ไม่พบผลการค้นหา
'เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ' เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ 3 ก.ย. นี้ หลัง สตง.อ้างมติ ครม. ปี 2555 ชี้แจงกรณีผลขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้ออกมาชี้แจงกรณีผลขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นั้น โดยผู้ว่า สตง. กล่าวอ้างมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2555 ว่า ครม. อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อดำเนินการปิดบัญชีโครงการดังกล่าว หลังจากครบกำหนดไถ่ถอน หรือสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และให้มีการปิดบัญชีเป็นปีๆ ไป โดยให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2555 เป็นการปิดบัญชีฯ เฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 เท่านั้น ซึ่งต่อมาก็มีคำสั่ง คสช. ที่ 176/2557 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2557 ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาจัดทำบัญชีปริมาณข้าวคงเหลือของรัฐ ทั้งปริมาณการรับ ปริมาณการจ่าย โดยแยกตามชนิดข้าว และคำสั่ง กบข. ที่ 2/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาของรัฐบาล ลงวันที่ 9 ส.ค. 2557 และผู้ว่า สตง. เคยเบิกความไว้ต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2559 โดยระบุถึงคำสั่ง กบข. ที่ 2/2557 ไว้ด้วย 

นายเรืองไกร ระบุว่า กรณีนี้เห็นชัดว่า หลังจากตนออกมาถามเรื่องขาดทุนจำนำข้าว ก็มีหลายหน่วยงานออกมาโต้แย้งโดยอ้างข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือขัดแย้งกันเอง เช่น กรมบัญชีกลาง บอกว่ารัฐบาลมิได้ลงบัญชีเป็นรายโครงการ ซึ่งขัดกับคำเบิกความของนางสาว น. ซึ่งเป็นคณะทำงานปิดบัญชี ที่เบิกความไว้ว่า หลักการคิดผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว จัดทำข้อมูลแยกเป็นรายโครงการ

นอกจากนี้ ในคำเบิกความของนางสาว น. ต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2559 ยังมีข้อสังเกตที่ชวนสงสัยว่า ทำไมผลขาดทุนของเปลือกนาปี ปี 55/56 ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 จึงน้อยกว่าผลขาดทุน ณ วันที่ 22 พ.ค. 2557 (คำเบิกความหน้า 10 -11) และปริมาณสต็อกข้าวคงเหลือจึงมีมูลค่าลดลงมากผิดปกติจาก ณ วันที่ 22 พ.ค. 2557 จำนวน 19.22 ล้านตัน มูลค่า 494,608.15 ล้านบาท เหลือเพียง ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 จำนวน 17.56 ล้านตัน มูลค่า 197,349.98 ล้านบาท (คำเบิกความหน้า 12) ทำให้เกิดข้อสังเกตที่ชวนสงสัยว่า ทำไม เวลาแค่ 4 เดือนเศษ หรือประมาณ 130 วัน สต็อกข้าวที่ลดลง 1.66 ล้านตัน แต่มูลค่ากลับลดลงถึง 297,258.17 ล้านบาท  

นายเรืองไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายหน่วยงานของรัฐที่ออกมาให้ข่าวในเชิงโต้แย้งตน โดยยังอ้างอิงผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวที่มาจากการปิดบัญชีของคณะทำงานที่มี นางสาว น. เป็นผู้จัดทำขึ้น นั้น ทำให้น่าเชื่อว่า หลายหน่วยงานของรัฐดังกล่าวคงไม่ได้พิจารณารายละเอียดในคำเบิกความของนาวสาว น. ที่ระบุไว้ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกไม่มีการจัดทำบัญชี (คำเบิกความหน้า 7)  

"การที่หน่วยงานของรัฐนำผลขาดทุนจากการปิดบัญชีของนางสาว น. มาใช้อ้างอิง จึงยังไม่น่าจะถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ ตนจึงจำเป็นต้องงัดหลักฐานมาโชว์และนำข้อสังเกตที่ชวนสงสัยดังกล่าวไปชี้ให้นายกฯ ประยุทธ์ ให้เห็นกับตา เพื่อจะได้ทราบว่า ผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวนั้น ไม่ได้มาจากการจัดทำบัญชีแต่อย่างใด และ สตง. ก็ยังไม่เคยตรวจสอบรับรอง" นายเรืองไกร กล่าว 

ดังนั้น การออกคำสั่งของกระทรวงการคลังก่อนหน้านี้ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบด้วย ซึ่งคำสั่งดังกล่าวได้อ้างผลขาดทุนเพื่อเรียกชดใช้ค่าเสียหายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงน่าจะมาจากข้อมูลที่ยังไม่ได้ข้อยุติ 

ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ตนจะนำหลักฐานต่าง ๆ ไปโชว์ให้พลเอกประยุทธ์ เห็นชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง โดยจะไปยื่นหนังสือร้องด้วยตนเองที่ศูนย์รับเรื่องทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. สำหรับข้อมูลทางด้าน ธ.ก.ส. และกรมการค้าต่างประเทศ จะนำหลักฐานมาแฉในโอกาสต่อไป

อ่านเพิ่มเติม