ไม่พบผลการค้นหา
บทสัมภาษณ์ 17 นาทีของผู้สร้าง เป็นเหมือนการตบหน้าหรือการทำลายความเข้าใจ/ความชื่นชอบที่ผู้ชมมีต่อหนังเรื่องนี้มาตลอดหลายปี ในคอลัมน์ สำส่อนทางคาวมบันเทิง โดยคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

เดือนเมษายน 2561 ถือเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างสำหรับแฟนๆ ของสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ผู้ผลิตแอนิเมชั่นชื่อดังจากญี่ปุ่น โดยอย่างแรกนับเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง เมื่ออิซาโอะ ทาคาฮาตะ เสียชีวิตลงด้วยวัย 82 ปีจากโรคมะเร็งปอด

ทาคาฮาตะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งจิบลิร่วมกับฮายาโอะ มิยาซากิ พูดกันตามตรงแล้วชื่อเสียงของทาคาฮาตะอาจจะไม่โด่งดังเท่ามิยาซากิ สาเหตุอาจมีสองประการด้วยกัน หนึ่ง-ผลงานของทาคาฮาตะมักมีเนื้อหาที่ซีเรียสจริงจังกว่า ไม่ว่าจะ Grave of the Fireflies (1988) หรือ ‘สุสานหิ่งห้อย’ อันเล่าถึงการเอาชีวิตรอดของพี่ชายและน้องสาวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, Pom Poko (1994) เรื่องราวของเหล่าทานุกิที่ถูกรุกรานพื้นที่จากมนุษย์ หรือผลงานเรื่องสุดท้าย The Tale of the Princess Kaguya (2013) ว่าด้วยความทุกข์ของเจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่

อีกสาเหตุคือ ทาคาฮาตะมักทิ้งช่วงห่างยาวนานระหว่างผลงานแต่ละเรื่อง ชนิดที่เจ้าตัวเองยอมรับว่าถูกมิยาซากิและทางสตูดิโอตำหนิอยู่บ่อยครั้ง แม้จะเริ่มสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่ช่วงปลายยุค 80 แต่ทาคาฮาตะมีผลงานแอนิเมชั่นเรื่องยาวเพียง 5 เรื่องเท่านั้น ในขณะที่มิยาซากิมีหนังถึง 10 เรื่องและจะมีเรื่องใหม่ออกฉายในปี 2020 

ส่วนเหตุการณ์สำคัญที่สองประจำเดือนเมษายนคือ วาระครบรอบ 30 ปีของหนังเรื่อง ‘สุสานหิ่งห้อย’ ในวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา (นับจากวันที่ภาพยนตร์ออกฉายครั้งแรกที่ญี่ปุ่น) ซึ่งในวันนั้นก็มีข่าวไวรัลเรื่องการค้นพบความลับในโปสเตอร์หนัง กล่าวคือถ้าเร่งสีโปสเตอร์ให้สว่างขึ้น เราจะพบว่าเงาสีดำบนท้องฟ้าคือเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ดังนั้นแสงไฟที่สองพี่น้องกำลังเล่นด้วยอย่างร่าเริงจึงไม่ใช่หิ่งห้อยแต่เป็นลูกระเบิด (อย่างไรก็ดี มีคนเถียงว่าไม่เห็นจะเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นตรงไหน เงาเครื่องบินในโปสเตอร์มันชัดจะตาย พวกเว็บต่างๆ มาโฟโต้ช็อปสีให้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นไปซะงั้น)


สุสานหิ่งห้อย

(ที่มา: http://netgeek.biz/archives/116731 )


‘สุสานหิ่งห้อย’ ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกมากมาย อย่างเช่นบทสัมภาษณ์ความยาว 17 นาทีที่แถมมากับดีวีดีหนัง ทาคาฮาตะเล่าให้ฟังว่าเป็นเรื่องประหลาดมากที่ Grave of the Fireflies อันแสนหดหู่ดันเข้าฉายพร้อมกับ My Neighbor Totoro (1988) แอนิเมชั่นน่ารักมุ้งมิ้งเรื่องดังของมิยาซากิ โดยฉายแบบสองเรื่องควบกันไปเลย ผลคือหากโรงหนังฉายเรื่อง My Neighbor Totoro ก่อนแล้วค่อยตามด้วย Grave of the Fireflies ผู้ชมบางส่วนเมื่อชมเรื่องแรกจบก็เดินออกไปเลย เพราะได้ยินกิตติศัพท์ความเศร้าของเรื่องหลังมาหนาหู

ทาคาฮาตะยังเล่าถึงกระบวนการพากย์เสียงอันพิสดารของหนัง ในยุคนั้นมักวาดแอนิเมชั่นจนเสร็จแล้วเปิดให้นักแสดงพากย์เสียงตามภาพที่ปรากฏ แต่เนื่องจาก อายาโนะ ชิราอิชิ ผู้ให้เสียงตัวละครน้องสาวอายุเพียงห้าขวบ การฉายแอนิเมชั่นที่มีภาพโหดร้ายให้เด็กน้อยจึงเป็นไปไม่ได้ ทาคาฮาตะเลยต้องใช้วิธีให้ชิราอิชิพากย์เสียงไว้ก่อน จากนั้นทีมงานค่อยวาดภาพตามบทพูดของเธอ


อิซาโอะ ทาคาฮาตะ


หลายครั้งที่ ‘สุสานหิ่งห้อย’ มักได้รับปฏิกิริยาจากผู้ชมในทำนองว่าดูแล้วร้องไห้จนตาบวม เศร้าจนพูดไม่ออก หรือรู้สึกสงสารสองพี่น้องจับใจ หลายสำนักเวลาจัดอันดับหนังที่เศร้าที่สุดในโลกก็จะต้องมี ‘สุสานหิ่งห้อย’ ติดโผเสมอ แต่เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่งที่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับทาคาฮาตาตะต้องการ! โดยเขากล่าวว่า

“ผู้ชมหลายคนในญี่ปุ่นรู้สึกเห็นอกเห็นใจเซตะ (พระเอก) ซึ่งผมค่อนข้างแปลกใจมาก ตอนที่ทำหนัง ผมมองเขาในฐานะเด็กสมัยนี้ เขาเก็บสะสมเงินและคิดว่าจัดการมันได้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกในยุคนั้น ดังนั้นเซตะจึงไม่เชื่อฟังป้า เขาคิดว่าสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเธอ”

ทาคาฮาตะยังพูดถึงตัวละครเอกในแง่ลบต่อว่า

“เขายังเป็นคนอารมณ์ร้อนและขาดความมานะ เด็กสมัยนี้คิดว่าพวกเขาจะซื้ออะไรก็ได้ถ้ามีเงินพอ เซตะก็เช่นกัน เขาคิดว่าเงินซื้อและแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงเวลานั้นเงินไม่ได้ช่วยอะไรนัก ผมได้รู้จากประสบการณ์ของตัวเองในช่วงสงคราม มีคนมากมายที่รอดชีวิตมาได้ด้วยการพยายาม แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่า (ในหนังเรื่องนี้)”

“แต่เซตะไม่มีความอดทนเพียงพอ เขาคิดว่าเขาสามารถมีชีวิตแบบนั้นต่อไปได้ ผมหวังให้ผู้ชมญี่ปุ่นมองเห็นประเด็นนี้แม้พวกเขาจะเห็นใจเซตะก็ตาม การใช้ชีวิตแบบเขานำไปสู่ความตายได้ แต่คนดูญี่ปุ่นไม่สังเกตถึงเรื่องนี้เลย พวกเขาเอาแต่สงสารเซตะ ถ้ามีการวิพากษ์วิจารณ์นิสัยของเซตะผมก็จะไม่แปลกใจเลย ผมหวังจะได้ยินมันด้วยซ้ำ ผมไม่เข้าใจฟีดแบ็คที่เกิดขึ้นเอาเสียเลย”


บทสัมภาษณ์นี้ของทาคาฮาตะทำให้หลายคนช็อคไปตามๆ กัน ไม่เพียงเฉพาะคนญี่ปุ่นหรอก แต่น่าจะผู้ชมทั้งโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่ก็ล้วน ‘สงสาร’ เซตะและฟูมฟายไปกับชะตากรรมของเขา (บางคนถึงขั้นอัดคลิปตัวเองร้องไห้หลังดูหนังเรื่องนี้จบลงยูทูบ) มันเป็นเหมือนการตบหน้าหรือการทำลายความเข้าใจ/ความชื่นชอบที่พวกเขามีต่อหนังเรื่องนี้มาตลอดหลายปี บ้างก็ถึงขั้นตราหน้าว่าทาคาฮาตะเป็นผู้กำกับใจร้ายเลยทีเดียว


สุสานหิ่งห้อย

แต่อีกฝั่งก็ออกมาเถียงว่าพวกเอ็งดึงสติหน่อย อย่ามัว Romanticize หนังให้มากนักเลย ลองคิดดูดีๆ สิว่าที่น้องสาวต้องตายนี่ไม่ใช่เพราะความโหดร้ายของสงครามหรอกนะ แต่เพราะความหัวรั้นของเซตะต่างหาก ถ้าเซตะยอมพาน้องกลับไปอยู่กับป้าพวกเขาอาจจะรอดแล้ว หรือบางคนก็บอกว่าทาคาฮาตะเป็นเด็กที่ผ่านยุคสงครามมา สิ่งที่เขาต้องการบอกคงเป็นเรื่องที่ว่าในช่วงสงครามคุณจะรอดได้เมื่อมีความอดทนและพยายามที่เพียงพอ

การถกเถียงไม่จบสิ้นลงง่ายๆ เมื่อมีการโต้กลับว่าคนดูจะเศร้าก็ไม่แปลกหรอก เพราะหนังเร้าอารมณ์ทั้งด้วยภาพและเพลงประกอบแสนเศร้า คนเราเมื่อ ‘อิน’ กับหนังก็จะยิ่งใช้ ‘อารมณ์’ มากกว่า ‘สติปัญญา’ หรือตัวละครเซตะมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น ทาคาฮาตะคาดหวังให้เขามีวุฒิภาวะมากเกินไปหรือเปล่า

คำถามที่น่าคิดก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกได้ว่าผู้ชม ‘เข้าใจผิด’ ต่อหนังเรื่อง ‘สุสานหิ่งห้อย’ หรือเปล่า แต่หากเชื่อว่าเมื่อหนังออกฉายแล้ว หนังควรเป็นของคนดู ผู้ชมจะคิด-รู้สึก-ตีความอย่างไรเป็นเรื่องปัจเจก นี่ก็คงไม่เรียกว่าการเข้าใจผิด แต่ถือเป็นการ ‘เข้าใจไม่ตรงกัน’ กับผู้กำกับมากกว่า

เพียงแต่ว่ามันเป็นความเข้าใจไม่ตรงกันที่เกิดขึ้นมายาวนาน 30 ปี และยังคงอยู่แม้แต่ในวันที่เจ้าของผลงานจากโลกใบนี้ไปแล้ว  


สุสานหิ่งห้อย