ไม่พบผลการค้นหา
​การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ (ระลอกสอง) ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ก่อนขยายวงบานปลายแตะ 40 จังหวัดทั่วประเทศไทย ช่วงปลายปี 2563 ก่อให้เกิดเสียวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกำหนดมาตรการรับมือของรัฐบาลที่ไม่ขึงขังจริงจังเหมือนตอนล้อมคอกกักกันโรคเมื่อต้นถึงกลางปี 2563 เพราะหนนี้กลับมีลักษณะไม่ปิดแต่ก็ไม่เปิด ทั้งที่ปริมาณผู้ติดเชื้อพุ่งสูงจนน่าใจหาย

'วอยซ์' จึงชวนพูดคุยกับ วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมง จ.สมุทรสาคร เกี่ยวกับการบริหารจัดการของภาครัฐต่อความคาดหวังและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแหล่งอุตสาหกรรมที่ขณะนี้อยู่ในโซนพื้นที่สีแดง โดยมีเสียงสะท้อน ดังนี้ 

แรงงานเมียนมาแค่แพะรับบาป - ต้นตอโควิดระลอกใหม่มาจากไหน ?

อดีต ส.ว. บอกกว่าขณะนี้ยังไม่มีใครชี้ได้ถึงสาเหตุ ต้นตอของการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากแม่ค้ากุ้ง ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ และต่างจังหวัด จึงตั้งข้อสังเกตว่า เกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร นำเข้ามาเป็นระยะเวลานานแค่ไหน และนอกจากกรณีของแม่ค้ากุ้ง ได้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ไปสู่คนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้หรือไม่ 

“จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น เราตั้งต้นสาเหตุว่ามาจากกรณีของแม่ค้ากุ้ง โดยที่เราไม่ได้คิดว่า กรณีของแม่ค้ากุ้ง อาจเป็นเพียงสาเหตุกลางทางก็ได้ เพราะไม่ใช่ ต้นทางแน่นอน” 

แม้ว่า เราจะโยนความผิดว่ามาจากแรงงานที่เป็นแรงงานเถื่อน ลักลอบเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายในระลอกหลัง ซึ่งมาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก จ.เชียงราย จ.กาญจนบุรี จ.ระนอง ซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ต้นเหตุที่แท้จริงมาจากที่ใด และกว่าจะมาถึง จ.สมุทรสาคร ต้องผ่านการเดินทางจากรถทัวร์ หรือ รถตู้ ผ่านจุดพักรถที่ใด ผู้ร่วมเดินทางในรถโดยสารเป็นใคร มีจำนวนเท่าไร ซึ่งคำถามเหล่านี้ ยังไม่ได้มีการสืบสาวราวเรื่องอย่างจริงจัง 

ซึ่งจากการสอบถามกลุ่มเพื่อนที่เป็นหมอ ระบุว่า กว่าที่แม่ค้ากุ้งจะแสดงอาการว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างน้อย ประมาณ 7 วัน แล้วก่อนหน้านี้อีก 7 วัน ได้เกิดารแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ไปให้ใครบ้าง ก็ยังไม่มีใครรู้

ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร โควิด -D861-49BF-913C-08C7615E2C07.jpeg

ภาครัฐกั๊กยอดผู้ติดเชื้อ แนะทบทวนมาตรการล็อกดาวน์ใหม่ 

การให้ตัวเลขของภาครัฐ ไม่มีความโปร่งใส เนื่องจาก ขณะนี้ คนส่วนใหญ่มุ่งไปที่ จ.สมุทรสาคร ดังนั้นควรจะจัด category แยกออกเป็นอีกกลุ่มหนึ่งเลย คือ อย่านำไปรวมจากกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มที่เป็นคนไทย หรือ ไม่ใช่คนไทย โดยรายงานข่าวสาร และ ตัวเลขของจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นช่วงเวลา เช่น ช่วงเช้า 10.00 น. และ ช่วงค่ำ 21.00 น. เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ตัวเลขมีความถูกต้อง และให้ประชาชนในประเทศรับรู้ข่าวสาร สอดคล้องกันว่า วันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย เป็นอย่างไร เนื่องจากขณะนี้ คนในประเทศ ให้ความสนใจการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกรณีของ จ.สมุทรสาคร มากกว่ากรณีของคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางอากาศ ซึ่งมองว่า 

1) รัฐบาล ไม่ต้องการแยกจำนวนผู้ติดเชื้อในกรณีนี้ให้ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องการควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้ประชาชนมีความตื่นตระหนก

2) การให้ข้อมูล ระบุว่า จะมีการกั๊กตัวเลข ปิดบังตัวเลขที่แท้จริงไว้ประมาณ 3,000 คน แล้วอ้างว่า อยู่ระหว่างรอผลตรวจ ซึ่งตามจริงแล้ว เราจะรู้ผลตรวจทุก ๆ 6 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเราตรวจเสร็จ 21.00 น. เราสามารถรายงานข่าว 21.30 น. ได้หรือไม่ หรือ ตรวจเสร็จ 09.00 น. เราสามารถให้ข่าว 09.30 น. ได้หรือไม่ 

วิชาญ ระบุว่า รัฐจะต้องโปร่งใสกับประชาชน ตัวเลขที่รัฐรายงานนั้นได้แยก จ.สมุทรสาคร ออกไปเนื่องจาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อ จ.สมุทรสาคร มีจำนวนสูง และบางตัวเลข ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นคนไทยสูงกว่าคนเมียนมา ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจาก ได้ทำการตรวจคนเมียนมามากกว่าคนไทย โดยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐ ได้ปิดบังตัวเลขที่แท้จริงของคนไทยไว้ จนเกิดความไม่มั่นใจต่อการรายงานจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจากภาครัฐ และกระทบต่อความมั่นใจของคนส่วนใหญ่ในการออกมาจับจ่ายซื้อขายของประชาชนใน จ.สมุทรสาคร 

อีกทั้งยังควรพิจารณามาตรการล็อกดาวน์ในกรณี จ.สมุทรสาครใหม่ เนื่องจากล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร แต่อนุญาตให้คนใน จ.สมุทรสาคร เดินทางได้ ก็อาจจะเกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้เช่นกัน 

มหาชัย สมุทรสาคร โควิด -B594-F44C4708B3F5.jpeg

เสียหาย 1.5 หมื่นล้านต่อเดือน จี้ฟังเสียงภาคเอกชน เปิด – ปิดเยียวยา 

ในแง่เศรษฐกิจ ควรจะต้องดูว่า ธุรกิจพื้นที่ อะไร เปิดได้ หรือ เปิดไม่ได้ และเปิดได้แค่ไหน ควรจะจัดการในภาพรวมให้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ เช่น วันที่ 17 ธ.ค. 2563 เป็นการรายงานวันแรก เทียบกับวันถัดไปว่า เพิ่มขึ้น-ลดลง อย่างไร และแยกช่องระหว่างคนไทย กับ คนเมียนมาในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งจะทำให้ประชาชนเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ซึ่งชาวบ้าน ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าจะเปิด หรือ ไม่ อย่างไร 

“เนื่องจากปัญหาดังกล่าว กระทบต่อทั้งภาครัฐและเอกชน และมีความสามารถในการบริหารจัดการไม่ต่างกัน ทำไมถึงไม่ร่วมกันระดมความคิดเห็นและตัดสินใจร่วมกันจากตัวแทนในสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมต่าง ๆ ไม่ใช่การรับฟังเฉพาะความเห็นของภาครัฐเท่านั้น จึงควรนำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย เนื่องจากผลของการตัดสินใจได้เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชน จึงขอฝากไปยังภาครัฐ ให้คิดใหม่ ทำใหม่ เราต้องทำความเข้าใจและอธิบายพูดคุยกัน มีการประเมินตัวเลขมูลค่าการค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร โดยสภาหอการค้าฯ ระบุว่า ประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อเดือน”  

ไร้มาตรการเยียวยา เสียความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมอาหารทะเล ส่อกระทบระยะยาว 

ส่วนมาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ยังไม่เห็นชัดเจน มีแค่การพิจารณาเปิด-ปิด ธุรกิจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในระดับต่างๆ รวมถึง การเข้าไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงงานที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งก็มีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย เช่น รัฐบาล มีงบประมาณการตรวจหาเชื้อให้แค่ 2 หมื่นคน แต่มีแรงงานกว่า 4 แสนคน จะต้องทำอย่างไร? แม้รัฐได้เปลี่ยนมาใช้วิธีตรวจหาเชื้อแบบ Rapid Test ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายลดลง และสามารถตรวจหาเชื้อได้เพิ่มขึ้น แต่มีความกังวลว่าผลตรวจที่ได้จะมีความแม่นยำได้มากน้อยเพียงใด และเห็นว่าควรแยกกลุ่มตรวจหาเชื้อระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างรอรับการตรวจ

ในภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งไม่น่ามีผลกระทบ เช่น กรณีของจีน ที่มีอาหารแช่แข็งที่อ้างว่า ติดเชื้อมาจากนอร์เวย์ ซึ่งเกิดจากคนติดเชื้อไปประกอบอาหาร แต่กรณีนี้ เกิดเป็นข่าวขึ้นมาแล้ว เงียบไป ไม่ได้เกิดการแพร่เชื้อสู่คนแบบซูเปอร์สเปรดเดอร์ ยังไม่มีรายงานว่าเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อรูปแบบใหม่ที่รุนแรง 

กรณีของไทยก็คงเป็นไปได้น้อยมาก แต่จะมีผลกระทบด้านจิตวิทยามากกว่า เช่น การไม่อยากซื้ออาหารทะเล จนลามไปยังการเพาะเลี้ยงกุ้ง ปลาน้ำจืด กระทบอุตสาหกรรมประมง เช่น บางจังหวัดห้ามออกเรือ ซึ่งจริงๆ แล้วบนเรือคุมเชื้อง่ายกว่า แต่อาจจะติดกันเอง เพราะใช้ระยะเวลายาวนานในการออกทะเลแต่ละครั้ง ซึ่งจะกระทบเป็นลูกโซ่บนฝั่ง หากว่าเรือไม่สามารถออกไปทำประมงได้ จะกระทบต่อโรงงาน เนื่องจากไม่มีอาหารทะเลเพื่อจำหน่ายเป็นต้น ซึ่งผลกระทบจากส่วนนี้จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง