ไม่พบผลการค้นหา
มติที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ เลือก 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลนั่ง กก.บห. เคาะ 'อุตตม' หัวหน้าพรรคตามโผ ขณะที่อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ - สามมิตร ร่วมทีมครบ โดย 'อุตตม' ย้ำถึงเวลาจะสวมหมวกพลังประชารัฐใบเดียว ปลุกรวมพลังเดินหน้าผ่านความขัดแย้ง - ลดเหลื่อมล้ำ เตรียมยื่น กกต.รับรองพรรค

การประชุมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งจัดทำคำประกาศพรรค อุดมการณ์พรรค นโยบายพรรคเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (29 ก.ย.) ที่เมืองทองธานี โดยมีรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้จะเข้าร่วมสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาร่วมประชุมและสมัครสมาชิกพรรคด้วย ประกอบด้วย นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. พร้อมนำคนรุ่นใหม่เข้าร่วมสมัครสมาชิกพรรค โดยอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่าการเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่การแสดงจุดยืนแตกหักกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์นานแล้ว

นายพุทธิพงษ์ ยืนยันว่า การเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐไม่มีเงื่อนไขหรือผลประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงยังไม่มีการพูดคุยถึงตำแหน่งใดๆในพรรค ยังเป็นเพียงสมาชิก ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่ามีฐานเสียงในภาคอีสานเหนียวแน่นนั้น ส่วนตัวได้ดึงนายก อบจ. 12 จังหวัด เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแล้ว ซึ่งคนเหล่านี้ ก็มีฐานเสียงในพื้นที่จำนวนมากเช่นกัน อาทิ นายก อบจ. จาก อุบลราชธานี, มหาสารคาม, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, หนองคาย, บึงกาฬ, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, และหนองบัวลำภู

เช่นเดียวกับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วย รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ระบุถึงเหตุที่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐว่า เพราะชื่นชอบในอุดมการณ์ของพรรค มั่นใจว่าจะทำให้ จ.ชลบุรีเจริญก้าวหน้าโดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ผ่านกลไก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี ส่วนการทำงานของพรรคพลังชล ยังคงอยู่ โดยจะทำงานร่วมกันกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งที่ผ่านมา พรรคพลังชล ได้ร่วมงานกับรัฐบาลมาระยะหนึ่ง ผ่านการทำงานเชิงพื้นที่ และเข้าไปร่วมงานกับฝ่ายบริหาร เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ

ขณะที่กลุ่มสามมิตร อย่างนายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และนายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ หลานชายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยนายอนุชา ระบุว่า การมาวันนี้ มาในนามส่วนตัว ส่วนแกนนำคนอื่นๆ อยู่ระหว่างพิจารณา ว่าจะตัดสินใจ อย่างไรให้รอติดตาม เพราะการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายมีอะไรสนุกๆอีกเยอะ

พลังประชารัฐ 20180929_Sek_01.jpg

ตามคาด 4 รมต. นั่ง กก.บห.

โดยนายชวน ชูจันทร์ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาอุดมการณ์พรรค นโยบาย ข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคโดยใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยที่ประชุมมีมติเลือกนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรองหัวหน้าพรรค

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นโฆษกพรรค นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ เหรัญญิกพรรค นายวิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค

กรรมการบริหารพรรคมีทั้งหมด 25 คน อีก 18 คนที่เหลือ ได้แก่ 1. นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล อดีตสามชิกพรรคเพื่อไทย 2. นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ บุตรชายนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 4. น.ส.ธนิกานต์ พรคงสาโรจน์ 5. นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 6. นายอนุชา นาคาศัย สมาชิกกลุ่มสามมิตร 7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีต ส.ส. พรรคชาติไทย 8. นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ หลานชายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

9. นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย 10. นางนฤมล สอาดโฉม กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง 11. นายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 12. ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 13. นายวิเชฐ ตันติวานิช อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 14. นายชาญวิทย์ วิภูศิริ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 15. นายชวน ชูจันทร์ ผู้จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ 16. นายกรัณย์ สุทธารมณ์ 17. นายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม 18. นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

ซึ่งหลังจากนี้ จะคัดเลือกผู้ก่อตั้งพรรคเพิ่มอีก 15 คน

อุตตม พลังประชารัฐ สนธิรัตน์ 20180929_Sek_04.jpg

นายอุตตมะ ขอบคุณทุกคนที่ไว้วางใจ เลือกตนเป็นหัวหน้าพรรค เข้ามาบริหารนำพาพรรคพลังประชารัฐก้าวไปข้างหน้า ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน โดยพรรคพลังประชารัฐ พร้อมพัฒนา การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนบ่มเพาะ พลเมืองที่มุ่งพัฒนาประชาธิปไตยวิถีไทย น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาเติบโตจากฐานรากอย่างยั่งยืน พัฒนาสู่ประชาคมโลกอย่างเข้มแข็ง ก้าวข้ามความขัดแย้งฟื้นความสมานฉันท์ เพื่อสังคมที่เป็นธรรมยึดนิติรัฐนิติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคม ที่เป็นธรรมนำพาคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

พลังประชารัฐ อุตตม 613.jpg

'อุตตม' ปลุกรวมพลังผ่านความขัดแย้ง ยันอนาคตสวมหมวกใบเดียว

จากนั้น นายอุตตมะ นำสมาชิก กล่าวคำปฏิญาณ พร้อมเปิดเผยว่า จะนำมติของพรรคไปยื่น กกต. ให้เป็นพรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้จากการทำงาน ที่ผ่านมา จนมีผลเป็นรูปธรรม สร้างกลไกไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นความภูมิใจที่มีโอกาสส่วนร่วมทำงานได้ร่วมผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนชาวไทย 

โดยเชื่อการรวมพลังจะช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้า ผ่านความขัดแย้ง ผ่านความสูญเสียในทุกมิติ วันนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าผ่าน ความชะงักงัน พรรคพลังประชารัฐจะรวมประเทศไทยให้กลับมาเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว จะจับมือเดินไปข้างหน้า ทำงานด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใสเพื่อความรับผิดชอบที่มีเป้าหมายเดียวคือการรับใช้แผ่นดินเกิด

วันนี้ต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ เพราะโลกก้าวไปเร็วมาก พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมมือกันเพื่อหลุดพ้นจากความขัดแย้ง ให้ประเทศไทย สามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างเข้มแข็ง เพื่ออนาคตของลูกหลานที่เข้มแข็งต่อไป 

อุตตม พลังประชารัฐ สนธิรัตน์ สุวิทย์ กอบศักดิ์ 20180929_Sek_06.jpg

(4 รัฐมนตรี รัฐบาล คสช. แกนนำพรรคพลังประชารัฐ)

นายอุตตม ยืนยัน ไม่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่สัญญาว่าจะไม่ใช้งบประมาณและทรัพยากรไปเอาเปรียบผู้อื่นแน่นอน ต่อไปนี้จะถูกจับตามองจากสังคม ตนจะทำให้ถูกต้อง และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม รัฐมนตรีทุกคนจะใส่หมวกใบเดียว ทั้งนี้ ตนมองว่าการมาทำพรรคการเมือง จะไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช. ที่แม้จะยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่ตนและรัฐมนตรีอีก 3 คนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ คสช. แต่อยู่ในฝ่ายของรัฐบาลที่มาทำงานจริงๆ ไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงกับ คสช.

กั๊กเร็วไปชู 'ประยุทธ์'นั่งนายกฯ ปัดมีใบสั่ง คสช.

ส่วนจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เหมือนที่นายชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่คนในพรรคต้องคุยกันในอนาคต ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะพูดเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของนายชวนเท่านั้น ยืนยันพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่ง หรือมีใครเป็นเจ้าของ หรือให้ใบสั่ง แม้จะมีชื่อคล้ายกับนโยบายของรัฐบาล คสช. ก็ตาม ส่วนกลุ่มสามมิตร ตอนนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันว่าจะเข้าร่วมกับพรรคหรือไม่

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เหตุที่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากยังมีภารกิจและโครงการที่ดำเนินการค้างอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย หากลาออกจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนงานดังกล่าว ไม่อยากให้มองว่าพวกตนเป็นนักการเมืองที่หวงเก้าอี้

การประชุมในวันนี้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ และหน่วย EOD ประจำการกว่า 100 นาย รวมถึงเครื่องตรวจสแกนบุคคลก่อนเข้าภายในงาน พร้อมวางกำลัง รักษาความปลอดภัยทั่วบริเวณ และสุนัขตำรวจ นอกจากนี้ยังวางกฎระเบียบข้อปฏิบัติสำหรับทุกคนที่จะเข้าไปภายในห้องประชุม 13 ข้อ เช่น ห้ามนำของมีคม อาวุธ เข้าไปในพื้นที่จัดงาน ห้ามนำสิ่งปฏิกูล ขยะ ของเน่าเสีย ของมีกลิ่นรุนแรงสกปรก สารเสพติดทุกชนิด ภาชนะแข็ง เช่นขวดแก้ว กระป๋องเหล็ก ทุกชนิดเข้าไปในพื้นที่งาน รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมรุนแรง ทางร่างกายและวาจา ต่อ เจ้าหน้าที่จัดงานและผู้ร่วมการประชุมทุกคน เพื่อความสะดวกและเรียบร้อยของการประชุมจึงข้อให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

อุดมการณ์พรรคพลังประชารัฐ 7 ข้อ

  1. ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  2. พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน บ่มเพาะพลเมืองที่ตื่นรู้ มุ่งเน้นการพัฒนาประชาธิปไตยวิถีไทย
  3. น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง สร้างความเข้มแข็งจากฐานรากอย่างยั่งยืน ชูประเทศไทยสู๔่ประชาคมโลกอย่างสมศักดิ์ศรี
  4. ก้าวข้ามความขัดแย้ง ฟื้นความสมานฉันท์
  5. สร้างสังคมที่เป็นธรรม ยึดนิติรัฐ นิติธรรม
  6. ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสที่เป็นของจริง ขจัดความยากจน สร้างความมั่นคงในสังคม
  7. สร้างสังคมที่เกื้อกูล แบ่งปัน เติมเต็มศักยภาพและโอกาสของผู้คน เตรียมความพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21