ไม่พบผลการค้นหา
โฆษก ศบค. แถลงยอดผู้ติดโควิด-19 เพิ่ม 120 คน สะสมผู้ป่วยยืนยัน 1,771 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย  มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 1 คน เผยมาตรการลดเชื้ออยู่บ้านยังไม่ได้ผล หลังตัวเลขสวนทางปลายเดือน สูงกว่าต้นเดือนมีนาคม ขอประชาชนช่วยรักษาระยะห่างคนในบ้าน 2 เมตร พร้อมโต้กระแสปิดบังตัวเลขผู้ป่วย ยืนยันเป็นตัวเลขจริง

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสรุปสถานการณ์ประจำวันพุธ ที่ 1 เมษายน 2563 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยในลำดับที่ 35 ของโลก มีผู้ป่วยใหม่ 120 คน รวมยอดตำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,771 คน

เสียชีวิต เพิ่ม 2 ราย รวม 12 ราย รายแรก เป็นชาย วัย 79 ปี อาศัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีโรคประจำตัว เบาหวาน และไตวายเรื้อรัง และมีประวัติเดินทางไปร่วมงานแต่งงาน ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม โดยเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 20 มีนาคมในฐานะผู้ป่วยนอก และกลับเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม ด้วยอาการไข้สูง 39.1 องศา มีอาการปอดอักเสบ และเสียชีวิตในวันที่ 31 มีนาคม เวลา 08.00 น.

ส่วนอีกราย เป็นนักธุรกิจวัย 58 ปี ที่กลับจากประเทศอังกฤษ เดินทางกลับมายังประเทศไทยวันที่ 24 มีนาคมและเข้ารับการรักษาตัวในวันที่ 15 มีนาคม โดยเสียชีวิตวันที่ 31 มีนาคม เวลา 09.00 น. ซึ่งในรายที่ 2 จะต้องหาสาเหตุการเสียชีวิตเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โฆษก ศบค. ระบุกราฟตัวเลขผู้ป่วยสะสม ยังพุ่งทะแยงขึ้น ซึ่งยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ แม้วันนี้ตัวเลข จะอยู่ที่ 120 คน โดยจำนวนนี้แบ่งเป็นมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 51 คน ประกอบด้วยสนามมวย 1 คน /สถานบันเทิง 11 คน และผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 39 คน เป็นคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 6 คน ร่วมพิธีกรรมศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย 16 คน ชาวต่างชาติเดินทางกลับจากต่างประเทศ 2 คน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อเพิ่ม 1 คน 

โดยผู้ป่วยใหม่ 120 คน พบ 16 จังหวัด กรุงเทพมหานคร 43 คน สมุทรปราการ 23 คน ภูเก็ต 11 คน กระบี่ นนทบุรี ปทุมธานี บุรีรัมย์ สงขลา และชลบุรี จังหวัดละ 2 คน ฉะเชิงเทรา นครปฐม ศรีสะเกษ สมุทรสาคร สระบุรีหนองบัวลำภู อุบลราชธานี จังหวัดละ 1 คน และอยู่ระหว่างสอบสวน 24 คน  

ทั้งนี้จากแผนที่แสดงจังหวัดยืนยันผู้ป่วย ติดเชื้อแล้ว 60 จังหวัด กรุงเทพมหานคร 850 คน นนทบุรี 104 คน สมุทรปราการ 72 คน ภูเก็ต 71 คน ชลบุรี 47 คน ยะลา 35 คน ปัตตานี 34 เป็นต้น 

โดยสถิติจังหวัดที่พบผู้ป่วยใหม่ระหว่างวันที่ 25 ถึง 31 มีนาคม ซึ่งไม่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ในระยะ 2 สัปดาห์ พบว่า ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครพนม พิษณุโลก พะเยา หนองคาย อำนาจเจริญ มุกดาหาร และลำพูน พบผู้ป่วยเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ส่วนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและอุทัยธานี พบผู้ป่วยติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยนอกพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์ พบผู้ป่วยมีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศ จังหวัดมุกดาหาร เป็นบุคลากรทางการแพทย์สัมผัสจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสุพรรณบุรี มีประวัติอาชีพเสี่ยงในกลุ่มร้านเสริมสวยจังหวัดภูเก็ต และอีก 1 รายของจังหวัดมุกดาหาร เกี่ยวข้องกับสนามมวย

IMG_20200401124129000000.jpg
  • นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษก ศบค.


