ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม ครม. เห็นชอบปรับสิทธิรับเงินทดแทน 'ผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคม' กรณีว่างงาน ได้รับเงินทดแทนร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ตามจำนวนวันที่ไม่ได้ทำงานตามเหตุสุดวิสัย ไม่เกิน 90 วัน โดยต้องไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน พร้อมปรับลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตน ม.39 เหลือ 86 บาทต่อเดือน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... ดังนี้  

  • 1) ข้อ 3 วรรคหนึ่ง จาก "ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรองหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน" เป็น "ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน"
  • 2) ข้อ 3 วรรคสอง "ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 60 วัน" เป็น "ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน"

ด้านม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ ( 31 มี.ค.2563) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง ขอทบทวนมติเกี่ยวกับประกันสังคม โดยมีรายละเอียดว่า เพื่อบรรเทาภาระผู้ประกันตน ในการนำส่งเงินสมทบ จึงขอทบทวนขอลดอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บสำหรับผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเอง โดยไม่มีนายจ้าง ตามมาตรา 39 โดยลดจากอัตราสูงสุดที่เดือนละ 221 บาท เหลือในอัตราเดือนละ 86 บาท 

พร้อมกันนี้ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบให้เพิ่มอัตราและปรับระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีผู้ประกันตนที่ว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยบางรายได้รับเงินชดเชยในอัตราที่น้อยกว่า 5,000 บาท ต่อเดือน จึงขอทบทวนเพิ่มอัตราและปรับระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ได้รับสิทธิประโยชน์ในอัตราไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม แต่เดิมผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ประกันตนภาคสมัครใจ กรณีเคยส่งประกันสังคมตามมาตรา 33 และลาออกหรือถูกเลิกจ้างแล้วยังต้องการส่งเงินสมทบต่อเนื่องเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์) จะมีอัตราส่งเงินสมบทสูงสุดเดือนละ 432 บาท และตามมติ ครม. วันที่ 24 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติ ครม. เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบสูงสุดสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 432 บาท เป็น 221 บาท และมติ ครม. 31 มี.ค. 2563 ให้ลดลงอีก โดยมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 86 บาท 

ด้านสำนักงานประกันสังคม เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า ขณะนี้ มีมาตรการด้านประกันสังคม ที่ผ่านมา ครม. แล้ว ได้แก่

  • การลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และลูกจ้างมาตรา 33, 39 มีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 13,346,143 ราย
  • การขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 มีนายจ้างได้รับประโยชน์ 488,226 ราย และผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับประโยชน์ 1,653,714 ราย
  • การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ทั้งยังเพิ่มสิทธิไปถึง กรณีว่างงานเนื่องมาจากกรณีถูกเลิกจ้าง และลาออกเอง
  • การส่งเสริมให้มีการจ้างงาน โดยขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท
  • การดูแลรักษา ให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการ เพิ่มสิทธิการรักษาแก่ผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ โควิด-19 เท่าเทียมกับการรักษาทั้ง 3 กองทุน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :