ซึ่งตัวแถลงการณ์ถูกตีความไปว่าพรรคเพื่อไทย “สู้” งานนี้
ผ่านไปไม่กี่วัน “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ Tony Woodsome อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กชี้ถึงปัญหา มาตรา 112 อยู่ที่การบังคับใช้เป็นสำคัญ
ส่วนพรรคเพื่อไทยนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ย้ำถึงแนวทางของพรรคในการใช้สภาเป็น “ตัวกลาง” ในการแก้ปัญหา ให้กับผู้ที่ได้รับผลดระทบจากการบังคับใช้ มาตรา 112 และมาตรอื่นๆ สุดท้ายกลุ่มแคร์ประกาศชัดแก้ไข มาตรา 112 และ มาตรา 116
ในฟาก “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” เห็นพ้องไปในทางแก้ไข มาตรา 112 ส่วนพรรคซีกรัฐบาลเป็นเอกฉันท์ “ไม่แตะ มาตรา 112” นั่นคือไม่ยกเลิกและไม่แก้ไขนั่นเอง
ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวทั้งหมดอยู่ในสายตา พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.และผบ.ฉก.ทม.รอ.904 นายทหารคอแดง ที่ติดตามข่าวสารอยู่ตลอด และแสดงออกผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวที่เป็นแอคเค้าท์ที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในการแสดงออกด้วยการ “รีทวีต-กดไลค์” แทนการ “ทวีตข้อความ”
โดยข้อความที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ทวีตหรือกดไลค์เป็นทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 และต่อต้านการยกเลิก ม.112 โดยรีทวีตจากแอคเค้าท์ที่มีตัวคนชัดเจนและร่างนิรนาม แต่สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อน “ความคิด” ของ ผบ.ทบ. แทนคำพูด เพราะเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องการเมือง ขอให้สื่อไปสนใจภารกิจทางทหารมากกว่าการเมือง
อีกทั้ง ผบ.ทบ. ยังคงทำงานเงียบๆใน ทบ. และใช้ “ทีมโฆษก ทบ.” ในการสื่อสารแทน เฉพาะเรื่องทางทหารและที่เกี่ยวข้องกับ ทบ. งดการพูดถึงเรื่องการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นการสื่อสารรูปแบบ “One Way” เป็นหลัก
ล่าสุดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการกระทำของ “ทนายอานนท์ นำภา” , “ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก” และ “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล”และเครือข่าย ที่จัดชุมนุม ปราศรัย เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ที่ มธ. ศูนย์รังสิต หลังเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบัน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว
แม้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะมีภารกิจจำนวนมาก แต่ก็แสดงออกถึง “ความคิด-จุดยืน” ในพื้นที่ทวีตเตอร์ ผ่านการ “กดถูกใจ-รีทวีต” เช่นเดิม
ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ติดตาม ผบ.ทบ. หนีไม่พ้น “ทหาร” ด้วยกันเอง เท่ากับเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ไปยัง ทบ. โดยกลายๆด้วย แน่นอนว่าข้อความที่รีทวีตและถูกใจเป็นไปในทิศทาง “เห็นพ้อง” กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
