ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจระดับโลกชี้ว่า นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT หรือ กลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นตลาดที่ใหญ่มากและมีมูลค่าสูงถึง 6.64 ล้านล้านบาท มีกำลังซื้อสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึงร้อยละ 40 คนกลุ่มนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่มีจุดแข็งเมื่อเทียบเพื่อนบ้านคือ จุดหมายที่เป็นมิตรกับ LGBT

ในห้วงที่ไทยกำลังรอคลอดกฎหมายคู่ชีวิต ก้าวแรกอย่างเป็นทางการที่จะบ่งบอกถึงการยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อผ่าเนื้อในของร่างกฎหมายดังกล่าวออกมา อาจยังนำมาซึ่งความผิดหวัง เพราะสิทธิความเสมอภาคยังมาไม่ครบทั้งกระบวนการ อาทิ การรับรองบุตร ที่ไม่รวมอยู่ในร่างแรก

แม้ในเอเชียไทยจะไม่ได้ถือว่าเป็นชาติที่ล้าหลัง เพราะมีเพียงไต้หวันประเทศเดียวเท่านั้นที่ผ่านกฎหมายอนุญาตการแต่งงานในเพศเดียวกันได้ แต่เชื่อว่าหากกฎหมายดังกล่าวพร้อมเมื่อใด จะยิ่งเปิดโอกาสในด้านอื่นๆ ให้ไทยได้อย่างมหาศาล

โดยเฉพาะการรองรับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT (lesbian, gay, bisexual and transgender) ที่ไทยมีแต้มต่อจากการปูทางการทำตลาดนี้มานานกว่า 6 ปี และประกาศเป็นกลยุทธ์ที่รุกหนักและชัดเจนมากขึ้นใน 3 ปีหลังที่ผ่านมา

ท่องเที่ยว กระบี่ เกาะพีพี ทะเลไทย เรือ ยอร์ช

ในมุมมองของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ไทยได้รับการยกย่องว่าเป็น 'LGBT friendly destination' เป็นจุดหมายที่เป็นมิตรต่อคนเหล่านี้ ซึ่งเมื่อมองบริบทของเพื่อนบ้านที่เคร่งครัดในศาสนามุสลิม อาทิ อินโดนีเซีย หรือประเทศคู่แข่งด้านท่องเที่ยวของไทยอย่าง มาเลเซีย ที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ข้อห้ามทางศาสนาเป็นการปิดกั้นการยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไปในตัว

ดังนั้น เมื่อต้องการเดินทางมาเป็นคู่หรือกลุ่ม ตลาดนี้จึงมักเลือกจุดหมายที่เปิดโอกาสการแสดงออกอย่างอิสระเสรี ปลอดพ้นจากสายตากีดกั้นแบ่งแยก และไทยก็ได้รับเครื่องหมายถูกทุกข้อ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีกลุ่มต่อต้านที่สร้างความรุนแรงเหมือนที่อื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นจุดแข็งของไทย

เมื่อรวมกับสินค้าการท่องเที่ยวที่ภาคเอกชนเข้าใจตลาด มีการเตรียมพร้อมรับลูกค้ากลุ่มนี้ต่อเนื่อง ผนึกด้วยแนวทางการส่งเสริมที่ถูกบรรจุไว้ในแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหน่วยงานรัฐอย่างจริงจัง

ท่องเที่ยว-ทะเล-Solo Travel

ตัวช่วยท่องเที่ยวยุคเศรษฐกิจถดถอย

ในการส่งเสริมตลาดนี้ยังมีแง่มุมที่ละเอียดอ่อน และต้องตั้งหลักให้มั่น เพื่อทำให้กลุ่ม LGBT เชื่อมั่นว่าไทยเปิดกว้างอย่างแท้จริง

'ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์' รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในยามที่ไทยบอบช้ำสาหัสกับปัญหาค่าเงินบาทแข็ง และตลาดหลักทั้งจีนและยุโรปเผชิญภาวะถดถอยด้านกำลังซื้อจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ การกระจายความเสี่ยง และมุ่งเป้าไปที่เซกเมนต์การใช้จ่ายสูง จึงเป็นเครื่องมือที่ไทยต้องการมากที่สุด

ทำให้การเจาะตลาด LGBT กลายเป็นจิ๊กซอว์ตัวที่ถูกต้องที่สุดในเวลานี้ เนื่องจากแนวพฤติกรรมและการบริโภคที่อยู่ในระดับสูงไม่แพ้กลุ่มใช้จ่ายสูงอื่นๆ

จากการวิจัยของเอาท์ นาว คอนซัลติ้ง ร่วมกับ เวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต (WTM) มหกรรมการซื้อขายด้านท่องเที่ยวรายการใหญ่ของโลกที่ต้องจัดสรรพื้นที่เทรดโชว์ทุกปีให้กับตลาด LGBT โดยเฉพาะ ระบุ ผลสำรวจจากกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกด้านทัศนคติและการทำกลยุทธ์สำหรับตลาดนี้ พบว่าการใช้จ่ายรวมกันสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.64 ล้านล้านบาท)

มี 'สหรัฐอเมริกา' นำมาเป็นที่หนึ่งด้วยเม็ดเงิน 6.31 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ตามด้วยดินแดนแห่งแซมบ้า 'บราซิล' มาเป็นอันดับสองที่ 2.68 หมื่นล้านดอลลาร์ (8.16 แสนล้านบาท)

ศรีสุดา กล่าวว่า ในจำนวนประชากรบราซิลกว่า 209 ล้านคน คาดการณ์ว่ามีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และกลุ่มรักเพศเดียวกันอยู่ 30 ล้านคน และมีอย่างน้อย 6 ล้านคนเป็นตลาดเอาท์บาวด์ (เดินทางต่างประเทศ) หากไทยสามารถดึงคนกลุ่มนี้มาเที่ยวได้เพียงร้อยละ 1 ก็น่าพึงพอใจแล้ว เนื่องจากเป็นตลาดระยะไกล (Long haul) ที่ใช้ทั้งเวลาเดินทางนานและยากเข้าถึงในแต่ละครั้ง ทำให้แนวโน้มการพักเฉลี่ยและการใช้จ่ายเพื่อเติมเต็มวันพักผ่อนให้คุ้มค่า ยิ่งมีแนวโน้มที่สูงตามไปด้วย

ธรรมชาติของตลาดนี้คือชอบการผจญภัยในเชิงประสบการณ์ ไม่กลัวสิ่งแปลกใหม่ ดังนั้นระยะทางไกลจึงไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่ผู้ที่สนใจตลาดนี้ต้องชัดเจนในการวางเป้าหมาย และควานหาเซกเมนต์นี้ในแต่ละพื้นที่ให้เจอก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง ถือเป็นกลุ่มที่อาจช่วยต่อลมหายใจของผู้ประกอบการได้ดี ในยามเศรษฐกิจซบเซาที่ไม่เหลือตัวช่วยใดพึ่งพา

LGBT-งานไพร์ด-PRIDE-พาเหรด-หลากหลากทางเพศ

กฎหมายดันท่องเที่ยว LGBTขาขึ้น

แนวโน้มของตลาดนี้ ยังมีแต่จะเติบโตสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายที่เปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันแต่งงานได้นั้นเพิ่งจะครอบคลุมครบทุกรัฐ

ขณะที่ตัวเลขการวิจัยสำนักต่างๆ ที่ออกมาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของกลุ่ม LGBT อาจยังเป็นตัวเลขขั้นต่ำเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติยังไม่มีการจัดเก็บที่บ่งชี้ได้ชัด เช่น เมื่อมีการตรวจนับคนเข้าเมือง ไม่สามารถให้ระบุตัวตนในเรื่องเหล่านี้เพราะอาจก้าวล่วงความเป็นส่วนตัว บรรดาคู่รักและกลุ่มเพื่อนฝูงที่เดินทางเข้ามา จึงจัดเหมารวมอยู่กับนักท่องเที่ยวทั่วไป

การจัดงาน The LGBT+ Travel Symposium ประจำปีในกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะกับเอเยนต์ 80-90 รายที่มีลูกค้าในมือ พร้อมกับจัดเวทีติดอาวุธทางกลยุทธ์ให้มือใหม่และมือเก๋าอัพเดทแนวโน้มตลาดในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจจากเวทีนี้คือ การตกผลึกแนวคิดว่า แท้จริงการจะเข้าถึงใจกลุ่ม LGBT คือไม่จำเป็นต้องปั้นแต่งสินค้าใดขึ้นมาให้แตกต่าง เพราะสิ่งที่เซกเมนต์นี้ต้องการมากที่สุดคือการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมมากกว่า ดังนั้น เมื่อการท่องเที่ยววางแนวคิดหลักในการขายความเป็นไทย (Thainess) ให้กับตลาดอื่นอย่างไร ก็สามารถหยิบยกแก่นเรื่องนี้ไปจับตลาด LGBT ได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องปักธงสีรุ้งในทุกสิ่งทุกอย่างที่นำเสนอ แต่ให้คงเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว และไปตอกย้ำในทิศทางที่ให้ความมั่นใจว่า พวกเขาจะได้รับการต้อนรับที่ดีก็เพียงพอ

เนื้อหาหลักของการสื่อสารของ ททท.ที่ผ่านมา จึงมุ่งให้น้ำหนักในภาพกว้างว่าไทยยินดีต้อนรับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันและด้วยความจริงใจ แทนที่การประกาศตัวโจ่งแจ้งและเจาะจง ซึ่งอาจกลายเป็นข้อเสีย เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะไม่พอใจที่ได้รับการปฏิบัติผิดแปลกจากคนธรรมดา จนกลายเป็นความแปลกแยกในความรู้สึก

นอกจากนั้น แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะฝืดเคืองอย่างไร แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็จะยังเลือกการเดินทางเพื่อพักผ่อนเป็นหลัก เฉลี่ยการเดินทาง 8 ครั้งต่อปี และนิยมการเดินทางสบาย มีกำลังในการเลือกที่พักและกินดื่มหรูหราได้มากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปร้อยละ 30-40

เนื่องจากคู่รักส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตร หรือเรียกว่ากลุ่ม DINKs (Double Income, No Kids) จึงพอใจจับจ่ายเพื่อเข้าพักโรงแรมแบบ 5 ดาว หรือรีสอร์ทพูลวิลล่า พร้อมใช้บริการสปา หรือเลือกร้านอาหารที่ดี แต่ไม่ได้จำกัดแต่ร้านอาหารแพงเท่านั้น อาหารสตรีทฟู้ดก็ตอบโจทย์ได้หากมีคุณภาพและชื่อเสียงที่ดี เพราะพฤติกรรมที่กล้าลองอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน

ในแง่ของพื้นที่การตลาดที่น่าสนใจ นอกจากสหรัฐอเมริกาและบราซิลแล้ว ยังมีแคนาดา สเปน และอิสราเอล ที่น่าปักหมุดเอาไว้ โดยการเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ เป็นดัชนีชี้วัดถึงการเติบโตของตลาด LGBT ในพื้นที่นั้นๆ

ประเทศดังกล่าวยังเป็นเจ้าภาพจัดงาน Pride งานเฉลิมฉลองของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่แตกแขนงไปทั่วโลก ซึ่งแต่ละครั้งดึงดูดเม็ดเงินจากผู้เข้าร่วมได้นับแสนคน เช่น Toronto Pride ในแคนาดาซึ่ง ททท. เข้าไปร่วมสนับสนุน เพื่อยืนยันว่าเป็นมิตรพร้อมรับการเดินทางของกลุ่มนี้

ขณะเดียวกัน ยังมีโอกาสของตลาดใหม่ๆ ผุดขึ้นต่อเนื่อง อาทิ อินเดีย ที่ผลการสำรวจของ WTM พบว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงสุดร้อยละ 7.2 ซึ่งสัญญาณดังกล่าว เป็นแรงบวกมาจากการผ่อนปรนด้านกฏหมายในประเทศ คือ การยกเลิกกฎหมายที่ต่อต้านเกย์ และหันมายอมรับในฐานะเพศที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการรื้อทิ้งมรดกจากยุคอาณานิคมที่ยาวนานถึง 157 ปี

ในประเทศไทย ภาคเอกชนกลุ่มหนึ่งกำลังผลักดันให้มีการจัด Bangkok Pride ขึ้นเพื่อประกาศความพร้อมเปิดกว้างรับกลุ่ม LGBT ซึ่งประเด็นนี้ยังต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐว่าจะเห็นโอกาสหรือไม่ และแม้ว่าเครื่องมือขับเคลื่อนส่งเสริมตลาดจะดำเนินไปได้โดยแรงของภาคธุรกิจและรัฐ แม้ว่ากฎหมายที่ยืนยันสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ รักเพศเดียวกันยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ในวันหนึ่ง หากไทยเดินตามรอยประเทศอื่นๆ ได้ ก็จะเป็นคำมั่นที่ตอกย้ำเรื่องการตระหนักและเห็นค่าของความเท่าเทียมกันได้หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่

ข่าวที่ถูกต้อง :