ไม่พบผลการค้นหา
ปรากฏการณ์ระดมทุนผ่านภาพ 'ไผ่ ดาวดิน -สมศักดิ์ เจียมฯ' สร้างความเปลี่ยนแปลงบน 'โลกออนไลน์' ด้วยพลังของอดุมการณ์ สู่อิสรภาพของผู้ร่วมชะตากรรม

เมื่อในยุคศตวรรษที่ 21 พื้นที่ออนไลน์ในเมืองไทย นอกเหนือจากการใช้สื่อสาร ยังจุดกระแสพื้นที่ 'ประมูล' สิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาคดี ทางการเมือง นับตั้งแต่ภาพถ่ายของชายชื่อ 'ไผ่ ดาวดิน' จนถึงการประมูลภาพวาด 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' โดยแอดมินเพจ 'ไข่แมว' ซึ่งมีการประมูลถึง 221,120 บาท

โดยมีวัตถุประสงค์นำเงินที่ได้จากการประมูล ร่วมสมทบทุนในการช่วยเหลือผู้ต้องหาทางความคิดและนักโทษการเมือง ร่วม 100 คดี ที่ถูกดำเนินคดีจากข้อหาต่างๆ เช่น ยุยงปลุกปั่น ขัดคำสั่ง คสช. หรือข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ในห้วงความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 10 ปี ผ่านบัญชีของคณะกรรมการกองทุนประกันอิสรภาพนักโทษการเมือง 

'เสรีภาพ' ที่มีค่าใช้จ่าย 'ราคาแพง' 

ทุกการดำเนินคดีที่เกิดจากการออกมาต่อสู้หรือแสดงความคิดเห็น เพื่อหวังที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่โมเดลที่พวกเขาคาดหวัง ล้วนมีค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นศาลทหารหรือศาลพลเรือน ยกตัวอย่างล่าสุดจากคดี 'คนอยากเลือกตั้ง' ที่มีผู้ต้องหารวมทั้งหมด 39 คน

แยกเป็นแกนนำ 9 คน ถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นต้องใช้เงินประกันตัว รายละ 200,000 บาท แนวร่วมอีก 30 คน จากข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ต้องใช้เงินประกันตัว รายละ 60,000 บาท รวมทั้งหมด 39 คน เป็นเงิน 3.6 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก

เมื่อผู้ต้องหาส่วนใหญ่ของคดีทางการเมืองเป็นเพียงชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ส่งผลให้บางคดีผู้ต้องหาต้องยอมจำนนรับสารภาพในชั้นศาล จนนำไปสู่การจองจำอิสรภาพ แม้ว่าพวกเขาจะยืนยันในความบริสุทธ์ แต่กลับไม่มีทางเลือกเมื่อทุกอย่างมันมีค่าใช้จ่ายราคาสูงและถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว ในการต่อสู้ในสิ่งที่ต้องการ 

27867472_1958689380811035_1046225233517700437_n.jpg

ที่มา:ขายหมดทุกสิ่งอย่างบนโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล

ตลาด 'ประมูลภาพ' พลังแฝงของคนรุ่นใหม่

เมื่อเทคโนโลยีเปิดกว้างขึ้น พื้นที่ออนไลน์มิได้เป็นเพียงห้องสื่อสาร แต่ได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็น 'ตลาด' ขนาดใหญ่ ที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทำให้เป็นอีกช่องทางที่กลุ่มสนับสนุนผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีอุดมการณ์ร่วมกันได้ใช้เป็นพื้นที่ช่วยเหลือนำผลงานมาร่วมเปิดประมูล เพื่อสมทบทุนและเป็นการประกาศให้คนในสังคมไม่ลืมว่ายังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้

ขณะเดียวกัน พบว่าภายหลังเพจ 'ขายหมดทุกสิ่งอย่างบนโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล' ได้เผยแพร่ภาพวาด 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' พร้อมลายเซ็น โดยแอดมินเพจ 'ไข่แมว' ที่จะใช้ประมูลได้สร้างความฮือฮา ด้วยยอดไลก์ 1,287 ครั้ง ���ละคอมเมนต์ 845 ความคิดเห็น

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มาแสดงความคิดเห็นและแชร์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 'คนรุ่นใหม่' ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์อย่างหนึ่งว่าเรื่องของการเมืองหรือสิทธิมนุษยชน ล้วนอยู่ในความสนใจของพวกเขาเหล่านี้

ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีการจับกุมชาวบ้านเทพา ในการเดินเท้าคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 12-25 ปี ที่ใช้แฮชแท็ก #เทใจให้เทพา เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มแรงกดดันในการเจรจาในพื้นที่ จนนำไปสู่การปล่อยตัวชาวบ้าน

ด้านอาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความเห็นกับ วอยซ์ ออนไลน์ ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน คสช.ค่อนข้างจะเปิดมากขึ้นในเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังเข้มงวดในการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งจะเห็นว่า คสช.พยายามแยกเรื่องของการเมืองออกจากเรื่องของชุมนุมในกรณีอื่นๆ

"ถ้าเป็นการชุมนุมทางการเมืองในช่วงนี้ มีความเป็นไปได้มากว่าจะถูกบังคับตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 แต่ถ้าเป็นการชุมนุนเรื่องอื่น คสช.จะบอกว่านี้ไม่ใช่เรื่องของการเมือง อย่างมากจะบอกว่าเป็นเรื่องของกฎหมายอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องของ พ.ร.บ.ชุมนุม ฯ หรือ พ.ร.บ.ความสะอาด"

อ่านข่าวเพิ่มเติม

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog