เว็บไซต์เซาท์อีสต์เอเชียโกลบ สื่อที่มุ่งเน้นการรายงานข่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานผลการจัดอันดับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงป่าไม้ที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2018 ซึ่งรวบรวมข้อมูล ประเมินผล และเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา โดย True Luxury Travel บริษัทเอกชนที่ปรึกษาด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ผู้จัดทำเว็บไซต์ Luxury Travel Advisor
ผลสำรวจบ่งชี้ว่าไทยติดอยู่ในอันดับ 4 จากทั้งหมด 142 กลุ่มประเทศที่เป็นเป้าหมายในการสำรวจข้อมูลของ TLT โดยอาศัยดัชนีชี้วัด Global Wildlife Travel หรือ GWT ซึ่งมีเกณฑ์การประเมินผลที่อ้างอิงไปถึงจำนวนอุทยานแห่งชาติในแต่ละประเทศ การอนุรักษ์สัตว์ใหญ่ การส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์พิทักษ์สัตว์ป่า
ประเทศที่มีคะแนนดัชนี GWT สูงติดอันดับ 1-10 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวเนซุเอลา บราซิล 'ไทย' แทนซาเนีย โคลอมเบีย โครเอเชีย เม็กซิโก ออสเตรเลีย และแคนาดา โดยไทยเป็นประเทศเดียวจากทวีปเอเชียที่มีคะแนนติดอยู่ในโผ 10 ประเทศแรก
ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีคะแนนติดกลุ่ม 50 ประเทศแรกของดัชนี GWT ได้แก่ อินโดนีเซีย (อันดับที่ 24) มาเลเซีย (อันดับที่ 34) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 43)
เคที เคนเนิร์ด หัวหน้าคณะผู้จัดทำดัชนีการท่องเที่ยวเชิงป่าไม้ ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไทยมีคะแนนติดอันดับต้นๆ ของการวัดผล เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีอุทยานแห่งชาติมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รวม 138 แห่งทั่วประเทศ ทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์อนุรักษ์ทางธรรมชาติรวมกว่า 35 แห่ง ทั้งยังคาดว่าจะมีจำนวนอุทยานฯและพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก
ปัจจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่าไทยมีนโยบายที่จริงจังในการบริหารและดำเนินการในด้านนี้ ทั้งยังมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าและคุ้มครองสัตว์ป่าที่พยายามจัดทำให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์เซาท์อีสต์เอเชียโกลบรายงานด้วยว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเดินป่าที่ดีติดอันดับต้นๆ ของโลก และมีกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในด้านอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เช่น กรณีห้วยขาแข้ง แต่ก็ยังมีปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่า เช่น งาช้างและสัตว์ป่าคุ้มครองอื่นๆ เกิดขึ้นอยู่เช่นกัน
ที่ผ่านมา ไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ปลายทาง และจุดพักสินค้าของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและชิ้นส่วนสัตว์ป่า รวมถึงมีปัญหาการลักลอบล่าสัตว์หรือตัดไม้ในป่า รวมถึงในเขตอุทยาน
นอกจากนี้ เคนเนิร์ดยังเผยข้อกังวลอีกประการหนึ่งที่อาจส่งผลต่อกระบวนการอนุรักษ์และบริหารจัดการป่าของไทย ได้แก่ การรุกรานของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การทำเกษตรแปลงใหญ่ และการทำประมงขนาดใหญ่ ทั้งยังระบุด้วยว่าผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับป่าและการอนุรักษ์ป่ามีรายได้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาชีพต่างๆ จึงไม่ค่อยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: