ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปแล้ว สำหรับประเด็นการประมูลรูปถ่ายพร้อมลายเซ็นไอดอลชื่อดังแห่งปีอย่าง BNK48 ซึ่งล่าสุดราคาประมูลเฉียดครึ่งล้าน ซื้อรถยนต์ได้เป็นคัน ถูกจับมาหยิบยกประเด็นกันว่ารูปถ่ายใบแค่นั้น มีความพิเศษอย่างไร และใครกันที่มีเงินพร้อมจ่ายขนาดนี้

'วอยซ์ ออนไลน์' พาไปส่อง 'โอตะ' ทำไมถึงทุ่มทุนขนาดนั้น

เริ่มที่ประเด็นที่ถูกจับตามองคือรูปถ่ายพร้อมลายเซ็น 'มิวสิค-แพรวา สุธรรมพงษ์' สมาชิก BNK48 ที่มีชื่อเสียงระดับท็อปของวง ถูกประมูลไปในราคา 455,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากที่สุดของวง ณ ปัจจุบันที่ใช้วิธีการประมูล 


มิวสิค BNK

แต่การประมูลภาพถ่ายพร้อมลายเซ็นของมิวสิกราคาครึ่งล้านนี้ ผู้ประมูลหาใช่เด็กผู้ชายช่วงวัยเรียนเท่านั้น

ข้อมูลจากเวที Thailand Zocial Awards 2018 แหล่งรวบรวมข้อมูลและผลสำรวจด้านการตลาดออนไลน์ บ่งชี้ว่า กลุ่มโอตะ หรือ พ่อยกแม่ยกทั้งหลายของสาว BNK48 นั้น มีสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานมากกว่าวัยเรียน

สิ่งที่ไม่อยากเชื่อ ก็ต้องเชื่อ คือสำนักข่าวที่ลงข่าว BNK48 แล้วมี Engagement มากที่สุด คือเพจ 'ลงทุนแมน' แทนที่จะเป็นเพจด้านบันเทิงทั่วไป !!

โอตะสายเปย์ ปั้นราคาของจาก 250 บาท เป็นครึ่งล้านในพริบตา

อีกประเด็นคือ ในการประมูล SSR หรือ Super Special Rare ข้าวของหายากมีจำนวนจำกัดของ BNK48 เช่นภาพพร้อมลายเซ็น 'มิวสิค' ครั้งล่าสุด ยังพบเบาะแสว่า ผู้เข้าแข่งขันการประมูลบางคนมีงานอดิเรก 'ขุดเหมืองบิทคอย' บางคนเป็นถึงด็อกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์มีประวัติเป็นที่ปรึกษาการเงินการคลังวุฒิสภา ซึ่งพอมีกำลังทรัพย์ที่จะประมูล SSR ที่เป็นภาพถ่ายพร้อมลายเซ็นในราคาสูงถึง 455,000 บาทได้ 

สำหรับผู้ที่ยังงงว่า อะไรคือ SSR ก็สามารถอธิบายง่ายๆ ว่า SSR หรือ Super Special Rare หรือของที่ม��จำนวนจำกัด เป็นได้ทั้งรูปพร้อมลายเซ็น ลูกบอลที่มีลายเซ็น ไปจนถึงไม้กลองที่มีลายเซ็น 

อย่างรูปถ่ายพร้อมลายเซ็นของ 'มิวสิค' ที่เพิ่งปิดการประมูลล่าสุด (16 มี.ค.) ความจริงแล้วเป็นของแถมแบบสุ่ม จากการสั่ง Photo Set ชุดแรกของ BNK48 ซึ่งต้องสั่งซื้อในราคา 250 บาท ได้รูป 5 ใบต่อชุด และจะมีการสุ่มแจก SSR ชุดละ 1 ใบ โดยมีแค่ 5 ใบ ต่อสมาชิก 1 คน เท่านั้น และแต่ละใบจะมีลายเซ็นไม่เหมือนกันด้วย

โอตะนักวิชาการพ่ายประมูล เพราะเสนอราคาต่ำกว่าเพียง 5,000 บาท

หลายคนสงสัยคงว่า สาเหตุการใช้เงินเกือบครึ่งล้านซื้อรูปถ่าย 1 ใบ คืออะไร ???

'วอยซ์ ออนไลน์' คุยกับผู้ที่เข้าร่วมการประมูลรูปถ่ายพร้อมลายเซ็น 'มิวสิค' ที่เสนอราคา 450,000 บาท พ่ายแพ้ผู้ชนะไปเพียง 5,000 บาทเท่านั้น เขาเป็นนักวิชาการวิเคราะห์ด้านการเงินและเศรษฐกิจ เรียกเขาว่า 'โอตะสายนักวิชาการ' 

โอตะคนนี้ให้ข้อมูลกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ปัจจุบันตนถือครอง SSR ของ BNK48 ทั้งหมด 2 ใบ ที่ได้มาจากการประมูล ซึ่งส่วนตัวใช้เงินไปประมาณ 200,000-300,000 บาท ทั้งจากการประมูล และซื้อสินค้า official จาก BNK48 SHOP ซึ่งหากไม่ผิดหวังในการประมูลครั้งล่าสุด ยอดใช้จ่ายคงกระโดดอีกเท่าตัว

ส่วนที่ยินดีจะเสียเงินมากขนาดนี้ เขาให้เหตุผลว่า หนึ่ง มาจากความชื่นชอบตัวไอดอล ต้องการสะสมของเป็นเหตุผลด้านความรู้สึก สอง มองว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ถ้าประเมินตลาด จะรู้ว่าความต้องการซื้อ หรือ ดีมานด์มาจากความสามารถของไอดอลที่จะเชื่อมโยงเข้ากับแฟนคลับ ขณะที่อุปทาน หรือ ซัพพลาย หรือข้าวของที่นำมาเป็น SSR มาจากบริษัทว่าจะผลิตสินค้าออกมามากน้อยแค่ไหน แต่ตามปกติแล้ว สินค้าสะสม เช่น SSR จะออกมาในจำนวนจำกัด


"การเคลื่อนไหวของราคาจะประกอบด้วย 2 มิติ คือ มิติปริมาณและคุณภาพ ปริมาณคือ จำนวนคนที่ชอบ คุณภาพคือ ความยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อของสะสม ราคาสินค้าจะดี ก็ต่อเมื่อความนิยมมันมาจากทั้งสองส่วน เช่น แม้ได้รับความนิยมมาก แต่ผู้ติดตามไม่ใช่กลุ่มที่อุดหนุนสินค้า ราคาก็จะไม่สูง ขณะที่ บางคนอาจจะมีคนชอบไม่เยอะ แต่คนชอบยินดีจะเปย์ ราคาก็จะสูงมากเช่นกัน" โอตะนักวิชาการ กล่าว


ดังนั้น ตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะขณะนี้อายุของวงเริ่มจะเข้าปีที่ 2 หากเทียบกับต้นฉบับโมเดลธุรกิจวง AKB48 ที่ตอนนี้มีอายุ 10 ปีแล้ว

BNK48 คือจุดเปลี่ยนโมเดลธุรกิจวงการดนตรีป๊อบไทย

นอกจากนี้ เขายังให้ความเห็นว่า กลุ่มโอตะไม่ได้มาจากธุรกิจการเงินหรือการลงทุนเสมอไป ส่วนประเด็นที่เพจลงทุนแมน มีผลตอบรับที่ดี ประเมินว่าหลายคนในวงการด้านการลงทุนชอบระบบธุรกิจ คือ BNK48 เป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่เข้ามาตีตลาดไทย สิ่งใหม่ที่วงพยายามนำเสนอเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ความสามารถของน้องที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนา ซึ่งจะต่างจากรูปแบบเดิมที่ใช้คนที่ฝึกจนเก่งแล้ว ถึงสามารถออกซิงเกิ้ลได้ 

อีกทั้งเรื่องคือ การขายประสบการณ์ สามารถเข้าถึงได้ ผ่านงานจับมือ หรือ งาน hand shake หรือ การตามไปเชียร์ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโอกาสของศิลปิน รวมไปถึงการตอบโจทย์เรื่องการสร้างความต้องการสินค้าได้อย่างมีมิติ

"ผู้ชนะประมูลรอบนี้และตัวผมเอง น่าจะเหมือนกัน คือ ไม่ได้ให้ความสำคัญมากกับการเก็งกำไร แต่เป็นเรื่องคุณค่าทางจิตใจมากกว่า ถึงแม้ว่าราคาประมูลจะดูสูง แต่ส่วนมากแล้วคนประมูลจะต้องมีการตัดสินใจอย่างดีว่าไม่กระทบต่อครอบครัว และกว่าจะสะสมเงินมาได้นั้น ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมทางการเงินไว้ก่อนเสมอ เมื่อถึงเวลาถึงจะสามารถเข้ามาร่วมประมูลได้ตามที่ต้องการครับ" โอตะนักวิชาการกล่าว


BNK48

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญของการประมูลสินค้าอันดับแรกต้องมาจากความชอบและมีความพร้อม ซึ่ง BNK48 เข้ามาพลิกฟื้นวงการดนตรีแนวไทยป๊อบ ที่เหมือนจะซบเซาให้มีลูกเล่นที่สดใสมากขึ้น และเห็นในแง่มุมกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความบันเทิงมีหลายวิชาชีพเช่นกัน

ส่วนในอนาคตตลาดสินค้าไอดอลจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นตลาดเก็งกำไรขนาดใหญ่ได้หรือไม่ ต้องให้คุ๊กกี้ทำนายกัน