มาตรการลดเชื้ออยู่บ้านยังไม่ได้ผล

โฆษก ศบค.เปิดเผยสถิติถึงมาตรการอยู่บ้านลดเชื้อ แต่ตัวเลขสวนทาง ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ที่ตัวเลขกราฟสูงกว่าต้นเดือน สะท้อนการอยู่บ้าน แต่ไม่ได้เว้นระยะห่างของคนในบ้าน ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อยังสูง ซึ่งต้องเพิ่มมาตรการกับตัวเอง ด้วยการเพิ่มระยะห่างของบุคคลระยะ 2 เมตร หมั่นล้างมือบ่อยๆ รวมถึง กินร้อนช้อนกลางส่วนตัว และต้องสวมหน้ากากอนามัยภายในบ้าน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่า ใครในบ้านจะเป็นผู้แพร่เชื้อ

ส่วนการประกาศปิดสนามมวยในช่วงต้นเดือนมีนาคม (6 มี.ค.) พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อ มีระยะรับเชื้อ 5-7 วันทำให้ตัวเลขสูงสุดในวันที่ 21-22 มีนาคมที่ผ่านมาซึ่งขณะนี้เองสามารถควบคุม การแพร่ระบาดได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อนั้นลดลง ส่วนผู้ที่กลับจากพื้นที่เสี่ยงอย่างในต่างประเทศ มีทั้งหมด 147 รายพบว่าการกักกันตัวนั้นยังทำไม่ได้ดีเพราะจำนวนตัวเลขผู้ป่วยยังคงพุ่งสูงขึ้น ขณะที่มีรายงานว่าจำนวนผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซียยังคงมีจำนวน ไม่คงที่ขึ้นและลงอยู่ตลอดเวลา ตัวเองยอมรับผิดว่าการปิดสถานที่ชุมชนไม่ได้ผล ยังคงมีกราฟของจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการยกมาตรการเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้พิจารณา

ทั้งนี้ โฆษก ศบค. ประเมินสถานการณ์ ตลอด 1 เดือนมีนาคม ว่า ถือเป็นวิกฤตที่มีผู้ติดเชื้อเกือบทั้งประเทศ โดยเดือนมีนาคมเห็นการเปลี่ยนแปลงจากมาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ลงไปในพื้นที่ 26 มีนาคม ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเมื่อครบสัปดาห์ตัวเลขที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ไปจนถึงปลายสัปดาห์หน้า จะเป็นผลของการทำงานที่เข้มงวดของทุกหน่วยงาน และศบค. เชื่อว่าน่าจะลดลง แต่ตอนนี้ยังไม่ลด ประชาชนต้องเข้มงวดมากกว่านี้ ร่วมมือให้ได้ 90% 

MRT.jpg

เผยข้อมูลสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมี.ค.ระดับความเครียดเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ที่สำรวจ ระดับความเครียดสามสัปดาห์ในเดือนมีนาคม พบว่าสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีระดับความเครียดเพิ่มขึ้น โดยเครียดมากที่สุด 3.7 % เครียดปานกลางกับน้อย ยังเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่าคนที่ตระหนกยังมีบ้าง อยากให้เครียดปานกลางคือดีที่สุด เครียดน้อยอาจหย่อนยานได้

ส่วนยังมีบางพื้นที่ยังมีการมั่วสุมชุมนุมกันอยู่นั้น ได้มีการออกคำสั่งจากศบค.ออกไปแล้ว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้นำไปสู่การปฏิบัติ และประชาชนเองต้องร่วมมือกัน ซึ่งพล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้อธิบายต่อว่า หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด การกระทำแม้ว่าจะเป็นกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท อย่างพ.ร.บ.โรคติดต่อและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมขอเตือนประชาชนอย่าฝ่าฝืนเนื่องจากจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างหนัก โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพราะถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ปิยะ ยังระบุ ถึงกรณีการห้ามประชาชนออกนอกบ้านในหลายจังหวัด ว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือการขอความร่วมมือ ปฏิบัติพากย์เป็นกิจจำเป็นที่ต้องเดินทางก็สามารถให้เดินทางเข้าออกได้อย่างการประกาศในพื้นที่นนทบุรี ก็สามารถเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อทำงานได้ตามปกติ ส่วนในบางจังหวัดอย่างแม่ฮ่องสอนที่มีการประกาศปิดจังหวัดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อมาตรา 35 ไม่ให้เข้าหรือออก หากฝ่าฝืนเข้าออกก็จะถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ด่านตรวจทั้ง 490 แห่ง จะเน้นย้ำการคัดกรองคนข้ามจังหวัด และยังมีด่านเคลื่อนที่ของหน่วยเคลื่อนที่เร็วทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ที่จะคอยสอดส่องและหากตักเตือนประชาชนแล้วไม่มีการเชื่อจะต้องดำเนินคดี โดยขอให้ประชาชนนั้นฟังเจ้าหน้าที่เป็นหลัก


กต.คาด นร.แลกเปลี่ยนสหรัฐฯ กลับไทยได้ทั้งหมดภายใน เม.ย.นี้

ส่วนการเดินทางกลับประเทศของนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS จากประเทศสหรัฐอเมริกา นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า มีการประสานงานกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะใช้ลักษณะเดียวกับการดูแลนักเรียนแลกเปลี่ยนในประเทศอิตาลีที่เดินทางกลับมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการประสานกับ AFS International อย่างใกล้ชิด โดยมีนักเรียนเดินทางกลับมาแล้วบางส่วน เนื่องจากมีการยกเลิกโครงการไปก่อนการแพร่ระบาดและเหลือนักเรียนแลกเปลี่ยนจำนวนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ส่วนที่ผู้ปกครองยังคงกังวลและเป็นห่วงนั้น ขณะนี้เครื่องบินพาณิชย์จากสหรัฐอเมริกายังสามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ได้อยู่ในลักษณะการทยอยเดินทางกลับ ซึ่งมีการประสานงานกับสถานทูตอเมริกา รวมถึงมูลนิธิและโฮสแฟมิลีอยู่ ซึ่งคาดการณ์ว่านักเรียนแลกเปลี่ยนทั้งหมดจะสามารถเดินทางกลับไทยได้ในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยนักเรียนแลกเปลี่ยนจะต้องมีเอกสาร 2 ฉบับประกอบด้วยหนังสือรับรองจากสถานทูตและใบรับรองแพทย์ให้สามารถเดินทางขึ้นเครื่องได้ ทั้งนี้ยังขอให้รอติดตามมาตรการต่างๆ ที่จะออกมา

โต้กระแสปิดบังตัวเลขผู้ป่วย ยืนยันของจริง

ส่วนสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขยังคงอยู่ในหลักร้อยราย นพ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่า ตัวเลขของการแถลงในแต่ละวันนั้นเป็นตัวเลขแท้จริงตามการบริหารจัดการ สวนกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเครื่องมือตรวจไม่เพียงพอหรือไม่นั้น ยอมรับว่าในช่วงแรกมีปัญหาเนื่องจากต้องตรวจสอบของแล็บ แต่ขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้นและสามารถตรวจสอบได้ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 10,000 Test ต่อวันและพื้นที่ต่างจังหวัดอีก 10,000 test ต่อวัน ซึ่งจากการตรวจพบว่าส่วนใหญ่ 1 ใน 3 เป็นการตรวจอาการของคนปกติแต่ตื่นตระหนกทำให้ผลเป็นลบจำนวนมาก ซึ่งยอมรับว่าเสียเวลากับผู้ที่ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก จึงขอร้องให้ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาตรวจนั้นเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีอาการเท่านั้น



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :