ไม่พบผลการค้นหา
18 มกราคมเป็น ‘วันกองทัพไทย’ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดรายการ "ทอล์กธรรมนูญ" ใน Clubhouse เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกองทัพที่เกี่ยวพันกับการเมืองประชาธิปไตย

ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มองกองทัพอย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าเราไม่อาจสรุปเป็นก้อนเดียวเสมือนกองทัพไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยแบ่งเป็นหลายช่วง แต่ละช่วงกองทัพมีลักษณะต่างกันไป

1.กองทัพก้าวหน้า พิทักษ์รัฐธรรมนูญ  

แรกเริ่มกำเนิดรัฐสมัยใหม่ ในยุคร.5 ที่มีการปฏิรูปกระทรวงทบวงกรม ซึ่งนับเป็นเวลาราว 130 ปีแล้ว กองทัพสมัยใหม่ก็เพิ่งเกิดขึ้นและเป็นส่วนต่อขยายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้นำกองทัพยังเป็นลูกหลานของเจ้านาย แต่เมื่อกำลังพลไม่พอก็ต้องขยายการรับคน ส่งคนไปเรียนต่างประเทศ คนธรรมดาได้เข้าไปมากขึ้น

ในยุคที่สามัญชนเริ่มขยายตัวในกองทัพ กองทัพมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิม และกลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่มีความก้าวหน้า ตัวอย่างคือ กบฏหมอเหร็ง หรือ ร.ศ.130 ที่เกิดขึ้นในปี 2455 สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มสามัญชนที่เข้ามาในกองทัพแล้วคิดถึงความเปลี่ยนแปลง คิดไปถึง ‘รีพับลิก’ ด้วยซ้ำ แล้วความคิดนี้ต่อเนื่องกลายมาเป็นการปฏิวัติปี 2475 ดังนั้น การกำเนิดประชาธิปไตยในสยาม ส่วนหนึ่งก็มีกองทัพรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น กองทัพยุคคณะราษฎรมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้เลยที่คณะราษฎรจะรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ ถ้าไม่มีกองทัพอาจจะแพ้ต้องแต่กบฏบวรเดชที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปีเดียวไปแล้ว ดังนั้น งบประมาณของกองทัพก็ย่อมเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ จากการขึ้นมาของจอมพล ป. จากคณะราษฎรในฐานะคนมีศักยภาพที่สุดในการสู้กับระบอบเก่า ในช่วงนั้น กองทัพกับรัฐบาลคณะราษฎรยังเป็นส่วนเดียวกันแล้วสู้กับอำนาจเก่าในช่วง 15 ปีแรก ก่อนจบที่การรัฐประหารในปี 2490

2.ขุนศึก ‘หุ้นส่วนใหญ่’ ทางอำนาจ

รัฐประหาร 2490 คือ การร่วมมือกันระหว่างกองทัพที่เป็นฝ่ายถอยร่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 จับมือกับฝ่ายนิยมเจ้าโค่นล้มรัฐบาลปรีดี พยมยงค์ กองทัพกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายเจตนารมณ์ของการปฏิวัติ 2475 ตรงนี้กินระยะเวลายาวนาน จนเกิดรัฐประหาร 2500

ทศวรรษ 2500 กองทัพกลายเป็น ‘หุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจ’ ตามที่อาสา คำภา ได้ศึกษาและเขียนเป็นหนังสือไว้ อันนี้เป็นความคุ้นเคยของเราในปัจจุบัน กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร กองทัพเป็นส่วนที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างชัดเจน กองทัพอยู่ทุกภารกิจ รวมถึงการคอร์รัปชั่นด้วย สภาพนี้กินเวลายาวนานและอยู่ในความทรงจำร่วมของสังคมไทย

14 ตุลา 2516 การเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของกองทัพในการเมืองไทยเริ่มสั่นคลอน แล้วจบเฟสการเป็นขุนศึกในการเมืองไทยในเหตุการณ์พฤษภา 2535

ช่วงปี 2535-2549 กองทัพแทบไม่มีบทบาทอะไรทางการเมืองเลย คนแทบจำไม่ได้ว่า ผบ.ทบ.หลังอิสรพงษ์ หนุนภักดี ชื่ออะไรกันบ้าง การแต่งตั้ง ผบ.ทบ.แทบไม่เคยขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่ง บทบาทของกองทัพหายไปพร้อมๆ กับการขึ้นมามีบทบาทของนักการเมืองในสภา จำนวนทหารในรัฐวิสาหกิจก็หายไป จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549

3.ทหารพระราชา ทหารคอแดง

ปี 2549-2557 กองทัพไม่ได้เป็นหุ้นส่วนใหญ่ทางการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นตัวสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับสิ่งที่คนเหล่านี้เรียกตัวเองคือ ทหารพระราชา ทหารคอแดง และมีการสืบทอดอำนาจของทหาร

คนอาจถามว่า ยุคทหารพระราชามันใกล้เคียงกับทหารขุนศึกในทศวรรษ 2490 หรือเปล่า ต้องบอกว่าหลายอย่างของทหารในยุคคนี้การตัดสินใจด้วยตัวเองมีน้อยลง เพราะต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากสถาบัน

“ผมคิดว่า ณ ปัจจุบัน ทำหน้าที่สองอย่าง หนึ่ง เขาอ้างว่ามาเพื่อพิทักษ์สถาบันหลักของชาติ สอง พิทักษ์ผลประโยชน์ของกองทัพเอง พิทักษ์กระเป๋าตังค์ของกองทัพ และนับวันกองทัพยิ่งเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนมายิ่งขึ้น”

ธนาพลยังคงมองสภาพการณ์ปัจจุบันในแง่ดีอยู่บ้าง นั่นคือปรากฏการณ์ในการเลือกตั้ง 2562 หลายพรรคมีนโยบายเกี่ยวกับกองทัพ เช่น การปฏิรูปกองทัพ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเชื่อว่าหลังจากนี้ ในการเลือกตั้ง เรื่องทหารจะเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองและจะทำให้เป็นหัวข้อดีเบทในการเลือกตั้ง ประชาชนก็จะตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองในการตรวจสอบถ่วงดุลทหารที่กลับมามีอำนาจหลังรัฐประหาร 2549 มากขึ้น

พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลไกทางกฎหมายที่ทหารใช้เพื่อรักษาอำนาจของตัวเองมีมากกว่ารัฐธรรมนูญ แต่ถ้ากล่าวเฉพาะรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่ขยายขอบเขตอำนาจของกองทัพไปกว้างขวางและเป็นกรอบให้รัฐธรรมนูญต่อๆ มา คือ รัฐธรรมนูญ 2517 ฉบับสภาสนามม้า และยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ พ.ร.บ.สภากลาโหม (เริ่มใช้ปี 2490) กฎอัยการศึก (ใช้มาตั้งแต่ ร.5) แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“รัฐธรรมนูญถูกฉีกครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กฎหมายระดับรองเหล่านี้ยังมีผลบังคับใช้ แม้มีการปรับแก้ แต่ปรับแก้ทีไร อำนาจของทหารก็ยิ่งเพิ่ม”

พวงทอง มองว่า จุดมุ่งหมายของทหารเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วง ยุครัฐประหาร 2490 จอมพล ป.สามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกครั้งโดยการสนับสนุนของทหาร คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ และสฤษดิ์ ธนะรัตช์ รวมถึงเผ่า ศรียานนท์ เป็นการนำทหารเข้ามาในการเมืองแทนที่ทหารคณะราษฎร และหลังจากนี้เราจะไม่เห็นการรัฐประหารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกแล้ว

“ช่วง 2490 ทหารไทยยังไม่ได้มีอุดมการณ์ของตัวเองที่ชัดเจน การรัฐประหารเป็นเรื่องของผลประโยชน์ผู้นำกองทัพ การกระจายผลประโยชน์ของคนในกองทัพ การควบคุมความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ให้มาเพื่อการพัฒนา ทหารจะเข้าไปนั่งในรัฐวิสาหกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น”

“ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการก่อรูปอุดมการณ์กษัตริย์นิยมขึ้นเช่นกัน ซึ่งมาพร้อมๆ กับการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยที่เข้มข้นมากในรัฐบาลถนอม กลไกการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทหารเป็นตัวหลักในปฏิบัติการ และเป็นช่วงที่ทหารสามารถแผ่ขยายกลไกทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ของตัวเองออกไปได้ในนามของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปี 2508 มีการก่อตั้ง กอ.รมน.ขึ้นมา เน้นโครงการพัฒนา จัดตั้งมวลชนให้เป็นหูเป็นตา และมีโครงการพระราชดำริมากมายเกิดขึ้นด้วย แนวคิดกษัตริย์นักพัฒนา ทหารนักพัฒนาก็เกิดขึ้นในช่วงนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับทหารแนบแน่น ร.9ในช่วงเวลานี้ทรงเสด็จไปเยี่ยมทหารให้กำลังใจและทรงแต่งกายด้วขชุดทหารบ่อยมาก”

“เมือคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ โครงการเหล่านี้ไม่ได้ยุติ ยังดำเนินต่อเพื่อสู้กับภัยคุกคามอื่นๆ เช่น ความยากจน ความแตกแยกในชาติ ปัญหาประชาธิปไตยชาวบ้านยังซื้อสิทธิขายเสียง เป็นการควบคุมความมั่นคงภายในของชาติ”

พวงทอง ขยายความอีกว่า เมื่อมาถึงยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขยายบทบาทหารไปอย่างกว้างขวาง มีการให้ทหารทำโครงการใหญ่ๆ เช่น อีสานเขียว หรือการแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน คนที่รับผิดชอบคือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ยุคนี้จะเห็นการเชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยมมากขึ้น เห็นการโปรโมทสถาบันกษัตริย์มากขึ้น 'ทหารพระราชา' ถูกยกขึ้นมาในช่วงเวลานี้อย่างชัดเจน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุดมการณ์กษัตริย์นิยมก็คือ วาทกรรมรังเกียจนักการเมือง พลเอกเปรมไม่ถึงขั้นรังเกียจระบอบประชาธิปไตย แต่เขารังเกียจนักการเมือง ดังนั้น เขาเลือกนักการเมืองเข้ามาร่วมรัฐบาล แต่ตำแหน่งสำคัญๆ จะใช้เทคโนแครตบริหารจัดการ

พวงทองกล่าวว่า หลังพฤษภา 2535 ทหารไม่มีบทบาทางการเมืองโดยตรง แต่กลไกอื่นๆ ไม่ได้ถูกจัดการ โครงการการพัฒนาจำนวนมากขยายตัวออกไป กิจกรรมโปรโมทอุดมการณ์กษัตริย์นิยม การจัดการปัญหายาเสพติด ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลยังคงใช้กองทัพในกิจกรรมเหล่านี้

“รัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ก็เป็นผู้เริ่มต้นให้ทหารเข้ามาในปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด เพราะมองว่า วิธีที่จะเอาใจทหาร อย่าตัดงบประมาณมากเลย ตัดนิดหน่อย แล้วให้ทหารไปทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งทหารก็ชอบ ทำให้เขายังบอกประชาชนได้ว่าทหารยังมีประโยชน์ ช่วงนี้เองที่เราจะเห็นการโปรโมทในลักษณ์ hyper royalism เกิดขึ้นเรื่อยๆ และโดยเฉพาะในช่วงที่ขัดแย้งกับนักการเมืองอย่างคุณทักษิณมาก การโปรโมท hyper royalism ยิ่งมีมากขึ้น ทัศนคติของทหาต่อระบอบประชาธิปไตยก็ยิ่งแย่ลง พอรัฐประหาร 2557 ชัดเจนว่าเขารังเกียจระบอบนี้และต้องคุมมันให้ได้ จะไม่มีการทดลองระบอบเสียงส่วนใหญ่อีกแล้ว ในความหมายที่ว่า ปล่อยฟรีแฮนด์ จนมีรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วมันก็ไม่เป็นอย่างที่เขาต้องการ โดยเฉพาะเมื่อมีนักการเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างล้มหลามขึ้นมา นำไปสู่การดีไซน์รัฐธรมนูญ 2560 ที่พยายามควบคุมทุกอย่าง” พวงทองกล่าว

เมื่อถามว่าหากประชาชนได้มีโอกาสยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะต้องจำกัดบทบาทกองทัพอย่างไร พวงทองให้ความเห็นว่า นอกจากต้องจำกัดอำนาจในเชิงโครงสร้าง จำกัดบทบาทหน้าที่และให้รัฐบาลพลเรือนคุมได้แล้ว ยังต้องยกเลิก กอ.รมน.และโครงการต่างๆ ที่กองทัพทำอยู่ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่กองทัพ

ขณะที่ธนาพล ระบุว่า อย่างแรกสุด ถ้ามองในมิติประวัติศาสตร์ ต้องทำให้ทหารเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ รัฐบาลพลเรือนต้องควบคุมกองทัพ ผบ.ทบ.ก็เหมือนอธิบดีกรมต่างๆ อย่างที่สอง ปัจจุบันเป็นเฟสของ ‘ทหารของพระราชา’ ข้ออ้างอันหนึ่งในการรัฐประหารคือ อ้างภัยคุกคามต่อสถาบัน การกำหนดเรื่องพระมหากษัตริย์ในฐานะจอมทัพไทยซึ่งเพิ่งมีในรัฐธรรมนูญฉบับที่สองยิ่งจะส่งเสริมข้ออ้างของกองทัพ จึงควรจะกลับไปที่รัฐธรรมนูญฉบับที่แรกที่พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในฐานะประมุขของรัฐ เพื่อไม่ให้กองทัพมีข้ออ้างในการที่จะเข้ามาแทรกแซงการเมือง