ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ เห็นด้วย 374 เสียง ขณะที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่โหวตไม่เห็นด้วย 70 เสียง ด้าน 'ปิยบุตร' กังขาหวั่นเป็นการใช้ ม.44 จำแลง สะท้อนความคุ้นชินใช้อำนาจพิเศษ

ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดยมีการลงคะแนนด้วยการเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เห็นด้วย 374 เสียง ไม่เห็นด้วย 70 เสียง งดออกเสียง 2

พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ต่อรัฐสภา 

ปิยบุตร-พรก.โอนกำลังพล

(นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ )

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า พระราชกำหนดคือกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายบริหารใช้ไปพลางก่อนที่จะมีการพิจารณาให้กลายเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป หรือเรียกว่าการออกไปก่อนแล้วให้รัฐสภาอนุมัติไปทีหลัง เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารใช้ข้อยกเว้นนี้จนเป็นเรื่องทั่วไป และไม่ให้ใช้อำนาจนี้อย่างฟุ่มเฟือยจนนานวันเข้าจะฉวยเอาเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา

ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องกำหนดเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดไว้ ตามเหตุที่กำหนด 4 ข้อคือ เพื่อรักษาความมั่นคง, เศรษฐกิจ, ความปลอดภัยสาธารณะ และภัยพิบัติสาธารณะ 

อีกทั้งการออกกพระราชกำหนดต้องทำเมื่อเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แล้วจึงนำเข้าที่ประชุมสภาในวาระเร่งด่วน หรือ ส.ส. 1 ใน 5 เข้าชื่อกันเพื่อขอตรวจสอบพระราชกำหนด ตนต้องกล่าวย้ำและอภิปรายเนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ของคณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องถ่วงดุลกันและกัน และเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ 26 มี.ค. 2562 ภายในเวลา 3 เดือนออกพระราชกำหนดไปแล้ว 2 ฉบับ ฉบับแรกคือพระราชกำหนดส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว และมีข้อสงสัยว่าเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

"สำหรับพระราชกำหนดนี้ องค์พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ การถวายความปลอดภัยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการถวายความปลอดภัยของประเทศ ตรงนี้ไม่มีปัญหา แต่ความจำเป็นรีบด่วนโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีต้องแสดงข้อเท็จจริงว่า ณ วันที่ออกพระราชกำหนดฉบับนี้มีเรื่องอะไรที่การถวายการอารักขา การรักษาพระเกียรติและการถวายความปลอดภัย เรื่องใดที่จะเกิดผลกระทบร้ายแรงตามมาหากไม่รีบตรากฎหมายฉบับนี้ แต่คณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้ชี้แจง" 

ขณะที่ผ่านมาการออกกฎหมายเกี่ยวกับหน่วยบัญชาการรักษาพระองค์ก็ทำเป็นพระราชบัญญัติมาโดยตลอด ประเด็นนี้จึงมีปัญหาที่สะท้อนการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพราะคุ้นชินกับการใช้มาตรา 44 มาตลอด 5 ปี แต่วันนี้เข้าสู่ระบบปกติแล้ว มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามมาตรา 172 ในรัฐธรรมนูญ ถ้าปล่อยเรื่องนี้ไปก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ นานวันจะกลายเป็นมาตรา 44 จำแลง 

นี่คือการแสดงอาการของ พลเอกประยุทธ์ คือโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่สาธารณรัฐและไม่ใช่สมบูรณายาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง รัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบ การอภิปรายนี้จึงเป็นไปเพื่ออำนาจของรัฐสภาในการถ่วงดุลและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

"การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี ไม่ใช่การชี้หน้าด่าคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีไม่ใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อให้คนคิดว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ ตนขอสรุปว่าพระราชกำหนดนี้ตราขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 172" เลขาธิการอนาคตใหม่ กล่าว 

ด้าน พลเอก ชัยชาญ ตอบคำถามว่า ตนขอเน้นย้ำ กระทรวงกลาโหมมีภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดในการปกป้องสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่เคารพรักของประชาชนไทยทุกคน หน่วยงานนี้เดิมขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมและปรับไปขึ้นตามหน่วยราชการในพระองค์ เพื่อให้หน่วยได้มีความพร้อมในทุกด้านตลอดเวลามีกำลังพลที่เหมาะสมในโอกาสแรกโดยเร็วที่สุดและสอดคล้องกับการหมุนเวียนกำลังพลต่างๆ ในวาระหน้าที่ รวมทั้งต้องมีการฝึกเสริมสร้างความรู้และการปฏิบัติหน้าที่ต้องไม่บกพร่องเด็ดขาด อีกทั้งการจัดการงบกำลังพล งบการฝึก และเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ชัยชาญ-พรก.โอนกำลังพล

(พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม)

ขณะที่นายธีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่ไม่เหมือนประเทศอื่น มีประวัติศาสตร์ชาติที่ไม่เหมือนประเทศอื่น และที่มีวันนี้ได้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ และถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่มีประเทศไทยวันนี้ และพัฒนามาจนเป็นประมุขในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนความมั่นคงของประเทศ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อะไรที่กระทบพระมหากษัตริย์ก็จะกระทบความมั่นคงของประเทศ แต่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละท่าน แต่สำหรับตนเห็นว่าการใช้ดุลยพินิจว่าจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล

รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า สำหรับ 70 เสียงที่โหวตไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็น 70 เสียงที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ส่วนอีก 9 เสียงที่เหลือของพรรคมีติดภารกิจและลาป่วย

อ่านเพิ่มเติม