ไม่พบผลการค้นหา
'อานนท์ นำภา' ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุด-ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทักท้วงคดีทายาทเครือกระทิงแดง หลุดคดีค้านสายตาประชาชน

นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทตระกูลดัง ขับรถชนตำรวจจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยเนื้อหาทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ตามที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ ซึ่งเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ในการสั่งคดี ข้าพเจ้าในฐานะราษฎรที่มีความสนใจและติดตามคดีนี้ ตั้งคำถามต่อกระบวนการสอบสวนคดีนี้ดังนี้

1.เพราะเหตุใดพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจึงไม่ตั้งข้อหาเสพโคเคน ซึ่งเป็นสารเสพติดประเภทสอง และไม่ดำเนินคดีข้อหาขับรถโดยเสพสารเสพติดประเภทสองในคดีนี้ตั้งแต่แรกของการดำเนินคดี

2.เพราะเหตุใดอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด (โดยนายเนตร นาคสุข) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทั้งที่อัยการศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว และทำไมทั้งพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการจึงโอนอ่อนผ่อนตามให้ผู้ต้องหาโดยการไม่ออกหมายจับตั้งแต่ 2 ครั้งแรกที่มีหมายเรียก แต่รอถึงต้องมีหมายเรียกถึง 7 ครั้ง กระทั่งคดีบางส่วนขาดอายุความและผู้ต้องหาหลบหนีไป

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

1. จากหนังสือแจ้งผลการตรวจสารแปลกปลอมของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ น.395/2555 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ที่ตรวจสารแปลกปลอมที่พบในร่างกายของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ปรากฏว่าพบสาร Benzoylecgonine ซึ่งเป็นผลมาจากการเสพโคเคน ( สารนี้จะไม่พบในอาหารและยาอื่น) และพบสาร Cocaethyene ซึ่งเป็นผลมาจากการเสพโคเคนร่วมกับแอลกอฮอล์ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานฉบับนี้จากแพทย์ผู้ตรวจพิสูจน์แล้ว มีเหตุผลอะไรที่พนักงานสอบสวนไม่ตั้งข้อหาเสพโคเคนซึ่งเป็นสารเสพติดประเภทสอง และไม่ดำเนินคดีข้อหาขับรถโดยเสพสารเสพติดประเภทสองในคดีนี้ตั้งแต่แรกของการดำเนินคดี ทั้งที่มีความชัดเจนของผลตรวจ

https://scontent.fbkk5-6.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/114093370_4123230624384969_2122427908274766370_n.jpg?_nc_cat=101&_nc_sid=8024bb&_nc_eui2=AeGLpZHkUTAXbvcYTvP4udW4y_ZqTx0EIvPL9mpPHQQi81IadvTMdc0VA-dRYKnvSbFJSnW6uok_4B1NrXuaEFnl&_nc_ohc=Zh-aAvaC6aQAX9qQvX_&_nc_ht=scontent.fbkk5-6.fna&oh=01e9f2156348ed2cc61d59d1e21f3323&oe=5F423187

2.คดีนี้ ผู้ต้องหาไม่ได้ให้ความร่วมมือตั้งแต่ก่อเหตุชนคนตายแล้วหลบหนี ทั้งยังส่งพ่อบ้านซึ่งเป็นบุคคลอื่นเข้ามอบตัวแทน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการจับกุมจากบ้านพัก และมีการสอบสวนจนนำไปสู่การตั้งข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและข้อหาอื่นๆ ซึ่งจากผลการตรวจสอบกล้องวงจรปิดโดย พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปรากฏว่ารถของผู้ต้องหาใช้ความเร็วถึง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนนำไปสู่การสั่งฟ้องของอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้ จากนั้นผู้ต้องหาก็บ่ายเบียงการเข้าพบอัยการเพื่อส่งตัวฟ้องต่อศาลมาโดยตลอด โดยมีการออกหมายเรียกถึง 7 ครั้ง และมีการออกหมายจับ 

กระทั่งทราบว่าผู้ต้องหาได้หลบหนีออกต่างประเทศ ระหว่างนั้นฝ่ายผู้ต้องหาได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานฝ่ายผู้ต้องหาคือ พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียน และ พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิไชย พยานทั้งสองปากกลับให้การโดยดูเพียงจากสภาพความเสียหายของรถทั้งสองคัน เมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นกลับให้ความเห็นว่ารถยนต์ของผู้ต้องหาใช้ความเร็วไม่เกิน ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และพนักงานสอบสวนได้สอบ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ตามที่ผู้ต้องหาร้องขอเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 5 ปี หลังเกิดเหตุ กลับได้ความว่ารถยนต์ของผู้ต้องหาใช้ความเร็ว 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคำให้การของพยานทั้งสามขัดกับผลตรวจของกองพิสูจน์หลักฐานโดยพ.ต.ต.ธนสิทธิ ซึ่งได้ตรวจจากกล้องวงจรปิดหลังเกิดเหตุว่ารถยนต์ของผู้ต้องหาใช้ความเร็วถึง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

วันที่ 2 มีนาคม 2559 อัยการสั่งสอบพ.ต.ต.ธนสิทธิ์ ใหม่ทำไมมีการให้การใหม่และแก้ไขคำให้การเดิมของ พ.ต.ต.ธนสิทธิ จากเดิม 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็น 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่าง ๔ ปีก่อนเข้าให้การใหม่เกิดกระบวนการไม่ชอบมาพากลกับ พ.ต.ต.ธนสิทธิ หรือไม่ ?

จากนั้นวันที่ 4 ธันวาคม 2562 อัยการสำนักงานอัยการสูงสุดจึงสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมพยานอีก 2 ปากคือ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ซึ่งอ้างว่าเป็นคนขับรถยนต์ในที่เกิดเหตุ เห็นรถยนต์ของผู้ต้องหาใช้ความเร็วเพียง 50 - 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่านั้น

จากนั้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 นายเนตร นาคสุข อธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยทุกอย่างปิดเงียบกระทั่งประชาชนมาทราบเรื่องจากสำนักข่าวต่างประเทศและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เพราะเหตุใดทั้งสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงกลับคำสั่งเดิมที่เคยสั่งฟ้องแล้วกลับมาสั่งไม่ฟ้องในภายหลัง ทั้งสององค์กรเชื่อพยานฝ่ายผู้ต้องหามากกว่าภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดและสอบสวนทันทีหลังเกิดเหตุกระนั้นหรือ ?

ด้วยข้อเท็จจริงและด้วยความสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ข้างต้น จึงเรียนมาเพื่อขอให้อัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวชี้แจง เพื่อไขข้อสงสัยของประชาชน ก่อนที่ประชาชนจะหมดความศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมไปมากกว่านี้

ลงชื่อ อานนท์ นำภา

ในฐานะราษฎร

อ่านเพิ่มเติม