ไม่พบผลการค้นหา
หลายสายการบินทั่วโลกต้องให้รัฐช่วย 'อุ้ม' ให้พ้นภาวะวิกฤตโควิด-19 สื่อต่างประเทศจึงพยายามอธิบายว่า ทำไมรัฐต้องช่วยเหลือสายการบินเหล่านี้ โดยเฉพาะ 'สายการบินประจำชาติ' ที่ปรับตัวไม่ค่อยทันคู่แข่งทางธุรกิจ

สายการบินทั่วโลกระงับเที่ยวบินเส้นทางต่างๆ เพราะหลายประเทศประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ห้ามเที่ยวบินจากต่างชาติเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจการบิน

สายการบินหลายแห่งต้องปรับลดพนักงาน หรือขอความร่วมมือพนักงานให้หยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน แต่รัฐบาลจำนวนไม่น้อยเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงสายการบินเหล่านี้ไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

The Strait Times สื่อของสิงคโปร์ รายงานเมื่อ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า สายการบิน 'ลุฟต์ฮันซา' เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมนี หลังสายการบินประสบภาวะผู้โดยสารลดลงถึง 95 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยประเด็นหลักในการเจรจาระหว่างลุฟต์ฮันซากับรัฐบาลเยอรมัน อยู่ที่การขออนุมัติเงินกู้เพื่อต่อสภาพคล่อง เพราะปัจจุบันลุฟต์ฮันซาเหลือเที่ยวบินระหว่างประเทศแค่ 15 เที่ยว ไปยังอเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกา

แม้ลุฟต์ฮันซาจะมองว่าการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล 'ขัดแย้ง' กับนโยบายของสายการบินเมื่อราว 20 กว่าปีที่แล้ว ที่มองว่า รัฐไม่ควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินระหว่างประเทศ เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างไม่มีทางเลี่ยง

นอกจากนี้ 'โอลาฟ สกอล์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี ระบุด้วยว่า ถ้ารัฐต้องเข้าไปถือครองกิจการลุฟต์ฮันซาเพื่อความอยู่รอด "ก็จำเป็นต้องทำ" เพราะถ้าหากสายการบินที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวนมากที่ต้องถูกลอยแพ

AFP-แอร์โฮสเตส-สนามบิน-คาเธย์แปซิฟิก-ส้นสูง-ผู้หญิง-เครื่องบิน-Cathay Pacific.jpg

ส่วนรัฐบาลนิวซีแลนด์ก็เพิ่งอนุมัติงบ 900 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์เพื่อช่วยเหลือสายการบิน 'แอร์นิวซีแลนด์' จากเดิมรัฐถือหุ้น 52 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้นิวซีแลนด์ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียสายการบินแห่งชาติไป


'สายการบินแห่งชาติ' มีความหมายอย่างไร?

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ Skift สื่อด้านธุรกิจท่องเที่ยวและการบิน เผยแพร่บทความเชิงตั้งคำถามว่า ทำไมสายการบินแห่งชาติถึงยังคงอยู่ (Why Do National Airlines Still Exist?) ในยุคที่สายการบินแข่งขันกันอย่างดุเดือด

เนื้อหาในบทความอธิบายว่า รัฐบาลหลายประเทศมองเห็นสายการบินประจำชาติอยู่ในฐานะ 'สถานทูตติดปีก' และเป็น 'ความภาคภูมิใจของประเทศชาติ' ที่สะท้อนผ่านระบบคมนาคมที่ทัดเทียมกับทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องรักษาไว้

ช่วงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวแทนจาก 54 ประเทศได้ร่วมกันลงนามในอนุสัญญาชิคาโก (Chicago Convention) โดยเป็นข้อตกลงว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ระบุว่า สายการบินแห่งชาติ คือ สายการบินที่เป็นตัวแทนของประเทศหรือดินแดนนั้นๆ ทั้งยังต้องบริหารจัดการโดยประเทศหรือกิจการการบินพลเรือนในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่สายการบินเหล่านี้ก็จะประดับธงชาติบนเครื่องบินด้วย

ความภาคภูมิใจในสายการบินที่เป็นหน้าตาของประเทศชาติในยุคนั้น เริ่มแปรเปลี่ยนไปเมื่อราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากผู้ประกอบธุรกิจสายการบินเอกชนเปิดการแข่งขันด้านเส้นทางบินและการบริการอย่างดุเดือดเพราะต้องการแย่งชิงตลาด ทำให้สายการบินแห่งชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณสนับสนุนและการเอื้อประโยชน์ให้ 'ผูกขาด' หรือ 'เกือบผูกขาด' เส้นทางบินที่สำคัญ ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

สายการบินเอกชนมักสรรหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาดึงดูดนักเดินทาง เช่น ห้องรับรองผู้โดยสารที่มีบริการให้เลือกหลากหลาย ความสะดวกด้านการเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน บริการดิจิทัลบนเครื่องบิน หรือการเปิดเส้นทางบินใหม่โดยพิจารณาจากความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก รวมถึงการเกิดขึ้นของสายการบินโลว์คอสต์ที่ทำให้การบินไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

Unsplash-เครื่องบิน-ผู้โดยสาร-เที่ยวบิน-ลูกเรือ-แอร์โฮสเตส-เคบินครูว์

สายการบินแห่งชาติจำนวนมาก ทั้งที่รัฐเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ปรับตัวได้ช้า ไม่ทันต่อกระแสความต้องการของผู้บริโภค และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการว่าจ้างงานและระบบสวัสดิการต่างๆ ที่สวนทางกับผลประกอบการ ทำให้สายการบินแห่งชาติในหลายประเทศประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


ไม่ใช่แค่ 'สายการบินแห่งชาติ' ที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ

ในภาวะวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลหลายประเทศยังยืนยันที่จะ 'อุ้ม' สายการบินแห่งชาติ โดยออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งด้านเงินกู้หรือการที่รัฐพิจารณาจะเข้าไปถือหุ้นเพิ่มเติม เพราะมองว่าธุรกิจสายการบินเกี่ยวโยงกับภาคส่วนอื่นๆ ในโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศ รัฐจึงจำเป็นต้องกำกับดูแลหรือควบคุมให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมั่นคงและสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ 

ขณะที่บางคนก็เห็นต่างจากรัฐบาล เช่น 'บียอร์น คียอส' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบิน 'นอร์วีเจียนแอร์' เปิดเผยกับ The Straits Times ว่า รัฐบาลในหลายประเทศควรวางมือออกจากธุรกิจสายการบิน และปล่อยให้ผู้ประกอบธุรกิจแข่งขันกันเองตามกลไกของตลาดเสรี เพราะจะมีความยั่งยืนและเป็นผลดีต่อผู้คนในแวดวงการบินมากกว่าการปล่อยให้รัฐเข้ามากำหนดบทบาทหรือแทรกแซงนโยบายสายการบิน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายประเทศไม่ได้ประกาศช่วยเหลือแค่สายการบินแห่งชาติ กรณีของรัฐบาลออสเตรเลียประกาศว่าจะทุ่มงบช่วยเหลือสายการบิน 'เวอร์จิน ออสเตรเลีย' รวมกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ประคับประคองสายการบินเวอร์จินฯ ก็จะทำให้สายการบิน 'ควอนตัส' กลายเป็นธุรกิจสายการบินที่ผูกขาดตลาดอยู่เจ้าเดียว

'อลัน จอยซ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของควอนตัส ไม่พอใจนโยบายดังกล่าว และแสดงความเห็นผ่านสื่อว่า การบริการจัดการสายการบินให้อยู่รอดในช่วงวิกฤตเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่ทุกสายการบินจะทำได้ แต่การที่รัฐเข้าไปอุ้มกิจการที่บริหารได้แย่ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่ และควรปล่อยให้สายการบินที่แข็งแกร่งอยู่รอดด้วยตัวเอง

ขณะที่เว็บไซต์ Simple Flying และ Business Insider รวมถึงสำนักข่าว AP รายงานว่าสายการบินอีกหลายแห่ง ทั้งที่เป็นสายการบินแห่งชาติและสายการบินเอกชน ต่างก็ต้องการความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลในช่วงโควิด-19

ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน 'อาลิตาเลีย' ของอิตาลี 'มาเลเซียแอร์ไลน์' ของมาเลเซีย และ 'แอร์อินเดีย' ซึ่งมีทั้งการของบช่วยเหลือเยียวยาและขออนุมัติเงินกู้ รวมถึงพิจารณาหาเอกชนที่จะมาซื้อกิจการต่อ ขณะที่บางสายการบิน เช่น 'บริติชแอร์เวย์' ของอังกฤษ เลือกที่จะปรับโครงสร้างภายในองค์กรก่อน โดยยังไม่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะมองว่าการปล่อยให้รัฐเข้ามาอุ้ม จะกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการตามที่ควรจะเป็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: