ไม่พบผลการค้นหา
ศาล รธน.ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย มติเสียงข้างมากม็อบแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ใช้สิทธิ-เสรีภาพชุมนุมล้มล้างการปกครอง พร้อมมีมติเอกฉันท์สั่งให้เครือข่ายเลิกการกระทำล้มล้างปกครองในอนาคตด้วย โดยสั่งไม่รับคำร้องเพิ่มที่ขอให้ไต่สวนผู้ถูกร้อง ด้าน 'ทนาย-รุ้ง ปนัสยา' ใช้สิทธิแจ้งศาลไม่ขอรับฟังคำวินิจฉัยในห้องพิจารณาคดี ด้านตุลาการแจงให้สิทธิผู้ถูกร้องโต้แย้งผ่านหนังสือแล้ว ยันพิจารณาคดีเป็นธรรม

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถ.แจ้งวัฒนะ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ในคำร้องที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พริษฐ์ ชิวรักษ์ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ สิริพัชระ จึงธีรพานิช สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ในการชุมนุมปราศรัย (ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในหัวข้อ"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน") เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยมีคู่กรณีที่มารับฟังคำวินิจฉัย ณฐพร โตประยูร ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยกฤษฏางค์ นุตจรัส นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความของผู้ถูกร้องที่1-2 ตามลำดับ (อานนท์ นำภา ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก) และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 มาศาล 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งคู่กรณีก่อนเริ่มอ่านคำวินิจฉัย โดยขอให้ทุกคนอยู่ในความเรียบร้อยห้ามประพฤติตนก่อความไม่เรียบร้อย ยุยง ส่งเสริมยั่วยุการทำงานการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นอาจฝ่าฝืนการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 และข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562

จากนั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านรายงานการพิจารณา ว่ามีการประชุุมเมื่อเวลา 09.30 น.วันเดียวกันนี้และได้ปรึกษาหารือเพื่อลงมติโดยศาลมาประชุมครบทุกคน แถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือและลงมติ ศาลได้พิจารณาคำร้องของผู้รับมอบฉันทะของผู้ถูกร้อง 1.คำร้องขอให้แก้ไขคำสั่งที่ผิดพลาดให้ทำการไต่สวน ฉบับลงวันที่ 29 ต.ค. 2564 ศาลเห็นว่าเมื่อ 22 ก.ย. 2564 ศาลมีคำสั่งให้ยุติการไต่สวนเพราะพยานเพียงพอวินิจฉัยได้ และปรึกษาหารือและลงมติในวันที่ 10 พ.ย.นี้แล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง 

2.คำร้องขอให้นำตัวผู้ถููกร้องที่1 และผู้ถูกร้องที่ 2มาศาลฉบับลงวันที่ 25 ต.ค. 2564 ศาลได้ส่งหนังสือแจ้งผู้ถูกร้องที่1และ 2 และผู้รับมอบฉันทะของผู้ถูกร้องได้รับมอบหนังสือโดยชอบแล้วที่มีอำนาจดำเนินกระบวนคดีจนเสร็จความ โดยได้รับหนังสือโดยชอบแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว

ทนายอานนท์-ปนัสยา ขอไม่รับฟังคดีหลังศาลไม่เปิดให้ไต่สวนข้อเท็จจริง

จากนั้น กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของผู้ถูกร้องที่หนึ่งได้ทักท้วงว่า ผู้ถูกร้องเห็นว่ากรณีรายละเอียดตามคำร้องตามที่ไต่สวน อานนท์ แจ้งต่อตนว่าไม่มีโอกาสต่อสู้คดี ให้ตนมาฟังคำสั่งศาลวันนี้ ถ้ามีคำวินิจฉัยไม่ต้องไต่สวนคดีนี้สามารถวินิจฉัยไปได้เลย ในคำร้องขอให้ยุติไปก่อนแล้วรอการไต่สวนแล้วเบิกตัวอานนท์ มาชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาล อานนท์บอกว่ามีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องไม่เบิกตัวมาศาล อานนท์สั่งให้ตนเดินออกไป เพราะไม่ประสงค์จะมีตัวแทนอานนท์ให้อยู่ฟังคำวินิจฉัย ตนมีความจำเป็นในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งบอกมาแบบนี้ถ้าไม่ปฏิบัติตาม

วรวิทย์ระบุว่า ศาลใช้ระบบไต่สวน ได้แสวงหาข้อเท็จจริงหลายฝ่ายได้ ศาลจึงงดการไต่สวนและอันนี้เป็นคำสั่งตามกฎหมายบัญญัติ ส่วนจะไม่ฟังก็เป็นสิทธิผู้รับมอบฉันทะ

อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ที่ให้ศาลถอนออกไปเป็นการพูดด้วยวาจา แต่คำร้องไม่ได้ยืนยันมาเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผู้ถูกร้องจะยืนยันศาลจะบันทึกไว้ให้ เพราะจริงๆ ไม่ถูกต้องว่าต้องเป็นลายลักษณ์อักษร 

จากนั้น กฤษฎางค์ ระบุว่า "อานนท์สั่งว่าถ้าท่านไม่ไต่สวนก็ขอให้ผมออกจากนั่งห้องพิจารณา และเป็นอำนาจของศาลก็งดไต่สวนได้ ผมเข้าใจดี เพียงแต่มองต่างมุมว่าข้อกกล่าวหานี้ยิ่งใหญ่ และแสวงหาข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลด้วย ผมพา พยาน ส.ศิวรักษ์มาไต่สวนด้วย ไม่ใช่ประวิงคดีหรือประวิงเวลา เป็นเรื่องจริงที่อานนท์สั่งผมมา ขอให้ท่านกรุณาบันทึกไว้ด้วย เพราะว่าผมไม่รับผิดชอบต่อเขาว่าผมไม่ได้แถลงอย่างนี้"

จากนั้น ปนัสยา ในฐานะผู้ถูกร้อง กล่าวว่า การได้มาซึ่งความยุติธรรมอย่างน้อยควรรับฟังทุกอย่างเท่าที่รับฟังได้ ส.ศิวรักษ์ มารออยู่ถ้าศาลอนุญาต ถ้าศาลไม่อนุญาตให้ตนรับฟังคำวินิจฉัย และตนไม่ได้แถลงหาความจริงให้ศาลรับทราบ ตนก็ขอออกจากห้องพิจารณาคดี

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ย้ำว่า ผู้ถูกร้องของให้ผู้รับมอบฉันทะออกจากห้องพิจารณาคดี ดังนั้น ศาลก็จะบันทึกเพียงว่าผู้รับมอบฉันทะ ผู้ถูกร้องที่1 (อานนท์)มาอยู่ห้องพิจารณาแล้วออกไป กระบวนการการพิจารณาสามารถดำเนินได้โดยชอบ โดยย้ำว่าศาลได้ไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริง เอกสารทุกอย่าง ส่งให้ฝ่ายผู้ถูกร้องเรียบร้อยหมดแล้ว ผู้ถูกร้องมีหน้าที่โต้แย้งมาเป็นหนังสือ ได้รับทั้งหมดแล้ว ถือว่าให้ความเป็นธรรมให้ความยุติธรรมกับผู้ถูกร้องครบถ้วน ไม่ใช่การพิจารณาในระบบกล่าวหา แต่มันเป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวน โดยให้ฝ่ายผู้ถูกร้องทราบพยานหลักฐานทุกอย่าง ให้ผู้ถูกร้องโต้แย้งทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว ข้ออ้างก็เป็นข้ออ้างของผู้ถูกร้อง ศาลยืนยันใช้เวลาพิจารณาเป็นปี ดังนั้นรอบคอบ หาพยานหลักฐานการไต่สวนจากที่ต่างๆตลอด 

 ม็อบ ราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญ  A4CF0F1788A.jpegม็อบ ราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญ  รุ้ง ปนัสยา E-01D00047A57D.jpegรุ้ง ปนัสยา  ม็อบ ราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญ  สถาบัน 8F413BDC0D.jpeg


ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ม็อบ 44E7-80E5-C991B23C16DC.jpegตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ม็อบ รุ้ง ปนัสยา ราษฎร -4B48-8346-2ADABA65B287.jpeg

ศาล รธน.อ่านคำวินิจฉัยข้อเสนอม็อบปฏิรูปสถาบัน

จากนั้น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามรายนั้น ปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้ง หลายที่ติดต่อกัน เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามข้อเสนอ 10 ข้อ จากเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

ข้อเสนอข้อ 1 เรื่องการยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้นั้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ข้อเสนอข้อ 2 เรื่องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดําเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคนนั้น มิใช่ข้อเสนอที่ล้มล้างการปกครองฯ โดยสิ้นเชิง

ข้อเสนอข้อ 3 เรื่องการยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และ ให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจนนั้น

ข้อเสนอข้อ 4 เรื่องการปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อเสนอข้อ 5 เรื่องการยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจําเป็น

ข้อเสนอข้อ 6 เรื่องการยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกํากับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

ข้อเสนอข้อ 7 เรื่องการยกเลิกพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะนั้น สถาบันกษัตริย์ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมต้องเป็นกลางทางการเมือง 

ข้อเสนอข้อ 8 เรื่องการยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด 

ข้อเสนอข้อ 9 การสืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ข้อเสนอข้อ 10 เรื่องการห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

โดยศาลพิเคราะห์ว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตามพ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

มีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า คำร้องนั้นคลุมเครือไม่ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า มีการอ้างเอกสารต่างๆ และถอดคลิปเสียงประกอบท้ายคำร้อง คำร้องจึงมีความชัดเจนและเพียงพอให้ผู้ถูกร้องเข้าใจสภาพการกระทำที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาและสามารถโต้แย้งได้

ประเด็นวินิจฉัยมีว่า การกระทำ 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า 

◾ หลักการตามรัฐธรรมนูญได้วางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันมีคุณค่าสำคัญ ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในหมวด3 ทั้งนี้ เรื่องนี้บัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2475 และบัญญัติเรื่อยมาในทุกฉบับ นอกจากนี้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติโดยตรงในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่ไม่ได้ห้ามไว้ในกฎหมายอื่น บุคคลมีสิทธิเสรีภาพกระทำการได้ ได้รับความคุ้มครองตราบเท่าที่การใช้เสรีภาพนั้นไม่กระทบหรือก่ออันตรายต่อความมั่นคงรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมถึงไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น 

◾ เมื่อมีสิทธิเสรีภาพก็ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญมาตรา 50 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่กระทำการใดให้เกิดการแตกแยกและความเกลียดชังในสังคม

◾ มาตรา 49 วรรคหนึ่งระบุว่า บุคคลจะใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ และผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลิกการกระทำดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการตามร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ และการดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

◾ ดังนั้นมาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบและมีอำนาจสั่งการให้เลิกกระทำล้มล้างดังกล่าว เรื่องนี้บัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2475 และฉบับต่อๆ มา เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยฯ จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ทำให้คุณค่าตามรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบไม่ให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป โดยในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีในมาตรา 63 รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีในมาตรา 68 และรัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่มให้ชัดเจนขึ้นว่าสามารถร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นการรับรองสิทธิพลเมืองในการปกป้องรัฐธรรมนูญ 

ข้อเท็จจริงในคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจากหลายหน่วยงานระบุถึงผู้ถูกร้องที่ 1-3 จัดเวทีปราศรัยธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดยสรุปได้ดังนี้

ผู้ถูกร้องที่ 1 กล่าวถึงสถาบันสรุปความได้ว่า นอกจากข้อเสนอ 3 ข้อยังมีข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดคือ การแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบัน และขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ม็อบจาบจ้วง แต่เป็นม็อบพูดความริงเพื่อแก้ปัญหา โดยสถาบันต้องอยู่เหนือการเมือง อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการเมืองต้องถูกต้องตั้งคำถามดังๆ ในที่สาธารณะ อยากเห็นสถาบันปรับตัวเข้าหาประชาชน แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสถาบันพยามขยายอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อมีการรัฐประหารสถาบันต้องไม่เซ็นรับรอง 

ผู้ถูกร้องที่สอง กล่าวทำนองว่า นับจากคณะราษฎรปฏิวัติสยามเป็นประชาธิปไตย และให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันการใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับยังใช้ยาวนานจนปัจจุบัน เพราะมาตรา 6 กำหนดว่าผู้ใดไม่สามารถฟ้องร้องกษัตริย์ได้ จึงอยู่อำนาจเหนืออธิปไตยของเจ้าของประเทศ ใครแตะต้องจะโดนข้อหามาตรา 112

ผู้ถูกร้องที่สาม กล่าวทำนองว่า คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้น เมื่อสถาบันยังทรงอำนาจแทรกแซงการเมือง มีการถ่ายโอนทรัพย์สินแผ่นดินเป็นส่วนพระองค์ แก้รัฐธรรมนูญให้ไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ราษฎรพึงรู้ว่าสถาบันไม่ได้อยู่เหนือการเมืองแต่เป็นรากเหง้าของปัญหาการเมืองตลอดมา มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับกบฏทำรัฐประหาร จึงมีความจำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา

นอกจากนรัฐธรรมนูญหลายฉบับจะกำหนดลักษณะการห้ามใช้สิทธิเพื่อล้มล้างระบอบการปกครอง ยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลัก “การล้มล้างฯ” ว่าหมายถึงภัยร้ายแรงต่อระบอบที่สุดวิสัยจะแก้ไขให้กลับคืนได้ มีเจตนาให้สูญสลายโดยสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่อีกต่อไป การเรียกร้องแก้ไขสถานะของสถาบันอันเป็นสิ่งล่วงละเมิดมิได้ และการยกเลิการห้ามฟ้องสถาบัน จะส่งผลให้สถาบันไม่อยู่ในที่เคารพสักการะอันนำไปสู่ความปั่นป่วน เป็นการใช้เสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร นำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ม็อบ ในหลวง สถาบัน 112 6-42E007C9AE04.jpeg

ชี้ข้อเรียกร้องเลิก ม.6 ฟ้องร้องสถาบันเป็นการทำลายล้างสถาบันชัดแจ้ง

สถาบันกษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันมายาวนานและจะดำรงอยู่ไปในอนาคต แม้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรและปวงชนชาวไทยก็อัญเชิญให้กษัตริย์เป็นประมุข เพื่อดำรงชาติไทยไว้ ดังปรากฏใน ธรรมนูญปกครองแผ่นดินชั่วคราง 2475 มาตรา 1-3 รัฐธรรมนูญ 2475 อีกหลายมาตรา จึงเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของกษัตริย์มาโดยตลอด ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ สถาบันมีพระราชภารกิจสำคัญในการรักษาความอยู่รอดของประเทศ ปกป้องราชอาณาจักร ที่ผ่านมาสถาบันยึดถือทศพิธราชธรรมในการปกครองจึงเป็นที่เคารพศรัทธาเป็นเวลาหลายร้อยปี ในรัฐต่างๆ ก็มีกฎหมายห้ามทำให้สัญลักษณ์ของชาติมีมลทิน ข้อเรียกร้องยกเลิกมาตรา 6 จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันอย่างชัดแจ้ง เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

การโจมตีสถาบันในที่สาธารณะโดยอ้างรัฐธรรมนูญเป็นวิถีไม่ถูกต้อง เป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตาม ยิ่งกว่านั้น มีการดำเนินการอย่างเป็นขบวนการเพื่อบรรลุเป้าหมาย แม้การปราศรัยจะผ่านไปแล้ว ภายหลังก็ยังปรากฏว่าผู้ถูกร้องยังร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ กระทำการเช่นเดิม โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนผู้ปราศรัยหรือทำให้ไม่มีแกนนำ เป็นการทำต่อเนื่องโดยกลุ่มคนแนวคิดเดียวกัน มีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกัน มีเจตนาเดียวกัน ผู้ถูกร้องกระทำซ้ำและต่อเนื่อง มีลักษณะปลุกระดมและใช้ข้อมูลเท็จ ก่อให้เกิดความวุ่นวายและความเป็นรุนแรงในสังคม

◾ ระบอบประชาธิปไตยมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ เสรีภาพ ทุกคนมีสิทธิพูดคิดทำตามที่ไม่มีกฎหมายห้าม เสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน ภราดรภาพที่ทุกคนเกื้อกูลสามัคคีกัน การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสะท้อนความผูกพันของปวงชนชาวไทยกับสถาบันหลายร้อยปี สถาบันจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนให้ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญผ่านสามอำนาจ และจะขาดเสียมิได้ การกระทำใดๆ ที่เจตนาทำลายหรือทำให้สถาบันสิ้นสลายโดยการพูดการเขียนเพื่อให้เกิดผลบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรืออ่อนแอลง ย่อมแสดงเจตนาล้มล้างสถาบัน

◾ การใช้เสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การทำของทั้งสามอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงเสมอภาค ภราดรภาพ และใช้เสรีภาพแสดงความเห็น ไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น ละเมิดสิทธิบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อมูลที่บิดเบือน

อีกทั้งยังมีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ลักษณะดังกล่าวจะนำไปสุ่การล้มล้างในที่สุด ข้อเท็จจริยังปรากฏว่าการชุมนุมหลายครั้ง มีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ลบแถบสีน้ำเงินจากธงไตรรงค์ การยกเลิกมาตรา 6 การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาค ยกเลิกพระราชอำนาจแสดงความเห็น เป็นข้อเรียกร้องให้สถานะของสถาบันกษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา 

รุ้ง ปนัสยา  ม็อบ ราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญ  A-E63750A5639A.jpegม็อบ ราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญ  รุ้ง ปนัสยา E-01D00047A57D.jpeg


ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ม็อบ CA-93931A6C1E9D.jpegเพนกวิน พริษฐ์ ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ม็อบ 51732274B98.jpeg

ย้ำม็อบใช้สิทธิเสรีภาพซ่อนเร้นล้มล้างการปกครอง สั่งเครือข่ายเลิกการกระทำในอนาคต

การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 แสดงให้เหตุมูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิเสรีภาพมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเป็นการแสดงความเห็นโดยไม่สุจริต ละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้น แต่องค์กรเครือข่ายยังกระทำการดังกล่าว ย่อมไม่ไกลเกิดเหตุที่นำไปสู่การล้มล้างระบอบฯ รัฐธรรมนูญมาตรา 49 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวในอนาคตได้ จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งและให้ผู้ถูกร้อง 1-3 พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่1-3 รวมทั้งกลุ่ม องค์กร เครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

เสียงข้างมากชี้แกนนำใช้สิทธิเสรีภาพล้มการปกครอง มติเอกฉันท์สั่งเลิกกระทำในอนาคต

ต่อมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกเอกสารข่าวถึงคดีดังกล่าวในตอนท้ายของเอกสารข่าวได้ระบุถึงผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 (อานนท์ นำภา) ที่ 2 (ภาณุพงศ์ จาดนอก) และที่ 3 (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเอกฉันท์สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง

14349DAC-51D7-497F-91ED-1357487233DD.jpegAECEEB34-8EAA-4A1B-B874-E1B45D3258F0.jpegEF658C7C-A26F-4B33-99D2-92A27CE951F2.jpeg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง