ไม่พบผลการค้นหา
'โลว์คอสต์แอร์ไลน์' ช้ำหนัก ผู้โดยสารลด รายได้ลด ซ้ำปีนี้มีแววขาดทุนต่อเนื่อง 5 สายการบินตบเท้าร้องรัฐลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หลังแบกรับต้นทุนสูงขึ้น คาดอาจมีล้มหายตายจากเร็วๆ นี้

ท่ามกลางสภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังถดถอย และถูกซ้ำเติมด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เรียกได้ว่าผลกระทบโยงเป็นลูกโซ่ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการบินของไทย โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ ‘โลว์คอสต์แอร์ไลน์’ ที่ผลประกอบการปีนี้คงหนีไม่พ้นตัวเลขขาดทุนซ้ำหนักต่อเนื่องจากปี 2561 ตามหลัง ‘การบินไทย’ สายการบินแห่งชาติไปติดๆ จนหลายคนต้องออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ คงมีสายการบินต้นทุนต่ำสักสีที่ต้องอำลาวงการ จำต้อง ‘ล้มหายตายจาก’ หรือ ประกาศปลดพนักงานเป็นแน่แท้

5 สายการบิน ขอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

ล่าสุดสายการบินไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ ไทยเวียตเจ็ท และบางกอกแอร์เวยส์ ที่เป็นคู่แข่งกันมาแต่ไหนแต่ละไรในอุตสาหกรรมการบิน ต่างก็รุกขึ้นมาจูบปากร่วมลงนามข้อเรียกร้อง 1 ฉบับ ส่งตรงถึง 'อุตตม สาวนายน' รมว.คลัง เพื่อขอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง หลังปรับขึ้นภาษีดังกล่าวโดดเด้งเป็น 4.726 บาท/ลิตร ตั้งแต่ปี 2560 จากเดิมแค่ 20 สตางค์/ลิตร

ก.คลัง
  • ชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง)

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เด้งรับ หวั่นสายการบินล้มตาย

'ชาญกฤช เดชวิทักษ์' ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เป็นตัวแทนออกมารับมอบหนังสือทันที ได้แต่ยอมรับว่า เหตุที่ต้องเก็บภาษีแพงขึ้น เพราะในขณะนั้นประชาชนต่างนิยมชมชอบเดินทางโดยสารเครื่องบินมากขึ้น และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรรมทางด้านภาษี เนื่องจากน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ก็จ่ายภาษีสรรพสามิตเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยืนยันว่าภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นข้างต้น พร้อมเตรียมรับลูกนำข้อเสนอจากผู้ประกอบส่งถึง รมว.คลัง ทันที เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมการบินทรุดหนักไปมากกว่านี้

อีกทั้ง ยังยอมว่า ลึกๆ แล้วแอบหวั่นใจว่าสายการบินสัญชาติไทยทั้งหลายจะล้มหายตายจากไปเสียก่อน

อย่างไรก็ดี หาก รมว.คลังเห็นชอบก็จะมีการตั้งคณะกรรมการบรรเทาปัญหาผู้ประกอบการทันที โดยจะพิจารณาแนวทางตามที่สายการบินนำเสนอ คือ ขอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงก่อน หากธุรกิจดีขึ้นค่อยกลับมาปรับใหม่ หรือการกำหนดปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบขั้นบันใด เพื่อบริหารจัดการซื้อสต็อกน้ำมันที่ปรับเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่แปรผันไปตามแต่ละช่วงเวลา โดยยืนยันว่าจะรีบสรุปโดยเร็วที่สุด

ก.คลัง
  • ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอสายการบินไทยแอร์เอเชีย

เศรษฐกิจย่ำแย่ คนไม่มั่นใจใช้จ่าย ทำผู้โดยสารในประเทศลดแล้วร้อยละ 4-5

'ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์' ในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO สายการบินไทยแอร์เอเชีย ยอมรับว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2562 พบว่า นักท่องเที่ยวเดินทางน้อยลงอย่างมาก โดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศลดลงไปแล้วกว่าร้อยละ 4-5 หลังจากไม่มีความมั่นใจที่จะใช้จ่าย เหตุเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัว ทำให้คาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้อุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะ 'โลว์คอสแอร์ไลน์' ผลประกอบการทุกสายการบินคงขาดทุนต่อไปอีกปี

สนามบินดอนเมือง เดินทาง ผู้โดยสาร เช็คอิน สายการบิน

ชะลอรับมอบฝูงบินใหม่-หั่นความถี่เที่ยวบินลงร้อยละ 15

นอกจากนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชียที่มีแผนจะรับมอบเครื่องบินใหม่ในปี 2562 จำนวนทั้งสิน 5 ลำ ขณะนี้ก็รับไว้เพียง 4 ลำ ขณะที่ปี 2563 เดิมมีแผนที่จะรับเครื่องบินใหม่ 5 ลำ ก็ขอชะลอออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าขอรอดูตัวเลขในช่วงครึ่งปีแรกก่อนว่าจะฟื้นกลับมาได้หรือไม่

การบิน-air asia-แอร์เอเชีย

ขณะเดียวกัน ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียยังต้องประกาศลดเที่ยวบินลงถึงร้อยละ 15 จากเที่ยวบินทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินในเส้นทางหลัก ทั้ง เชียงใหม่ กระบี่ และภูเก็ต หลังอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่อลำหายไปอย่างน่าตกใจ

ส่วนประเด็นกระแสข่าวให้พนักงานหยุดงาน 3 เดือน เพื่อลดผลกระทบ 'ธรรศพลฐ์' ยืนยันว่า "ไม่มีไม่มี ทุกข่าวที่ออกมาล้วนปลอมทั้งสิ้น แม้จะอยู่ในภาวะขาดทุนก็ยังไม่มีแผนปรับลดพนักงานใดใดทั้งนั้น"

ผลประกอบการตายยกหมู่

ปัจจุบัน ตามรายการผลประกอบการ 4 สายการบินสัญชาติไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2562 พบว่า

  • บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีรายได้รวมอยู่ที่ 31,219.28 ล้านบาท  ขาดทุน 401.91  ล้านบาท
  • บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินนกแอร์ มีรายได้รวมอยู่ที่ 10,255.11 ล้านบาท ขาดทุน 979.42 ล้านบาท
  • บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ มีรายได้รวมอยู่ที่ 14,240.87 ล้านบาท ขาดทุน 189.58 ล้านบาท
  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมอยู่ที่ 94,550.05 ล้านบาท ขาดทุน 6,438.37 ล้านบาท

แม้ว่าขณะนี้จะเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว แต่ผู้บริหารหลายสายการบิน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า 'โลว์คอสแอร์ไลน์มาถึงช่วงที่ค่อนข้างวิกฤต' ต้องลดทุกรายจ่าย ปรับทุกการตลาด เพื่อให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปให้ได้

ท่ามกลางสมรภูมิที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จะมีผู้ได้ไปต่อ หรือ ต้องตัดสินใจหยุดพักให้ได้หายใจ หลังผ่านยุคเฟื่องฟูมาเมื่อ 2-3 ปีก่อน สุดท้าย 'โลว์คอสต์แอร์ไลน์' มาได้ไกลสุดเท่านี้จริงหรือ? ต้องติดตามกันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :