ไม่พบผลการค้นหา
จับตาการบินไทย พลิกกลับมาทำไรได้หรือไม่ หลังเร่งเดินหน้าแผนฟื้นฟูเต็มสูบ เน้นเพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย แต่ผลประกอบการ 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- มิ.ย.2562) ขาดทุนสุทธิพุ่งกว่า 6 พันล้านบาทไปแล้ว

คงเรียกว่าหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ณ เวลานี้จะขยับตัวอย่างไรก็เป็นที่สนใจของสังคมตลอด ยิ่งล่าสุดมีการเปิดเผยหนังสือภายในที่ลงนาม โดย 'สุวิมล บัวเลิศ' รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ประกาศเรื่องมาตรการลดรายจ่ายในการเดินทางเพื่อปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานเพื่อลดภาระหนี้สินและรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู เรียกได้ว่าคนภายในคงจะไม่รู้สึกยินดีปรีดามากนัก


การบินไทย-สุวรรณภูมิ

ประกาศหั่นเบี้ยเลี้ยงลงร้อยละ 50

โดยเฉพาะจำกัดจำนวนวัน และจำนวนพนักงานที่ต้องเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เหลือเท่าที่จำเป็น และให้งดหรือลดเบี้ยเลี้ยงเดินทาง (Travel Per Diem) เหลือร้อยละ 50 โดยขอให้กรรมการผู้จัดการหรือรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ควบคุมค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงให้งด หรือเลื่อนการส่งพนักงานไปอบรม สัมมนา เข้าร่วมประชุม หรือปฏิบัติงานในต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากไม่ได้เดินทางจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ

ให้วางแผนเตรียมการในการส่งพนักงานไปอบรม สัมมนา เข้าร่วมประชุมและปฏิบัติงานในต่างประเทศเป็นการล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำวีซ่ากรณีเร่งด่วน ซึ่งทำให้บริษัทเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินการมากกว่าปกติ

สำหรับพนักงานระดับผู้อำนวยการใหญ่ หรือ กรรมการผู้จัดการขึ้นไป ขอให้ไม่รับค่าใช้จ่ายเพิ่ม (Non-specified expenses) ในการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามที่ได้มีการระบุในระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยงานบริหารบุคคลตอนที่ 17 เรื่องการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 10.11

ประธานบอร์ดลาออก บอกไร้แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง?

ต้องยอมรับว่าหนึ่งในปัญหาที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยมาโดยตลอด คือ บริษัทฯ ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง แม้ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องส่งผู้แทนมาทำหน้าที่ในตำแหน่งบริหาร แต่อย่าลืมว่าหัวหอกใหญ่ หรือ ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นถูกจัดสรรปันส่วนมาจากฝ่ายการเมืองแทบทั้งสิ้น และหน่วยงานที่ดูแลการบินไทย หรือตัดสินใจนโยบายโดยตรงก็คือ กระทรวงคมนาคม


เอกนิติ-นิติทัณฑ์ประภาศ.jpg
  • เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร อดีตประธานบอร์ดการบินไทย

ล่าสุด 'เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ' อธิบดีกรมสรรพากร ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทฯ มีผลไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562  แม้เจ้าตัวจะยืนยันเสียงแข็งว่า เหตุผลที่ลาออก ไม่ได้ถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง แต่เป็นเพราะกระบวนการตามปกติที่กระทรวงการคลังมีผู้แทนนั่งบริหารในทุกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อาจจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียน หรือมอบหมายให้ไปดูแลที่อื่นต่อ

แต่สถานการณ์ของการบินไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็ทำให้น่าตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว คณะรัฐมนตรีมีหลายพรรคการเมืองเข้ามาดูแลกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงการคลัง เป็น 'คนละกลุ่ม' แม้จะเป็น 'พรรคร่วมรัฐบาล' ด้วยกัน แต่ก็มีสัญญาณมาตลอดหลังจัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์ยุค 2 ว่า เก้าอี้ประธานบอร์ดการบินไทย อาจต้องเปลี่ยนจากตัวแทนคนกระทรวงการคลังกลับไปที่คนจากกระทรวงคมนาคมเหมือนเดิม

6 ปี ภายใต้ 'กลุ่มฟื้นฟูกิจการ' ตามมติซุปเปอร์บอร์ด-คนร.

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2557 คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ 'ซูเปอร์บอร์ด' ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น เป็นประธาน ได้สั่งการให้ 7 รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาขาดทุนสะสมเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่ง 1 ในนั้น คือ การบินไทย แต่ก็ได้จัดทำ แก้ไข เสนอแผนอยู่หลายต่อหลายครั้ง มาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม


ถาวร เสนเนียม ประชาธิปัตย์
  • ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ขณะที่ 'ถาวร เสนเนียม' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในปัจจุบัน ก็ยอมรับว่ามีความกังวลถึงการดำเนินงานของการบินไทย ว่าจะไม่สามารถดำเนินแผนฟื้นฟูได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาบอร์ดบริหารชุดใหม่ทำงานมาสักพักแล้ว แต่ยังพบว่าไม่สามารถเพิ่มรายได้ หรือลดยอดขาดทุนลงได้

โดยเฉพาะในปี 2563 ที่มีแนวโน้มที่จะขาดทุนเกิน 10,000 ล้านบาท หลังผลดำเนินงาน 6 เดือนแรกปีนี้ พบว่าขาดทุนรวมกันไปแล้วมากกว่า 6,000 ล้านบาท จนต้องส่งสัญญาณสะกิดเบาๆ ให้บอร์ดชุดปัจจุบันประเมินตัวเองได้แล้ว

การบินไทย-ผลประกอบการ

ขาดทุนต่อไม่รอแล้วนะ

ปัจจุบัน ตามรายการผลประกอบการ ณ สิ้น มิ.ย. 2562 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บมจ. การบินไทยมีทรัพย์สินเท่ากับ 261,986 ล้านบาท มีหนี้สิน 245,133 ล้านบาท ขณะที่เป็นส่วนผู้ถือหุ้นเพียง 16,756 ล้านบาท

ขณะที่ สิ้นปี 2561 บริษัทมีผลขาดทุนสะสมอยู่ที่ 28,533 ล้านบาท ถือว่าเป็นสัดส่วนหนี้ค่อนข้างสูง หากกลับไปดูข้อมูลผลประกอบการย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 พบว่าขาดทุนเลขแดงพุ่งกว่า 13,066 ล้านบาท ส่วนปี 2560 ขาดทุน 2,107 และปี 2561 ขาดทุน 11,625 ล้านบาท มีเลขเขียวหรือกำไรแค่ปี 2559 อยู่ที่ 15.14 ล้านบาท ส่วนปีนี้ผ่านมาไป 2 ไตรมาส ขาดทุนแล้วกว่า 6,438 ล้านบาท


บอร์ดการบินไทย-สุเมธ ดำรงชัยธรรม
  • สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย

จนใครๆ ก็มองออกว่า ในปี 2562 นี้การที่บริษัทฯ จะกลับมาทำกำไรอาจจะเป็นเรื่องยากพอสมควร แม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว หรือการเปิดเส้นทางบินใหม่ ในเมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ที่การบินไทยมั่นใจว่าจะเป็นตลาดพรีเมี่ยม สามารถสร้างราคาได้ก่อนคู่แข่ง

ประกอบกับที่ 'สุเมธ ดำรงชัยธรรม' กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ยืนยันมาตลอดว่า ขณะนี้แผนฟื้นฟูกิจการใกล้จะเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว รวมถึงจะปรับแนวทางการทำตลาด โดยเน้นไปที่ตลาดเปิดใหม่

แต่เหมือนว่า ความพยายามที่มี ประกอบการคลื่นลมการเมือง และภาวะเศรษฐกิจโลก ยิ่งตอกย้ำและทำให้ 'ฝันของการบินไทย' ยังบินไกลกว่าที่ควรจะเป็น

ดูๆ แล้ว เหมือนว่าท้ายที่สุดสายการบินแห่งชาติที่รักคุณเท่าฟ้า คงจะได้เห็นโอกาสกลับมาทำกำไร อาจยิ่งไกลออกไปอีกครั้ง ก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :