ไม่พบผลการค้นหา
'องอาจ' กังวล 4 รัฐมนตรีที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ อาจใช้อำนาจทำผลเลือกตั้งไม่ชอบธรรม ย้ำ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐไม่กระทบพรรค ฟาก 'ชวลิต' ชี้ 'พลังประชารัฐ' กับ 'ประยุทธ์' เกี้ยเซี๊ยะกัน เอาเปรียบทุกประตู หวั่นการเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับ ย้ำเศรษฐกิจปัญหาปากท้องประชาชน จะกำหนด 'ผู้บริหารประเทศ'

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวล 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ไปรับตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากรัฐมนตรีทั้ง 4 คน มีความใกล้ชิดกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่เกินความคาดหมาย เพราะที่ผ่านมาประชาชนได้เห็นความเคลื่อนไหวของ 4 รัฐมนตรี สอดรับกับการเคลื่อนไหวของนายกรัฐมนตรี ซึ่งการตั้งพรรคดังกล่าว เป็นการมุ่งหวังการเข้ามาทำงานการเมืองของพลเอกประยุทธ์ แม้จะมีการปฏิเสธในเรื่องดังกล่าว แต่ประชาชนจะสัมผัสได้

นายองอาจ ยังเป็นห่วง 4 รัฐมนตรีที่ยังทำงานในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งต้องพึงระวังการใช้อำนาจหน้าที่ของการมีตำแหน่งมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองเพื่อปูทางหาคะแนนนิยมของพรรคการเมืองหรือการดำเนินการโดยใช้อำนาจหน้าที่มิชอบเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งการมีตำแหน่งในรัฐบาลอาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะไม่ใช้อำนาจในทางที่เป็นประโยชน์ในพรรคที่ตนเองสังกัด เพราะอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้ง และสิ่งสำคัญที่สุดจะต้องทำให้ผลของการเลือกตั้งได้รับการยอมรับจากสังคมและทุกภาคส่วน ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่ใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระหรือแสวงหาความนิยมทางการเมืองผ่านกลไกรัฐบาล เพราะจะนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นของผลการเลือกตั้งและทำให้ประเทศเสียหาย

ส่วนที่มีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐนั้น นายองอาจ กล่าวว่า ทุกคนที่ปรากฏเป็นข่าวได้แจ้งลาออกกับทางพรรคแล้ว พร้อมยอมรับว่าเสียดายที่บุคคลเหล่านั้นไม่ร่วมงานต่อกับพรรค แต่การตัดสินใจทางการเมืองถือเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ซึ่งมีวุฒิภาวะและความรู้ความสามารถ จึงขออำนวยพรให้ทุกคนโชคดีทางการเมืองบนเส้นทางการตัดสินใจของตนเอง และเชื่อว่าการตัดสินใจของคนเหล่านั้นไม่ส่งผลกระทบการกับเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครและพรรค เพราะในรอบนี้มีคนรุ่นใหม่พร้อมเข้ามาทำงานการเมืองในนามของพรรคประชาธิปัตย์และเชื่อว่าจะเป็นตัวตายตัวแทนในการนำนโยบายพรรคไปทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน จึงขอย้ำว่าการลาออกดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบกับพรรคเพราะเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ส.ส.ถือเป็นจำนวนน้อยซึ่งยังมี ส.ส.อยู่กับพรรคเป็นจำนวนมาก

'ชวลิต' หน่าย เลิกหวังสปิริตจากรัฐบาล คสช.

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนรอดูว่ารัฐมนตรีในรัฐบาลนี้จะไปเปิดตัวกับพรรคพลังประชารัฐตามข่าว หรือไม่ แล้วก็เป็นความจริง มีรัฐมนตรี 4 ท่าน ไปเป็นผู้บริหารในพรรคพลังประชารัฐ และ 2 ใน 4 ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ นายอุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรมไปเป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว. พาณิชย์ ไปเป็น เลขาธิการพรรค      

จึงไม่เป็นเรื่องแปลก หากจะมีรัฐมนตรีในรัฐบาลไปดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองควบคู่ไปด้วย แต่ที่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่งก็คือ การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีอำนาจพิเศษตาม ม.44 ควบคุมประเทศ ทั้งก่อนเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง จนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะแล้วเสร็จ โดยที่พรรคพลังประชารัฐประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ยินไปทั้งประเทศ     

พฤติกรรมดังกล่าวถือได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีส่วนได้เสียในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยมีอำนาจพิเศษอยู่ในมือดังกล่าว และถือได้ว่าเป็นผลประโยชน์ขัดกันอีกประเด็นหนึ่ง ทั้งยังขัดกับจรรยาบรรณทางการเมือง ที่มีการเอาเปรียบกันในการแข่งขันทางการเมือง ซึ่งถือว่าไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง

ถ้าจะเปรียบให้เห็นง่าย ๆ เหมือนการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทั้ง 4 ท่านดังกล่าว เป็นทั้งนักกีฬาและเป็นกรรมการด้วย รู้ถึงไหน ก็อายถึงนั่น       

ดังนั้น การเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึงจะเป็นการเลือกตั้งที่มีการเอาเปรียบกันอย่างสุด ๆ ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย      

"บางครั้งรู้สึกหดหู่ ท้อใจ อับจนปัญญาที่จะให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะทางออกประเทศจากปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ เพราะฝ่ายบริหารในปัจจุบันไม่รู้สึก รู้สา ไม่รู้ร้อน รู้หนาว ด้วยซ้ำว่า ความยุติธรรม คืออะไร หากบ้านเมืองขาดความยุติธรรม แล้วจะเป็นอย่างไร คิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจะได้อยู่ในอำนาจต่อ จึงรู้สึกเหนื่อยหน่าย เอือมระอา แต่เมื่อกลับไปพบชาวบ้านซึ่งลำบากมากในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งลูกหลานที่จบการศึกษามาแล้วตกงานกันจำนวนมาก ล้วนให้กำลังใจให้เป็นส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน อย่างน้อยก็ช่วยจุดประกายไฟเล็ก ๆ ในใจประชาชนให้คนไทยที่รักความเป็นธรรมได้เห็น ได้ทราบความจริงเพื่อการตัดสินใจทางการเมือง" นายชวลิต กล่าว

ขณะนี้ตนเลิกหวังสปิริตจากรัฐบาลนี้ เพราะพฤติกรรมฟ้องประชาชนและชาวโลกโจ่งแจ้ง เขายังไม่รู้สึกละอายใด ๆ ต่อการเอาเปรียบทางการเมือง เนติบริกรก็หาช่องว่างทางกฎหมายคอยแก้ตัวให้ข้าง ๆ คู ๆ เอาสีข้างเข้าถูไปวัน ๆ จึงหวังจากประชาชนที่จะสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยให้ชนะอย่างถล่มทลายเมื่อการเลือกตั้งมาถึง 

ที่หวังเช่นนี้เพราะคนไทยได้สัมผัสความจริงมาแล้วว่า 4 ปีที่รัฐบาลนี้ได้บริหารประเทศ สภาพเศรษฐกิจในครอบครัวของแต่ละครอบครัวเป็นอย่างไร คงไม่มีใครอยากลำบากไปมากกว่านี้อีกแล้ว พร้อมกับกล่าวว่า "ผมเชื่อว่า เศรษฐกิจ ปากท้อง จะเป็นปัจจัยกำหนดผู้บริหารประเทศ"

สืบทอดอำนาจ -ทำการเลือกตั้งไม่สง่างาม

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดตัว 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลเป็นกำลังหลักในการผลักดันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบหลังเลือกตั้งอย่างเป็นทางการตามคาดว่า แสดงว่าข่าวลือเปิดทำเนียบเป็นที่ทำการพรรคการเมืองอาจเป็นข่าวจริงที่มาก่อนเวลาอันควรหรือไม่ 4-5 เดือนที่ผ่านมาคนในรัฐบาลและคสช.ปฏิเสธมาตลอด 

แต่วันนี้เปิดตัวชัด อย่างไม่เหนียมอาย น่าแปลกใจที่พร้อมใจกันผันตัวเองจากกรรมการมาเป็นผู้เล่นโดยไม่เคอะเขินแม้แต่น้อย คนไทยอาจกังวลมากขึ้นว่าการแข่งขันที่กรรมการมีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นทั้งนักกีฬาและเป็นทั้งผู้รักษากฎกติกาการแข่งขันในเวลาเดียวกัน จะได้การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้อย่างไร 

การแต่งตั้งให้ตำแหน่งกับบุคคลที่มีคดีอุกฉกรรจ์ประชาชนตั้งคำถามว่าถือเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ เกรงใจประชาชนบ้างหรือไม่ การตั้งรัฐมนตรีตั้งตามความสามารถหรือตั้งเพื่อจัดวางตัวบุคคลให้มาวางแนวทางในการสืบทอดอำนาจ นี่แค่หนังตัวอย่าง 5-6 เดือนจากนี้ไป ประชาชนน่าจะได้เห็นอะไรมากกว่านี้ หรือไม่ ลำพังอำนาจที่ได้มาโดยไม่ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชนก็ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากอยู่แล้ว ท่านยังเอาอำนาจของประชาชนไปตอบแทนให้รางวัลกับคนที่ร่วมในกระบวนการเข้าสู่อำนาจของท่านในบริบทต่างๆ อย่างมากมายหรือไม่ 

อีกทั้ง ยังมีความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ สร้าง กฎ กติกา เอื้อให้พรรคพวกในเครือข่ายของตัวเองเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี ในขณะที่พรรคคู่แข่งหรือพรรคตรงกันข้ามกลับเอาเปรียบ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้นหรือไม่ อาจถือเป็นความไม่สง่างามที่มีการวางเครือข่ายองคาพยพอย่างเป็นกระบวนการ มีการวางงบประมาณ ใช้ทรัพยากรของรัฐโยกย้ายบุคลากรเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและการเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่ ดังนั้นเสียงเรียกร้องจากทั่วทุกสารทิศที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ในการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเสียสละถอยออกมา เพราะเมื่อตัดสินใจเป็นผู้เล่นก็ไม่ควรถืออำนาจเบ็ดเสร็จเหนือกรรมการ จนอาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :