ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติ ขสมก. กู้เงิน 15,374 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2562 ฟากกระทรวงคมนาคมขอเพิ่มวงเงินงบประมาณและเปลี่ยนแปลงรายการสายทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา - ท่าเรือจุกเสม็ด จ.ชลบุรี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. จำนวน 15,374 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงินต่อไป

เนื่องจากกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 ขสมก. มีหนี้สินรวม 107,876 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้พันธบัตรเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย หนี้เงินกู้ระยะยาวพร้อมดอกเบี้ย หนี้ค่าเชื้อเพลิงพร้อมค่าปรับ หนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมค่าปรับ หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงาน และหนี้สินอื่นๆ โดยมีหนี้เงินต้นเงินกู้ที่ถึงกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 15,374 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดชำระตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 - 30 ก.ย. 2562 ซึ่ง ขสมก.ได้พิจารณาประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ประจำปี 2562 แล้วพบว่าไม่เพียงพอที่จะชำระคืนเงินต้นเงินกู้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากประมาณการเงินสดคงเหลือปลายงวดติดลบ 24,592 ล้านบาท 

ดังนั้น ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อนำไปปรับโครงสร้างหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 15,374 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีมติเห็นชอบแล้ว  

ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในวันเดียวกัน ระบุว่า มีเรื่องหารือ 3 ประเด็น ประกอบด้วย หนึ่ง การขออนุมัติกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560 อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2561 จำนวน 26,782.477 ล้านบาท (ปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 23,335.250 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ยที่จะครบกำหนด จำนวน 3,447.237 ล้านบาท) 

พร้อมกับมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 1 มี.ค. 2561 จำนวน 2,962.300 ล้านบาท และกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 2,013.080 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้เงิน 

ส่งผลให้ ขสมก. มีหนี้สิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 รวม 107,876.731 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้พันธบัตรเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย หนี้เงินกู้ระยะยาวพร้อมดอกเบี้ย หนี้ค่าเชื้อเพลิงพร้อมค่าปรับ หนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมค่าปรับ หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงาน และหนี้สินอื่น ๆ โดยมีหนี้เงินต้นเงินกู้ที่ถึงกำหนดในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 15,374.978 ล้านบาท 

แต่เมื่อพิจารณาประมาณการเงินสดรับ - จ่าย ประจำปี 2562 พบว่า ไม่เพียงพอที่จะชำระคืนเงินต้นที่ครบกำหนดข้างต้น เนื่องจากมีประมาณการเงินสดคงเหลือปลายงวดติดลบ จำนวน 24,592.234 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องดำเนินการกู้เงินเพื่อนำไปปรับโครงสร้างหนี้ที่จะครบกำหนดชำระได้ ซึ่งคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ได้มีมติเห็นชอบในการประชุม ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 ขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้ จึงนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ ขสมก. กู้เงิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และมีเงินสดเพียงพอในการให้บริการ โดยไม่กระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชน

สอง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณและเปลี่ยนแปลงรายการสายทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา - ท่าเรือจุกเสม็ด จ.ชลบุรี รวมทั้งยกเว้นการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2552 เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติ ครม. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ข้อ 1.6 ของกรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคมเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณและเปลี่ยนแปลงรายการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โครงการพัฒนาทางหลวงรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก งบลงทุน ค่าที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง จากรายการสายทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา - ท่าเรือจุกเสม็ด จ.ชลบุรี ระยะทาง 7.763 กิโลเมตร วงเงิน 632 ล้านบาท มาดำเนินรายการค่าก่อสร้างและค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภค รวมวงเงิน 811.95 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากวงเงินเดิมที่ ครม. ได้อนุมัติไว้แล้ว จำนวน 179.95 ล้านบาท) 

เนื่องจากกรมทางหลวงได้สำรวจพื้นที่ก่อสร้างจริง พบว่า มีแนวท่อน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลำเลียงจากท่าเรือจุกเสม็ดไปถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา จึงมีความจำเป็นต้องรื้อย้ายและติดตั้งท่อน้ำมันเชื้อเพลิงใต้ดินใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างทางได้ เนื่องจากการขอเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าวข้างต้น เป็นการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปีแรก จำนวน 126.40 ล้านบาท รายจ่ายลงทุนคิดเป็นร้อยละ 15.57 ของวงเงินโครงการ (811.95 ล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 20 จึงไม่เป็นไปตามนัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2552 ข้อ 1.6 ที่กำหนดให้รายจ่ายลงทุนผูกพันข้ามปีงบประมาณต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายจ่ายลงทุนนั้น ๆ โดยไม่รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด ทำให้มีความจำเป็นต้องขออนุมัติยกเว้นการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2552 ของกรมทางหลวง

สาม เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ กำชับหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ โดยเฉพาะกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังตามสายทาง การบริหารจัดการและออกแบบพื้นที่ เช่น ใต้ทางด่วน การเชื่อมต่อทางขึ้น – ลงตามจุดบนมอเตอร์เวย์ จุดจอดรถต่างๆ ให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด การจัดทำ Big data กระทรวงคมนาคมเพื่อเป็นฐานข้อมูลการใช้งาน เน้นย้ำให้ปฎิบัติงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ การจัดทำแผนที่โครงข่ายและระบบการเชื่อมต่อคมนาคมพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันและตะวันตกให้ชัดเจนเข้าใจง่ายประกอบการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :