ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่รัฐบาลต้องกู้เงินจากทั้งแหล่งทุนภายในและภายนอกประเทศ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ - จากอดีตถึงปัจจุบัน ออก ก.ม.กู้เงินมาแล้ว 33 ฉบับ คาบเกี่ยวสมัยของนายกรัฐมนตรี 15 คน

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่รัฐบาลต้องกู้เงินจากทั้งแหล่งทุนภายในและภายนอกประเทศ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ 

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กเพจ "LIRT : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ" ได้รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเชิงสถิติการกู้ของรัฐบาลไทย ที่ตราผ่าน พ.ร.บ.และพ.ร.ก. ซึ่งพบว่า มีทั้งสิ้น 36 ฉบับ โดยการกู้ครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ. 2447 ที่มุ่งนำงบประมาณดังกล่าวมาสร้างเส้นทางรถไฟ โดยมุ่งหวังให้สยามประเทศเจริญทัดเทียมอานารยะประเทศ ส่วนครั้งล่าสุดคือฉบับที่ 37-39 เกิดขึ้นในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  

ถ้านับเฉพาะจำนวนการกู้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว 

รัฐบาลไทยได้ดำเนินการกู้เงินทั้งภายในและต่างประเทศมาแล้ว 33 ฉบับ จากนายกรัฐมนตรี 15 คน โดยเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้

1. จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 8 ฉบับ ในปี 2481 (สองฉบับ) 2482 2485 2492 2494 2496 2499

2. จอมพลถนอม กิตติขจร ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 7 ฉบับ ในปี 2506 2509 (สองฉบับ) 2510​2511 (สองฉบับ) 2514

3. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 3 ฉบับ ในปี 2502 (สองฉบับ) 2504

4. พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 2 ฉบับ ในปี 2489 (สองฉบับ)

5. ธานินทร์ กรัยวิเชียร ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 2 ฉบับ ในปี 2519 (สองฉบับ)

6. นายชวน หลีกภัย ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 2 ฉบับ ในปี 2541 (สองฉบับ)

7. พระยามโนปกรณนิติธาดา ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 1 ฉบับ ในปี 2476

8.พ.อ.พหลพลพยุหเสนา ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 1 ฉบับ ในปี 2479

9.ควง อภัยวงศ์ ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 1 ฉบับ ในปี 2487

10. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 1 ฉบับ ในปี 2488

11. ปรีดี พนมยงค์ ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 1 ฉบับ ในปี 2489

12. พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 1 ฉบับ ในปี 2524

13. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 1 ฉบับ ในปี 2552

14. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตรากฎหมายกู้เงินทั้งสิ้น 1 ฉบับ ในปี 2555

15.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรากฎหมายกู้เงิน 1 ฉบับ ในปี 2563 

ประยุทธ์ โควิด 476-5EE5C1C42858.jpeg

จากข้อสถิติดังกล่าวจะพบได้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร ตรากฎหมายกู้เงินมากที่สุดในยุคของสองนายกฯ ฝ่ายละ 8 ฉบับ 

ส่วนจอมพลรายอื่นๆ อย่างมากที่สุดจะมีการออกกฎหมายกู้เงิน 2 ครั้งต่อ 1 ปีเท่านั้น 

วัตถุประสงค์ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเงินกู้นั้น เกิดจากวิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก นั้นมีความจำเป็นอย่างสูงต่อการเยียวยาและแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมไทย  

แต่อีกมุมหนึ่งก็มีคำถามว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์บริหารจัดการงบประมาณประจำปีได้ดีพอหรือไม่ ในเมื่อข้อมูลระบุว่า งบกลางของงบประมาณปี 2563 วงเงิน 5.18 แสนล้านบาท ซึ่งมีงบสำรองฉุกเฉินกว่า 9.6 หมื่นล้านบาทนั้นก็ยังเป็นที่สงสัยว่าเบิกจ่ายหมดแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ ครอบครัวชินวัตร อดีตสองนายกฯ ที่ถูกอำนาจนอกระบบจากกองทัพที่ใช้กำลังยึดอำนาจกลับพบว่า มีการกู้เพียงหนึ่งครั้งในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ส่วนรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตรไม่พบการตรากฎหมายกู้เงินแต่อย่างใด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง