ไม่พบผลการค้นหา
เป็นประเด็นฮอตฮิตช่วงท้ายปีกับคำถามบนเวทีประกวด Miss Universe 2017 ที่ถาม 'มารีญา พูลเลิศลาภ 'มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ในรอบ 5 คนสุดท้าย "อะไรคือการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณ" แม้การตอบคำถามของมารีญาอาจไม่โดนใจหลายคน แต่ทำให้เกิดความสงสัยว่า สังคมไทยในช่วงที่ผ่านมามี Social Movement อะไรบ้างที่โดดเด่นและปีหน้าการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบไหนจะมาแรง

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ ผู้สื่อข่าววอยซ์ ออนไลน์ พูดคุย "พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ" เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก ฟอรั่ม-เอเชีย ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งในไทยและต่างประเทศ มาจับเทรนด์ Social Movement เด่น ๆ ในรอบปีนี้และปีหน้า รวมทั้งถอดรหัสพลังของ "ติ่งเกาหลี" ที่มีต่อ "Social Movement"



พิมศิริ

Voice Online: ก่อนที่จะไปพูดถึงเทรนด์ของ Social Movement อยากให้อธิบายคำจัดความของคำว่า "Social Movement" หมายถึงเรื่องใดบ้าง

พิมพ์สิริ : ความหมายและคำนิยามของ “Social Movement" เป็นคำที่ไม่มีความหมายตายตัวในทางวิชาการ ซึ่งโดยส่วนตัวเรามองว่ามันคือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน โดยมีลักษณะ ORGANIC หรือไม่ผ่านการจัดตั้งจากรัฐ ที่เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

Voice Online : ช่วยยกตัวอย่าง "Social Movement" ในเมืองไทยที่เด่นชัดและมีพลังมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา

พิมพ์สิริ : ขบวนการที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทรงพลังที่สุดในประเทศไทยคือ 'สมัชชาคนจน' ที่มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิในช่วงก่อนปี 2550 ซึ่งกลุ่มสมัชชาคนจนเป็นการรวมกันของคนที่มีอัตลักษณ์ด้านชนชั้นและนิยามตนเองว่าเป็นกลุ่มคนจน ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง ชาวนา รวมถึงผู้ใช้แรงงาน โดยไม่ผ่านการจัดตั้งจากรัฐ ที่เข้าไปมีบทบาทในทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม โดยเฉพาะความสำคัญของปัญหาปากท้อง ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จ ถึงขนาดที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากปีกการเมืองฝั่งไหนต้องมาพูดคุยหรือรับฟังกลุ่มสมัชชาคนจน




สมัชชาคนจน


จุดแข็งของกลุ่มสมัชชาคนจนคือเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มอัตลักษณ์ด้านชนชั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐมารวมตัวกันและมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ส่วนจุดอ่อนเรื่องการประสานงานหรือการทำความเข้าใจของผลประโยชน์ ระหว่างกลุ่มต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ขบวนการไม่สามารถเดินต่อไปได้


Voice Online: ในปัจจุบันการเคลื่อนไหวกรณีใด ถือว่าเป็น "Social Movement"

พิมพ์สิริ : เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้เกิดขบวนการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอ.เทพา จ.สงขลา โดยใช้แฮชแท็ก #เทใจให้เทพา ซึ่งภายหลังการจับกุมแกนนำพบว่าในทวิตเตอร์ กลับมีการรีทวิตข้อความจนทำให้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเทรนด์ในทวิตเตอร์ จนนำไปสู่การกดดันในโลกโซเชียลมีเดีย รวมถึงการเจรจาของคนในพื้นที่ จนทำให้กลุ่มผู้คัดค้านได้รับการปล่อยตัว



อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือบัญชีในทวิตเตอร์พบว่าเป็นเด็กเยาวชนอายุระหว่าง 12-25 ปี และส่วนมากเป็นแฟนคลับของศิลปินเกาหลีหรือคนทั่วไปเรียกว่า 'ติ่งเกาหลี' ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมแฟนเพลงเกาหลีมีความรู้สึกร่วมกับการประท้วง และยังพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเล่นทวิตเตอร์มากกว่าเฟซบุ๊ก

แต่เราจะสรุปเลยไม่ได้ว่าเป็นการกดดันจากโลกโซเชียลเพียงอย่างเดียว เพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวทั้งในพื้นที่และการสนับสนุนจากคนชั้นกลาง รวมถึงวัยรุ่นที่ดูไม่สนใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มันช่วยเพิ่มแรงกดดันในการเจรจาในพื้นที่แน่นอน

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลคสช.ที่มีฐานเสียงเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ได้ชั่งน้ำหนักแล้วว่าระหว่างการให้ประกันตัวหรือการควบคุมตัวไว้จะส่งผลกระทบมากกว่ากัน

ขณะเดียวกันอาจขยายการกดดันเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากมีการนัดแนะผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เป็นการเพิ่มแรงกดดันจากนอกพื้นที่อีกช่องทาง

Voice Online: คิดอย่างไร 'ติ่งเกาหลี' สนใจการเคลื่อนไหวทางสังคม

พิมพ์สิริ : มันแสดงให้เห็นว่าพลังในโซเชียลไม่สามารถปิดกั้นข่าวสารได้ แม้ว่าสื่อกระแสหลักจะไม่ได้รายงานข่าว แต่สิ่งที่ถูกส่งต่อไปในพื้นที่ออนไลน์พิสูจน์ให้เห็นว่ามันมีพลังได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการรีทวิตจนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้สนใจเรื่องข่าวสารสังคมและการเมืองเช่นเดียวกัน และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแม้ว่าจะไม่มีการออกไปแสดงพลังเคลื่อนไหวบนท้องถนน

Voice Online: ประเด็นไหนบ้างที่อยู่ในความสนใจในการเคลื่อนไหว ?

พิมพ์สิริ : การรณรงค์เรียกร้องให้มีการมีกฎหมายคู่ชีวิตหรือล่าสุดที่ประเทศออสเตรเลียที่ผ่านกฎหมายแต่งงานระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงในประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่ยังติดขัดทางด้านกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมั่นใจว่าประเด็นการเรียกร้องกฎหมายนี้จะเป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจแน่นอน



LGBT

นอกจากนี้ยังมี #Metoo ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิง ด้วยการติดแฮชแท็ก #MeToo โดยใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียบอกเล่าประสบการณ์ของผู้หญิงที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดการตระหนักรู้มากขึ้นในระดับสากล ซึ่งอาจทำให้ผู้ชายรู้สึกตกใจกับหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น แม้ว่าบางคนไม่เคยมีพฤติกรรมเข้าข่ายการล่วงละเมิด ทำให้การเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียในประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจในสังคมทั่วโลก



metoo


ส่วนประเด็นในไทยต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ หากเกิดการเลือกตั้งในช่วงปลายปี อาจจะมีการหยิบประเด็นกฎหมายคู่ชีวิตและประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินมาพูดคุยอีกครั้งซึ่งในพื้นที่ชาวยังต่อสู้อยู่

Voice Online : สถานการณ์คัดค้าน "โรงไฟฟ้าถ่านหิน" จะเป็นอย่างไรในปีหน้า

พิมพ์สิริ : ต้องขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งถ้าเกิดขึ้นจริง บรรยากาศทางการเมืองจะมีพื้นที่เปิดกว้างขึ้น และคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คนต้องถูกยกเลิก จึงจะสามารถเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตามหากไม่มีการจัดเลือกตั้ง อาจจะมีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้คัดค้านอีกครั้ง

Voice Online : มองจุดแข็ง-จุดอ่อน ของ "Social Movement"อย่างไรบ้าง

พิมพ์สิริ : จุดแข็งของการเคลื่อนไหวคือจำนวนหรือตัวเลขของผู้เข้าร่วม ที่มีความหลากหลายแต่มีจุดร่วมเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนขบวนการให้เดินต่อไปได้ โดยพึ่งจำนวนของมวลชนหรือผู้ที่สนับสนุนการต่อสู้ ขณะที่จุดอ่อนคือการขัดแย้งกันของแนวร่วมทำให้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้การเคลื่อนไหวไปต่อไม่ได้


"ศิลปะของการเคลื่อนไหวทางสังคม คือการจะทำอย่างไรให้รักษาที่มาของการต่อสู้และการบรรลุจุดมุ่งหมาย ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งอะไร แต่ถ้าเกิดทุกคนในขบวนการยังมองเห็นเป้าหมายร่วมกันมันก็ยังไปต่อได้"


5 เทรนด์ "Social Movement" ปี 2018 ที่น่าใจในประเทศไทย

1.ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่

2.เรียกร้องกฎหมายคู่ชีวิต

3.การต่อต้านการคุกคามทางเพศ

4.ประเด็นเฟมินิสต์ เรียกร้องความเท่าเทียมของผู้หญิง

5.กระแสการต่อต้านการระเมิดสิทธิมนุษยชน