ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ส.ส. ร่วมลงมติโหวตไม่รับ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพล พร้อมเรียกร้องสปริต 'รัฐบาลประยุทธ์ 2' ยุบสภา ตามธรรมเนียม หากไม่ได้รับการอนุมัติ

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ถึงกรณี พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วน ของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 จะถูกพิจารณาในรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้(17ต.ค.) ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า

โดยปกติแล้วประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการแบ่งแยกอำนาจคืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ซึ่งการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จะกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา 

อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่ฝ่ายบริหารคือรัฐบาลสามารถออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ โดยมีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 มาตรา 172 คือต้องเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะ 1. รักษาความปลอดภัยของประเทศ 2. รักษาความปลอดภัยสาธารณะ 3. รักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ 4. ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ รวมถึงต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

การออกพระราชกำหนดโอนกำลังพล และงบบางส่วนของ ทบ.ไปเป็นของหน่วยฯถวายความปลอดภัยฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันใด และไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องรักษาความมั่นคงของประเทศ การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศจึงไม่สมเหตุสมผล เป็นการออกกฎหมายโดยพร่ำเพรื่อของฝ่ายบริหารโดยไร้ความจำเป็น 

ดังนั้นการออก พ.ร.ก. ดังกล่าวของรัฐบาลจึงเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นความพยายามละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่พยายามก้าวก่ายในการออกกฎหมายที่โดยหลักควรเป็นงานของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

จึงขอเรียกร้องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน ให้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว และไม่ปล่อยให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีต นำวิธีการผ่านกฎหมายที่เคยกระทำในยุคที่มีสภาตรายางอย่างสภานิติบัติญัติแห่งชาติกลับมาใช้ได้อีก 

ตามที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ว่ารัฐสภาเคยลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ถึง 3 ครั้ง ได้แก่ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนจอมพล ป. ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง และการไม่อนุมัติ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จน พล.อ.เปรมต้องประกาศยุบสภา โดยมีเหตุผลว่าหากให้สภาชุดนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อไป ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและจะกระทบถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

หาก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงการรับผิดชอบทางการเมืองตามธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีในอดีตเคยกระทำไว้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม