย แต่เขาถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในขณะที่เขาเดินทางมายังไทยเพื่อฮันนีมูนกับภรรยา โดยตำรวจไทยอ้างว่าเป็นการจับกุมตามหมายแดงของอินเตอร์โพล แม้ว่าหมายแดงดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปเพราะขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนของอินเตอร์โพล

AFP-ฮาคีม-ออสเตรเลียชุมนุมค้านส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรน.jpg

ฮาคีมถูกเบิกตัวขึ้นศาลอาญากรุงเทพเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2561 และมีคำสั่งขยายเวลากักตัวเขาอีก 60 วัน ทั้งยังถูกย้ายจากห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่มีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวฮาคีมกลับไปยังออสเตรเลียเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ฮาคีมถูกทางการบาห์เรนกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินราชการระหว่างที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในบาห์เรนเมื่อปี 2555 แตเขายืนกรานปฏิเสธ โดยยืนยันว่าขณะเกิดเหตุเขากำลังแข่งขันฟุตบอลนัดถ่ายทอดสด ซึ่งเป็นพยานหลักฐานได้ชัดเจน แต่เขากลับถูกจับกุม ควบคุมตัว และซ้อมทรมาน ทำให้เขาตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ และยื่นเรื่องขอลี้ภัยทางการเมืองในออสเตรเลียเมื่อปี 2557

รณรงค์ปล่อยตัวฮาคีม

การจับกุมและควบคุมตัวฮาคีมโดยทางการไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากวงการฟุตบอลและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เนื่องจากฮาคีมเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ได้รับการคุ้มครองจากออสเตรเลียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าหากทางการไทยส่งตัวเขากลับบาห์เรน จะทำให้เขาตกอยู่ในอันตรายหรือเสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน ทั้งยังขัดหลักการไม่ส่งกลับ หรือ non-refoulement ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ให้คำมั่นสัญญากับที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อปี 2559 ว่าจะปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว และจะผลักดันให้เกิดกฎหมายบังคับใช้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมในออสเตรเลีย อังกฤษ และเยอรมนี พร้อมใจจัดการชุมนุมเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวฮาคีมกลับออสเตรเลีย และคัดค้านการส่งตัวเขากลับไปบาห์เรน โดยกำหนดการชุมนุมจะจัดขึ้นในเวลาเดียวกับที่มีการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพรอบตัดสินระหว่างญี่ปุ่นและกาตาร์ วันนี้ (2 ก.พ. 2562) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าแฟนบอลและผู้สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว เรียกร้องให้ปล่อยตัวฮาคีมโดยเร็วที่สุด

  • ทวิตเตอร์ของเครก ฟอสเตอร์ รณรงค์ให้คนลุกขึ้นต่อต้านการส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรน

เครก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย ผู้นำการรณรงค์เรียกร้องปล่อยตัวฮาคีม ทวีตข้อความว่า การยื่นเรื่องดำเนินการส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรนไม่ใช่เรื่องเกินคาดเดา เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเขาคงไม่ถูกขังอยู่นานถึง 66 วัน แต่เขาระบุว่าจะต้องลุกขึ้นต่อต้านการใช้กำลังบีบบังคับอย่างโหดร้ายและเกินกว่าจะจินตนาการ 


"เป้าหมายของรัฐตำรวจและระบอบที่ปกครองด้วยการใช้กำลัง ขั้นแรกคือการทำลายความหวังของเรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราไม่อาจปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับฮาคีม เราเป็นกลุ่มพลเมืองที่จะลุกขึ้นต่อต้านเงิน อำนาจ การทุจริต และการเมือง เราจะไม่ยอมแพ้"


นอกจากนี้ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี รวมถึงนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ต่างก็ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัวฮาคีมเช่นกัน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่ากระบวนการจับกุมและควบคุมตัวฮาคีม ตลอดจนการพิจารณาว่าจะส่งตัวเขากลับไปบาห์เรนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอำนาจของศาลไทย ซึ่งไม่อาจไปก้าวล่วงได้

ที่มา: AP/ Washington Post/ SBS