เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอเนื้อหาที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป แสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมให้สัมภาษณ์เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ จบแล้วไม่ขอพูดถึงอีกนั้น ถือเป็นการเลี่ยงหรือเพิกเฉยต่อสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพราะสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมานั้นเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญชัดเจน ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ ระบุว่าต้องกล่าวถ้อยคำดังกล่าว แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่กล่าวก็ถือเป็นการจงใจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสาระสำคัญจะบอกว่าจบแล้วไม่ได้เพราะสังคมตั้งคำถามว่าหากรัฐบาลนี้ทำได้แล้วรัฐบาลอื่นจะทำได้หรือไม่ จะกลายเป็นบรรทัดฐานในอนาคต เพราะการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรี ในกรณีเดียวกันหากรัฐบาลหรือพรรคการเมืองอื่นดำเนินการเช่นเดียวกันจะมีความผิดถึงขั้นต้องยุบคณะรัฐบาลหรือไม่
พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า กระทำการของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรี กระทำการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ที่ระบุว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ทั้งนี้ โดยหลักสากลและจารีตประเพณีในระบบประชาธิปไตยในอารยธรรมโลก การกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณของผู้นำประเทศก่อนทำหน้าที่รัฐบาล มีความสำคัญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งทุกๆ รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตามข้อกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างเคร่งครัดและถูกต้องทุกประการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะเข้าทำหน้าที่รัฐบาล หากปล่อยไปจะส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินเพราะข้าราชการจะต้องทำงานกับคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะมีความผิดตามหรือไม่หากรัฐบาลผิดมาตั้งแต่ต้น ประหนึ่งกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดมันก็จะผิดทั้งหมด