ไม่พบผลการค้นหา
นพ.ทัศนัย จินดาวนิช แพทย์อิสระ ให้ความเห็นถึงมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเสนอให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้เคอร์ฟิว 4 ทุ่มไม่มีผลต่อการกักกันโรค พร้อมยก 3 สถานที่เสี่ยงแพร่ระบาดของโรค 3 ระดับ

“ประชาชนยังพึ่งพาตนเองกันเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การหาหน้ากากอนามัยใช้เองทั้งที่มีราคาแพง ส่วนการฉีดล้างถนน พ่นนอกบ้านในบ้าน ไม่มีประโยชน์ เสียเงินเปล่า เพราะเชื้อไม่ได้อยู่บนพื้น แต่อยู่ในตัวคน มาตรการที่ออกมาต่าง ๆ จึงสะท้อนว่าไม่ศึกษางานวิจัย แล้วใช้สัญชาตญาณในการแก้ปัญหา อีกทั้งไม่รับฟังและยังห้ามผู้อื่นแสดงความเห็น”

ถ้อยคำของ นพ.ทัศนัย จินดาวนิช จบแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ปัจจุบันเป็นแพทย์อิสระ ระหว่างลงพื้นที่ใจกลางเมืองเขตราชเทวี เพื่อร่วมรณรงค์ป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่การให้องค์ความรู้ และมอบอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ตลอดจนแอลกอฮอล์ล้างมือ ระบุถึงภาพรวมการบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการรับมือโรคระบาดที่จะอยู่กับสังคมไทยไปอีกยาวนานภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทัศนัย จินดาวนิช หมอ โควิด 333817.jpg
  • มองจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างไร

เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ตรวจหาเชื้อไม่น้อยกว่า 1.5 แสนคนต่อวัน การตรวจในประเทศไทยก็ถือว่ายังน้อย ซึ่งได้รับเสียงสะท้อนจากแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งว่า ประชาชนที่ต้องทำมาหากินจำนวนมากยังไม่กล้าไปตรวจ เนื่องจากเกรงว่าจะต้องถูกกักตัว 14 วัน ทันที ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการทำงาน ต่างจากคนรวยที่พร้อมจะตรวจเนื่องจากไม่มีข้อห่วงกังวล ภาครัฐจึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลความเข้าใจอย่างกว้างขวาง เช่น รูปแบบการตรวจแบบ RT-PCR ที่ไทยใช้อยู่ มีความแม่นยำอยู่ที่ร้อยละ 70 บางรายจึงต้องมีการตรวจซ้ำ อีกทั้งความแม่นยำยังต้องขึ้นกับแต่ละยี่ห้อ

มาตรการที่ต้องทำในตอนนี้ คือ มุ่งคัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยการตรวจหาให้มากที่สุด เนื่องจากโควิด-19 ไม่ได้แสดงออกด้วยการมีไข้ทุกคน ร้อยละ 70-80 พบว่า ไม่มีไข้ ซึ่งผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ก็สามารถแพร่เชื้อได้ โรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน จึงจำเป็นต้องเปิดให้ประชาชนได้รับการตรวจฟรี ควบคู่กับการ social distancing (มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม) แต่ผู้ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ ไม่มีไข้ ก็ยังสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้จากการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ การแพร่ของโควิด-19 ไม่ได้ติดจากคนป่วยเพียงอย่างเดียว คนป่วยมีโอกาสสุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อในโรงพยาบาล แต่ผู้ที่ยังไม่แสดงอาการนั้นมีโอกาสแพร่เชื้อในสังคมได้ตลอดเวลา 

ซึ่งสถิติการแพร่เชื้อจำนวนมากของประเทศจีนและสิงคโปร์ร้อยละ 70 เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าว ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยคงต้องยอมรับว่า เข้าสู่ระยะที่ 3 ที่เกิดการติดเชื้อภายในประเทศ (local transmission) แล้ว การเหวี่ยงแหตรวจหาเชื้อจึงเป็นทางเลือกเดียวที่ต้องทำให้ได้มากที่สุด รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเปิดเสรีให้ประชาชนเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ฟรี เพื่อค้นจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งเชื่อว่ายอดผู้ติดเชื้อจะสูงกว่าที่มีการรายงานอย่างแน่นอน โดยมาตรการปัจจุบันภาครัฐใช้การตรวจสอบจากการสอบสวนโรคเมื่อเจอผู้ติดเชื้อแล้ว จึงตามหาผู้สัมผัสใกล้ชิด จึงทำให้ยังมีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการเล็ดลอดออกไปจำนวนมาก

  • ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ควรทบทวนการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 อย่างไร เพื่อให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพสูงสุด 

เห็นด้วยในหลักการที่จะเปิดบริการบางส่วนให้กลับสู่สภาวะปกติ แต่จำเป็นต้องกำหนดระดับความเสี่ยงของแต่ละสถานที่เป็น 3 ระดับ น้อย ปานกลาง มาก โดยสถานที่ที่มีความเสี่ยงน้อย หรือปานกลางสามารถเปิดได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขในการกำกับดูแลกำหนด ส่วนสถานที่เสี่ยงมากยังไม่ควรเร่งรีบเปิด 

สถานที่เสี่ยงมาก คือ สถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก มีกิจกรรมที่ต้องอ้าปากพูดตลอด ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ะกระจายจากละอองน้ำลาย (droplet nuclei) เช่น สนามมวย สถานบันเทิง สนามกีฬาในร่ม หรือรถขนส่งมวลชน ที่มีคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากและอากาศไม่ถ่ายเท

สถานที่เสี่ยงปานกลาง อาจจะมีสถานที่คล้ายคลึงกันกับสถานที่เสี่ยงมาก แต่ยังพอมีอากาศถ่ายเทได้ก็ให้เปิดได้ โดยกำหนดมาตรการในการป้องกัน โดยให้ใส่หน้ากากอนามัย ควบคู่กันไป เช่น ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต สถานที่ทำงาน ที่มีคนหนาแน่น ก็กำหนดระยะห่างโต๊ะทำงาน กำชับให้ใส่หน้ากากอนามัย และจัดสถานที่ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก 

สถานที่เสี่ยงน้อย ได้แก่ สถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ร้านอาหารที่ขายริมถนน (street food) ที่มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก ก็สามารถจัดพื้นที่ให้มีระยะห่างกัน หรือจัดหาฉากกั้นป้องกันได้ หรือก็ดำเนินการขายเฉพาะกลับบ้านเหมือนที่ผ่านมา กำหนดการเปิดเป็นช่วงเวลา และเป็นกลุ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวกันมากเป็นระยะเวลานาน

ส่วนร้านตัดผมที่หลายฝ่ายเรียกร้องนั้นถือว่า มีความเสี่ยงมาก ยิ่งกว่าร้านอาหาร เพราะถือว่าอยู่ในระยะปะชิด ชนิดหายใจรดกัน ไม่สอดคล้องกับมาตรการ social distancing ต้องถอดหน้ากากอนามัย มิเช่นนั้นจะไม่สามารถตัดได้สะดวก และใช้เวลาในการอยู่ใกล้กันเป็นระยะเวลาครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง อีกทั้งบางย่านใจกลางเมืองยังเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ 

จึงคาดว่า ร้านตัดผมจะต้องเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการระบาดที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง ซึ่งตรงนี้จะเห็นได้ว่า ประชาชนที่ร่วมกันเว้นระยะทางสังคม นอกจากปรับตัวเรื่องการทำงานแล้ว ยังปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน มีการสั่งบัตตาเลี่ยน หรือกรรไกรมาใช้ตัดผมกันเอง เป็น new normal ก็น่าจะช่วยบรรเทาในส่วนนี้ได้   

ไม่จำเป็นต้องมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ควรใช้มาตรการทางกฎหมายหรือกลไกอื่น ๆ แทน เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมามีมากกว่า ควรพิจารณาบังคับใช้กฎหมายฉบับอื่นที่ไม่เกิดผลกระทบด้านอื่น ๆ การปิดกั้นการเดินทางหลัง 22.00 น. ไม่ได้มีประโยชน์ในการกักกันโรคแต่อย่างใด แต่อาจจะมีบ้างในการสร้างความมั่นคงให้ประชาชนไม่เจอกับการลักเล็กขโมยน้อย

  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก จนเป็นต้นตอให้เกิดการฆ่าตัวตายจำนวนมากเทียบเท่าจำนวนผู้ติดเชื้อในเดือน เม.ย.

ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศ จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ภายใน 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้เงินไปอยู่ในมือคนรวยไม่กี่ตระกูล ส่วนคนจนมีแต่หนี้ หากินได้เพียงรายวัน เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น คนจำนวนมากจึงมีสภาพอย่างที่รับรู้กัน ก็ไม่มีทางออกอื่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงต้องยกเลิก แต่ให้คงมาตรการทางการแพทย์ที่เข้มงวดเอาไว้อยู่ 

ซึ่งมันสะท้อนออกมาในการขอความช่วยเหลือจาก 20 ตระกูลใหญ่ ซึ่งความช่วยเหลือจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นการแก้ไขเชิงระบบ แต่การแก้ไขรายประเด็น การที่ประเทศมีกลุ่มคนรวยกระจุกเพียงไม่กี่ตระกูลก็คือความล้มเหลว ประเทศที่จะพัฒนาแล้วจะต้องมีชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก สถานการณ์ที่เป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดคำถามว่า ในอนาคตเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร 

ประยุทธ์ โควิด นายกฯ_200427_0005.jpgสื่อมวลชน-ทำเนียบรัฐบาล-แถลงข่าว-หน้ากาก
  • หาก ศบค. มีมาตรการผ่อนปรนแล้ว ประชาชนควรใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 หน้ากากอนามัยแบบผ้าครัวเรือนละ 1 ชิ้น เพียงพอหรือไม่

การช่วยเหลือด้วยการแจกหน้ากากผ้าครอบครัวละ 1 ชิ้น ไม่ใช่การเฝ้าระวังอย่างยั่งยืน ต้นทุนหน้ากากชนิดนี้ อย่างมากที่สุดน่าจะตกชิ้นละไม่เกิน 5 บาท วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด หากจะเริ่มเปิดเมืองกลับสู่สภาวะปกติ คือ การให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือชนิด N95 อย่างทั่วถึง ในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งการแจกครัวละ 1 ชิ้น ถือว่าห่วย ขนาดผมลงชุมชนรณรงค์ให้ความรู้กับชาวบ้านเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังแจก 2-10 ชิ้นต่อครัวเรือน รัฐบาลที่มีงบประมาณจำนวนมากออกพ.ร.ก.กู้เงินมหาศาลน่าจะดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

องค์ความรู้จากโควิด-19 ที่สำคัญคือ มันชอบทางเดินหายใจ ผ่านจมูกสู่ปอด ไม่ใช่ทางเดินอาหาร ดังนั้นการป้องกันโควิด-19 ที่ควรให้ความสำคัญคือ การใช้หน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูง เพื่อเพิ่มการป้องกันการรับเชื้อให้น้อยลง

มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นได้ออกแบบการวิจัย เรื่องการใช้หน้ากากอนามัยโดยแบ่งเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 บุคลากรทางแพทย์จำนวน 200 คน ใส่ชุด PPE ใส่หน้ากากอนามัย N95 ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กับกลุ่มที่ 2 บุคลากรทางแพทย์จำนวน 200 คน ไม่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือเหมือนกัน ในการดูแลวอร์ดผู้ป่วย OPD วอร์ดทั่วไป ผลปรากฎว่า กลุ่มที่ 1 ที่เผชิญกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง ไม่มีคนใดติดเชื้อโควิด-19 กลับกันกับกลุ่มที่ 2 มีผู้ติดเชื้อจำนวน 10 คน จาก 200 คน ซึ่งกรอบการวิจัยนี้ใช้กับโรงพยาบาลใน 3 พื้นที่ ได้บทสรุปเหมือนกัน จึงยืนได้ว่า N95 ป้องกันการรับเชื้อโควิด-19 ได้ดี

สำหรับหน้ากากอนามัย สีเขียวสีฟ้า ที่เรียกว่า surgical mask นั้น วัตถุประสงค์ในการใช้คือสำหรับการผ่าตัด เพื่อป้องกันของเหลว (fluid) ไม่ว่าจะเป็นเลือดหรือน้ำเหลือง ที่มีโอกาสพุ่งใส่หน้าในการผ่าตัด เหมือนอย่าง face shield ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอะไรใหญ่ ๆ เช่น น้ำสาดหน้า ส่วนหน้ากากผ้าที่ใช้กันนั้น ในทางปฏิบัติใช้ป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปสู่คนอื่น ส่วนหน้ากากที่มีตัวกรอง (respirator) ได้แก่จำพวกหน้ากาก N95 สามารถกรองเชื้อโรคได้ร้อยละ 95

สุดท้ายแล้วการสู้เชื้อโรคที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ภูมิคุ้มกัน (immunity) ในตัวเราที่จะสร้างเม็ดเลือดขาวขึ้นมาตรวจจับเชื้อโรค การป้องกันที่สำคัญที่สุดควบคู่ไปกับ social distancing คือการตรวจหาเชื้อในวงกว้าง ร่วมกับใช้อุปกรณ์ป้องกันชนิด N95

ทัศนัย จินดาวนิช หมอ โควิด 333815.jpg
  • หากมองภาระงานบุคลากรทางแพทย์ที่อาจต้องเจออาการ burnout (ภาวะหมดไฟ) จากการทำศึกหนัก การจะบรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขกว่า 4.5 หมื่นอัตราเป็นขวัญกำลังใจถือว่าเหมาะสมหรือไม่ มีการเชื่อมโยงว่าจะนำงบบัตรทองกว่า 2.4 พันล้านบาทมาใช้คุ้มค่าเพียงใด

การเพิ่มสวัสดิการจะเป็นแรงจูงใจได้จริงหรือไม่ ในทางการแพทย์บุคลากรที่เกี่ยวข้องจะทำงานในลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงระยะของโรคระบาดจะต้องทำงานหนักกว่าปกติ การผลักดันหรือการจัดสรรตำแหน่งก็เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนบุคลากรตามกระบวนการ การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษในการทำงานล่วงเวลาต้องทำตามขั้นตอน ซึ่งการผลักดันมาตรการดังกล่าวในตอนนี้ถือเป็นคนละเรื่องเดียวกัน การสร้างเงื่อนไขในการบรรจุข้าราชการในตอนนี้ จึงทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นประเด็นทางการเมือง สร้างคะแนนความนิยมใช่หรือไม่

เพราะขณะนี้สิ่งที่มีความจำเป็นมากที่สุด คือ อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE หรือจัดหาที่พักรับรองอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่แก่บุคลากรด่านหน้าให้มากที่สุด หรือหากจะผลักดันการบรรจุตำแหน่งเพิ่มเติมก็ควรนำงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น หรือไม่เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น งบประมาณสำหรับตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่งที่ไม่ได้มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม หรือวงเงินจัดซื้อยุทโธปกรณ์ แต่ไม่ควรเบียดบังงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนจน

ทัศนัย จินดาวนิช หมอ โควิด 33820.jpg
  • โควิด-19 จะจบเมื่อไร อย่างไร 

ต้องเกิดภูมิคุ้มกันชุมชน (herd immunity ภูมิคุ้มกันหมู่) หากเริ่มมีมากขึ้นในชุมชนใหญ่จึงจะเริ่มจบ เช่น 1 แพร่ 3 แล้ว 3 แพร่อีก 3 ก็จะเป็น 9 แล้วก็ฟุ้งกระจายไปเรื่อย ๆ แต่หากเมื่อไรที่มีคนมีภูมิต้านทานมาขวางก็จะทำให้การแพร่นั้นหยุดเป็นระยะ เกิดการ lock การแพร่ระบาดไปเรื่อย ๆ โดยจำนวนที่จะหยุดยั้งได้คือ ประชากรจำนวนร้อยละ 60 ต้องมีภูมิต้านทาน เช่น ประเทศไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน ก็จะต้องมีประชาชนที่มีภูมิต้านทานราว 40 ล้านคน จึงจะเริ่มป้องกันและชะลอการแพร่ระบาดลงอย่างรวดเร็ว

แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครยอมตายหากปล่อยให้เกิดการระบาดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันชุมชน ซึ่งข้อมูลปรากฎชัดแล้วว่า ไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ ก็มีโอกาสตายเท่า ๆ กัน ดังนั้นในหลายประเทศทั่วโลกจึงเร่งรัดการพัฒนาวัคซีน แต่ก็จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อนำมาใช้กับประชากรให้ได้ร้อยละ 50-60 เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดในวงกว้างและรุนแรงกลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป

การรับมือสามารถศึกษาได้จากประวัติศาสตร์การระบาดของ Spanish flu (ไข้หวัดสเปน) กว่าร้อยปีที่ผ่านมา สถานการณ์ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ต่างกัน การบริหารจัดการนั้นมีความสำคัญมาก ดูได้จากผู้ว่าการเมืองซานฟรานซิสโกในสมัยนั้น ที่ศึกษาและคาดการณ์ว่าไม่ว่าอย่างไรการระบาดจะต้องเกิดขึ้น จึงเริ่มบริหารจัดการระบบสาธารณสุขให้มีความพร้อมมากที่สุด สำรองเวชภัณฑ์อุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน และยา ที่จำเป็น คัดกรองและตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้นแยกโรงพยาบาล สร้างโรงพยาบาลสนาม ออกแบบเส้นทางลำเลียงอาหารกรณีวิกฤตผลปรากฎว่า ผู้ติดเชื้อน้อยมาก การรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมาจึงเป็นตัวฟ้องว่า มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการมากน้อยเพียงใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง