ไม่พบผลการค้นหา
ครม.มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการภาษีจูงใจแบงก์พาณิชย์ควบรวมกิจการ หนุนแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 แบงก์ชาติ ติดปีกแบงก์ไทยใหญ่ระดับภูมิภาค แม้รัฐอาจสูญรายได้ 600-1,400 ล้านบาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีทั้งในส่วนของภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ในไทยมีการควบรวมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น สามารถแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศได้ 

สำหรับมาตรการจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกิจการนั้น เป็นการสนับสนุนในด้านภาษีทั้งในส่วนของภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ โดยมาตรการจูงใจดังกล่าว สืบเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 (2559-2563) มีนโยบายหลักด้านหนึ่ง คือ สนับสนุนการเชื่อมต่อการลงทุนในภูมิภาคเพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของไทย เพื่อให้สนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนและการเชื่อมโยงของประเทศในภูมิภาค โดยมีมาตรการเพื่อสร้างความพร้อมและลดอุปสรรคของสถาบันการเงินไทยในการขยายกิจการไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อเทียบธนาคารพาณิชย์ไทยกับประเทศในอาเซียนแล้วพบว่า ธนาคารในประเทศไทยยังต้องพัฒนาทั้งในเชิงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ด้านของขนาดพบว่า ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของไทยมีสินทรัพย์ขนาดประมาณ 3 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับมาเลเซียมีขนาด 4 ล้านล้านบาท จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์มีการควบรวมเพื่อให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น

ขณะที่ ประเทศไทยมีสถาบันการเงิน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่มีสินทรัพย์เกิน 1.5 ล้านล้านบาท นอกนั้นมีสินทรัพย์ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

อนุมัติ 2 มาตรการหนุนแบงก์ควบรวม

ส่วนมาตรการภาษีที่ได้รับการอนุมัติครั้งนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

หนึ่ง: มาตรการเพื่อขจัดอุปสรรคของการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยประกอบด้วย 1.ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นธนาคารสำหรับ ผลประโยชน์ที่ได้จากธนาคารพาณิชย์ ดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าทุน 2.ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน และ 3.ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่ ธนาคาร สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนได้

สอง: มาตรการภาษีที่ให้ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบรวมทั้งหมดหรือบางส่วนสามารถหักค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการควบเข้ากัน สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษี ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการลงทุนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารถาวรการรื้อถอนเครื่องจักรส่วนประกอบ ที่ใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและหรือการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือในอัตราส่วนที่กำหนด โดยจะต้องเป็นรายจ่ายที่สามารถหักรายจ่ายได้

ประกอบด้วย 1.รายจ่ายที่มาจากการลงทุนหรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม อันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน โดยต้องเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งอาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินอาคารถาวรที่ใช้เพื่ออยู่อาศัย

2.รายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขสัญญาซื้อขาย เช่า จ้างหรือสัญญาบำรุงรักษาที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ 3.รายจ่ายเพื่อการรื้อถอนเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ จากการควบกัน

อย่างไรก็ตาม การหักค่าใช้จ่ายได้นั้นแยกตามกลุ่มขนาดธนาคารภายหลังการควบแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.ขนาดสินทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่เทียบเท่ากับธนาคารประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือประเทศมาเลเซีย สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง

กลุ่มที่ 2 ขนาดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท เท่ากับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน หักค่าใช้จ่ายได้ 1.75 เท่ากลุ่มที่ 3 ขนาดสินทรัพย์รวมไม่ต่ำก่วา 2 ล้านล้านบาท ขนาดเท่ากับขนาดสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปัจจุบัน หักลดหย่อน ได้ 1.5 เท่า และ ขนาดรวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หักลดหย่อนได้ 1.25 เท่า

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่า จากมาตรการ ดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 600-1,400 ล้านบาท แต่จะเกิดการชดเชยด้วยการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนปรับปรุงระบบคอร์แบงกิ้ง และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศประมาณ 3,000-7,000 ล้านบาทต่อรายที่ควบรวมกิจการและระยะเวลาที่สามารถใช้มาตรการนี้ได้ คือนับแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565

ข่าวเกี่ยวข้อง :

ซื้อมา-ขายไป ทิสโก้ขายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิตให้ 'ซิตี้แบงก์'

3 แบงก์ใหญ่พร้อมใจ 'ยกเลิกค่าธรรมเนียม' โอน-จ่าย-เติมเงินผ่านแอปฯ