แม้ว่า “ทหาร” จะยังคงอยู่ในที่ตั้ง ไม่ได้ออกมาเผชิญหน้ากับม็อบ เพราะเป็นหน้าที่ของ ตร. เป็นหลัก แต่คำวินิจฉัยศาลก็เป็นอีก “บรรทัดฐาน” ของการแสดงออกผู้ชุมนุมและการตีความในอนาคต โดยเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ชุดใหม่ นัดแรก พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ได้ “ขีดเส้น” ระหว่าง “ม็อบ-กองทัพ” ไว้ชัดเจน
“ถ้ามีกระบวนการไปกระทบเรื่องความมั่นคง และสุดท้ายปลายทางกระทบเอกราช อธิปไตย ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะดำเนินการ” พล.อ.เฉลิมพล กล่าว
“ถ้ายึดถือกันตามหน้าที่แล้วนั้น หน้าที่ทหารก็คือปราบปรามกบฏและจราจล ถ้ามีกบฏ ถ้ามีจลาจล เป็นหน้าที่ทหาร แต่ถ้ายังไม่ถึง ตร. ก็ดูแล และถ้าขอบเขตนั้นกว้างขวาง ไม่ถึงกบฏ ไม่ถึงจราจล ทหารอาจถูกขอให้ไปเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน” พล.อ.เฉลิมพล กล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.เฉลิมพล ยังให้สำนักสวัสดิการทหาร บก.กองทัพไทย แต่ง 3 บทเพลง “ขัติยราชแห่งชาติไทย - วีรกษัตริย์ชาตินักรบ - กองทัพไทย หัวใจเพื่อประชาชน” เพื่อเทิดทูนและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และบทเพลงที่แสดงถึงความรักของกองทัพไทย อยู่เคียงข้างประชาชน การเสียสละเลือดเนื้อ
แม้ว่า “ผบ.เหล่าทัพ” จะไม่ได้ออกมาด้วน “คำพูด” แต่ใช้วิธี “ทำให้ดู” แทน ในการย้ำถึง “จุดยืนกองทัพ” ที่ปกป้องสถาบัน ในอีกแง่หนึ่งก็เป็น “สัญญาณ” ที่สะท้อนภาพการเมืองในอนาคต หากสุดท้ายแล้ว “ขั้วเพื่อไทย-ก้าวไกล” ขึ้นเป็นรัฐบาล สถานการณ์อาจวนกลับไปเฉกเช่นในอดีต นั่นคือจบด้วยการ “รัฐประหาร” หรือไม่ ?
ดังนั้น “โจทย์เลือกตั้ง” ในอนาคต จึงไม่ต่างจากปี 2562 เท่าใดนัก แต่เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ผ่าน “เงื่อนไข” ที่แหลมคม ซึ่งโจทย์ดังกล่าวยังคงแบ่งการเมืองเป็น 2 ขั้ว โดยการประทับตราว่า “ปกป้อง” หรือ “ล้มล้าง” และเป็นอีกจุดชี้วัดในการ “ร่วมรัฐบาล” ด้วย โดยสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมเป็น “แรงหนุน” ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็น “ตัวเลือก” ที่ถูกเลือกด้วย
อย่างไรก็ตามฝ่ายความมั่นคงยังจับตา “ความเคลื่อนไหว” ของกลุ่มชุมนุมต่อไป โดยคาดว่าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นนั้น ประเด็นจะ “ล้อ” ไปกับ “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นทั้งบนถนนและในรัฐสภา “คู่ขนาน” กันไป หากดูจากถ้อยคำแถลงข่าวของ “พรรคก้าวไกล” นำโดย “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่เน้นปัญหาของคำวินิจฉัยในเรื่อง “ขอบเขตความชัดเจน” เช่น กลุ่มเครือข่ายที่ห้ามกระทำล้มล้างสถาบันว่าคือกลุ่มใดบ้าง และการกระทำที่ล้มล้างการปกครองเป็นรูปแบบใดบ้าง เป็นต้น
หลังปูทางจากกระแส “ปฏิรูป ≠ ล้มล้าง” รวมทั้งการ “เล่นคำ” กับคำว่า “ปฏิรูป” บนป้ายและเอกสารราชการ ด้วยคำว่า “ล้มล้าง” แทน เป็นต้น
ทำให้ “มาตรฐาน” ในการจัดการ “การชุมนุม” เปลี่ยนไปด้วย ถูกตีความกว้างขวางมากขึ้น และอาจถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” เพื่อหวังผลการเมืองได้ง่ายมากขึ้น อันจะนำมาสู่ “ระเบิดเวลา” ที่รอการปะทุขึ้นมา สถานการณ์การเมืองจะลุ่มๆดอนๆ ไร้เสถียรภาพต่อไป
มีแต่จะยิ่งแตกหัก !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง