ไม่พบผลการค้นหา
คณะนักวิชาการทีดีอาร์ไอเสนอรัฐหาทางออก 5 ข้อ แก้ปัญหาผลกระทบโควิด-19 ระบาด หวังลดการสูญเสียชีวิตประชาชน ลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ หวั่นสะเทือนเป็นปัญหาสังคม อาชญากรรม

คณะนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกแถลงการณ์เรื่อง 'รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤติการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด' โดยมีข้อความระบุว่า คณะนักวิชาการทีดีอาร์ไอได้ติดตามปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาด้วยความเป็นห่วง  

พร้อมกันนี้มีความเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยอาจเข้าสู่ขั้นวิกฤติ เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไปอีก จนอาจจะเกินกว่าขีดที่ระบบสาธารณสุขของประเทศจะสามารถรองรับได้ ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายพันหรือมากกว่าในอีกไม่นาน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ 

ดังนั้น เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการเสียชีวิต และการเจ็บป่วยของประชาชน ตลอดจนลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประชาชนจากภาวะการว่างงานที่เกิดขึ้น จากทั้งการแพร่ระบาดของโรค และมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาความยากจนหรือปัญหาอาชญากรรมในวงกว้าง  

คณะนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้  

หนึ่ง รัฐบาลควรกำหนดเป้าหมายสูงสุดในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจัดสรรทรัพยากรให้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นกรอง ติดตามและคัดแยกผู้ติดเชื้อ ซึ่งกำลังกระจายตัวไปในวงกว้างทั่วประเทศ และการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ให้มียารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ ตลอดจนให้เบี้ยเลี้ยงพิเศษ และประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องห่วงฐานะการคลังและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะสุขภาพของประชาชนย่อมมีความสำคัญกว่า 

สอง รัฐบาลควรมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยและตกงาน อย่างไม่ตกหล่น และรวดเร็วพอที่จะสามารถแก้ความเดือนร้อนเฉพาะหน้าได้  

ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมจะขยายความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตน ในส่วนของการประกันการว่างงาน ให้ครอบคลุมถึงการเกิดโรคระบาด ทั้งกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานและกรณีภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ตรงจุดในการช่วยเหลือคนว่างงาน แต่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะมีแรงงานที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประกันการว่างงานในระบบประกันสังคม (ซึ่งรวมถึงผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 และแรงงานที่มีรายได้รายวันอาทิ คนขับแท็กซี่) ถึงร้อยละ 70 ของแรงงานทั้งหมด

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเพิ่มการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประกันการว่างงานในระบบประกันสังคม ตามขั้นตอนดังนี้ 

  • 1) ให้ประชาชนไทยทุกครอบครัว อยู่ในข่ายเบื้องต้นที่จะได้รับการเงินช่วยเหลือตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือน เช่น สมาชิกในครัวเรือน 1-2 คน ได้เงินช่วยเหลือ 1,500 บาทต่อเดือน, 3-4 คนได้ 2,500 บาทต่อเดือน จากนั้นให้เพิ่มอีกคนละ 500 บาทต่อสมาชิกแต่ละคนที่มากกว่า 4 คน ขั้นต้นเป็นเวลา 3 เดือน
  • 2) กระทรวงการคลังตรวจสอบทุกคนในแต่ละครัวเรือน โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล 26 ฐานที่ใช้ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อตัดครัวเรือนที่ไม่ควรได้รับความช่วยเหลือออกไป ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น เช่น ครัวเรือนที่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเองมูลค่าประเมินเกินกว่า 3 ล้านบาท มีเงินฝากรวมกันเกิน 100,000 บาท หรือมีเงินเดือนเฉลี่ยต่อคนเกินกว่า 15,000 บาท ซึ่งอาจจะทำให้เหลือครัวเรือนที่อยู่ในข่ายรับความช่วยเหลือประมาณ 6-7 ล้านครัวเรือน 
  • 3) ลดเงินช่วยเหลือตาม ข้อ 1) ลง ตามจำนวนสมาชิกของครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนการประกันการว่างงาน จากกองทุนประกันสังคมแล้ว 

โดยเหตุผลที่ไม่ได้เสนอให้ใช้ฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นหลักตั้งแต่แรก เนื่องจากฐานข้อมูลดังกล่าวยังต้องพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น ดังผลการศึกษาที่พบว่า มีผู้มีรายได้น้อยที่ตกหล่นจากฐานข้อมูลดังกล่าวถึงร้อยละ 64 หรือกว่า 4-5 ล้านคน 

อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือตามข้อเสนอนี้อาจทำให้มีผู้ได้รับความช่วยเหลือโดยไม่สมควรไปบ้าง แต่ความผิดพลาดดังกล่าวน่าจะมีต้นทุนทางสังคมต่ำกว่าการไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือ หากยึดตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ รัฐและสังคมควรสื่อสารให้ผู้ที่ไม่เดือดร้อนไม่ใช้สิทธิในการรับความช่วยเหลือดังกล่าวในช่วงวิกฤติเช่นนี้ 

สาม รัฐบาลควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันการเลิกจ้างงาน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดเล็กเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งจ้างแรงงานในกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก โดยอุดหนุนค่าเช่าสถานที่ และค่าจ้างแรงงานบางส่วน 

สี่ รัฐบาลควรยกเลิกมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ตรงจุด หรือซ้ำซ้อน เมื่อได้ให้ความช่วยเหลือตามข้อเสนอข้างต้นแล้ว อาทิ การลดค่าสาธารณูปโภคเช่น ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ทั้งผู้ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเดือดร้อนแบบหว่านแหในปัจจุบัน

ห้า รัฐบาลควรดำเนินมาตการในช่วงวิกฤติการณ์นี้โดยไม่ประมาท ไม่ตายใจ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในบางวันลดลง โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่บริหารราชการแผ่นดินเหมือนในสภาวะปรกติ เช่น ควรพร้อมประชุม ครม. แม้กระทั่งในวันหยุดหรือนอกเวลาราชการ และควรสื่อสารกับประชาชนอย่างครบถ้วน ชัดเจนและตรงไปตรงมา เพื่อฟื้นฟูความเชื่อถือจากประชาชน และทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :