ไม่พบผลการค้นหา
39 นักกิจกรรมกลุ่ม 'รวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง' ผู้ถูกดำเนินคดีร่วมกันชุมชนในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ขอเลื่อนรายงานตัวตามหมายเรียก เนื่องจากหลายคนไม่มีเงินประกันตัว

ความคืบหน้ากรณีพ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม 39 คนในความผิดร่วมกันชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พุทธศักราช 2558 มาตรา 7 วรรคแรก จากการจัดกิจกรรมรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง โดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DGR ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รายงานผ่านทวิตเตอร์ iLawFX @iLawFX ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ได้แจ้งต่อผู้ต้องหาว่าเมื่อเข้าพบจะมีการนำตัวไปฝากขังที่ศาล ขณะที่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ ไม่ได้เตรียมเอกสาร และเงินประกันตัว จึงขอเลื่อนการรายงานตัวออกไป 

27606332_10210401813354084_1702562213_o.jpg

ขณะที่มีรายงานระบุว่า แกนนำทั้ง 7 คนที่ถูกออกหมายเรียก ได้แก่ 1) นายรังสิมันต์ โรม 2) นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3) น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา 4) นายอานนท์ นำภา 5) นายเอกชัย หงส์กังวาน 6) นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ และ 7) นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 

โดยในช่วงเช้ามีเพียง น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เดินทางมารายงานตัวคนเดียวและรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน 

สำหรับสมาชิกที่ถูกออกหมายเรียกเพิ่มรอบที่ 2 จำนวน 32 คน อยู่ระหว่างการหารือกับทนายความว่าจะเข้ารับทราบข้อกล่าวในวันนี้หรือไม่ เนื่องจากผู้ถูกออกหมายเรียกบางคนไม่ทราบมาก่อนว่าจะต้องเตรียมเอกสารใดมาบ้าง รวมถึงหลักทรัพย์ที่จะใช้ประกันตัวในชั้นศาล 

27653561_10210401813274082_389527929_o.jpg

น.ส.ณัฏฐา กล่าวยืนยันว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบระยะทางจากกูเกิลแมปแล้ว พบว่าห่างจากเขตพระราชฐานเกินกว่า 200 เมตร ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ในวันที่ 10 ก.พ. ทางกลุ่มจะเดินหน้าชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนินตามกำหนดเดิมอย่างแน่นอน เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง หยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเบื้องต้นได้ทำหนังสือขออนุญาตสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว 

ด้านผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทยจำนวนมากก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกหมายเรียกนักกิจกรรมทั้ง 39 คน โดยมีทั้งผู้ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีแก่นักกิจกรรม รวมถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม และมีการติดแฮชแท็ก #mbk39 ในข้อความที่พูดถึงนักกิจกรรมทั้ง 39 คนที่ออกมารวมตัวกันไม่ไกลจากห้างมาบุญครอง (MBK) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. จนกลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมในประเทศไทยประจำวันที่ 2 ก.พ.อยู่ช่วงหนึ่ง


"ราคาที่คนไทยต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลนี้คือการสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานไป"
แบรด อดัมส์ ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์ ภูมิภาคเอเชีย
27650408_10210401813714093_1483130767_o.jpg

ขณะเดียวกัน องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้ง 39 คน โดยย้ำว่าการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสงบถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศของสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในภาคี และการตั้งข้อหานักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไม่ได้มีความจริงจังที่จะผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองลงแต่อย่างใด

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า "พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลทหารพยายามกระชับอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และราคาที่คนไทยต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลนี้คือการสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานไป ซึ่งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ที่ใส่ใจในเรื่องนี้ จะต้องร่วมกันกดดันรัฐบาลทหารไทยให้คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด"

อ่านเพิ่มเติม: