ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจุบันชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาประเทศไทย โดยมี ‘มวย’ เป็นเป้าหมายหลัก ทั้งในรูปแบบของการท่องเที่ยว หรือการเทิร์นตัวเองสู่ ‘นักชกอาชีพ’

ทุกวันนี้ แม้ยิมสอนมวยไทยในต่างประเทศจะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับชาวต่างชาติผู้ชื่นชอบการชกมวยเป็นชีวิต และเคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อศึกษาเชิงมวยด้วยตนเอง มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ระดับความ ‘จริงจัง’ ค่อนข้างต่างกันมาก โดยเฉพาะเมื่อพวกเขามอง ‘มวยไทย’ เป็นอาชีพ ไม่ใช่แค่งานอดิเรก

ช่วงเช้าเดือนตุลาคม ทีมงาน Voice On Being ขับรถมุ่งหน้าอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อทำความรู้จักกับ ‘เซเว่นมวยไทยยิม’ (7 Muay Thai Gym ) ค่ายมวยไทยสัญชาติอิตาลีของครอบครัวคาสซาริโน่ ซึ่งเอาจริงเอาจังกับการปั้นนักสู้อย่างมาก และทั้งๆ ที่เข็มนาฬิกาล่วงเลยเลข 7 ไปแล้ว แต่นักมวยชาวอิตาลี และสเปน ดูเหมือนจะเพิ่งกลับจากการวิ่งตอนเช้า และกำลังซ้อมเตะเป้าตามตารางการฝึกประจำวันอังคาร

เมื่อเราก้าวเท้าสู่ชั้นสอง ก็เห็นภาพบรรดานักสู้ทั้งชาย หญิง และเด็ก กำลังทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน บางคนเตะเป้า บางคนต่อยกระสอบทราย ฝึกกล้ามเนื้อ ชกลม หรือลงนวม ท่ามกลางอุปกรณ์หลากชนิด โปสเตอร์จากนิตยสารมวยชื่อดัง และโปรแกรมมวยต่างๆ ซึ่งช่วยจารึกประวัติศาสตร์ของค่ายมวยสัญชาติอิตาลีแห่งนี้

หลังจากนาฬิกาหมุนมาถึงเลข 9 ซึ่งเป็นเวลาก่อนการฝึกช่วงเช้าจะเสร็จสิ้น นักกีฬาส่วนหนึ่งทยอยไปพักผ่อน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกที่หนักหนากว่าเดิมในช่วงบ่าย เหลือเพียงนักชกที่มีนัดกับเราหย่อนใจอยู่บริเวณนั้น และไม่กี่นาทีต่อมา ‘มาเธียส กัลโล่ คาสซาริโน่’ (Mathias Gallo Cassarino) นักชกเจ้าของเข็มขัด 8 เส้น กับสถิติการน็อกมากมาย และผ่านการลงสนามมาแล้วเกือบร้อยครั้ง นั่งลงบนแผ่นโฟมกันกระแทก ข้างๆ สังเวียนผ้าใบ ซึ่งเป็นจุดเดียวกันกับที่เราเริ่มต้นเปิดบทสนทนา




มวย4.JPG

‘มวยฝรั่ง’ ผู้เติบโตในไทย

มาเธียสเล่าเท้าความว่า เขามาเมืองไทยครั้งแรกตอนอายุเพียงขวบปีเท่านั้น จากการติดตาม ‘โรเบอร์โต กัลโล่ คาสซาริโน่’ (Roberto Gallo Cassarino) ผู้เป็นพ่อ เพื่อมาซ้อมมวยที่ค่ายต่างๆ ทว่าเมื่อก่อนเขาไม่เคยคิดชอบมวยไทย ถึงขนาดเบื่อหน่ายกับการไปรอพ่อฝึกเลยด้วยซ้ำ กระทั่งพออายุ 9 ขวบ ได้ไปเที่ยวงานวัดกับครอบครัว แล้วเห็นการแข่งชกมวยแบบปิดตา จึงขออนุญาตพ่อลองขึ้นชก จากนั้นกลับเริ่มรู้สึกชอบ และตัดสินใจฝึกซ้อมอย่างจริงจัง

ปัจจุบัน มาเธียสอายุ 25 ปี เขาเริ่มบรรเลงเพลงหมัด เท้า เข่า ศอก บนเวทีเป็นครั้งแรกตอนอายุ 12 ปี ก่อนจะตัดสินใจมาอยู่ประเทศไทยตอนอายุ 14 ปี เพราะกฎหมายอิตาลีไม่อนุญาตให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี ชกกันแบบจริงจัง หรือห้ามใช้ศอกในการต่อสู้ 

“ตอนแรกไม่ได้คิดจะเปิดค่าย หรือต่อยมวยเป็นหลัก แต่พ่อพูดกับผมว่า ถ้าอยากเป็นแชมป์จริงๆ ต้องมาซ้อมในไทย ต่อยกับคนไทย โอกาสก้าวหน้าจะเยอะกว่า ก็เลยมาเข้าโรงเรียนนานาชาติที่นี่ พอโรงเรียนเลิกก็ซ้อมมวย อยู่เมืองไทย 1 ปี กลับอิตาลี 1 ปี ก่อนสุดท้ายตัดสินใจอยู่เมืองไทยนี่แหละ” มาเธียสเล่าให้ฟัง

มาเธียส และนักชกหลายคนของค่ายเซเว่นมวยไทยยิมเชื่อตรงกันว่า การมาฝึกมวยที่ประเทศไทย คือการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เพราะนอกจากกฎหมายห้ามเยาวชนแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบจริงจัง การเก็บชั่วโมงบิน หรือประสบการณ์การแข่งขันในประเทศอิตาลีก็เทียบกับประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากเมืองไทยเปี่ยมด้วยเวทีมวยให้โชว์ฝีมือ แถมคู่ต่อสู้ยังเป็นนักชกมวยมาตั้งแต่จำความได้




มวย1.JPG
  • มาเธียส กัลโล่ คาสซาริโน่ นักชกสัญชาติอิตาเลียน อายุ 25 ปี กำลังอยู่ระหว่างการฝึกซ้อม ณ ค่ายเซเว่นมวยไทยยิม จังหวัดระยอง เมื่อวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2561

“พ่อผมเคยเป็นนักมวยคิกบ็อกซิ่งมาก่อน พ่อบอกกับผมด้วยว่า หากอยากเป็นแชมป์ต้องเริ่มเร็ว มาฝึกตอนอายุ 14-15 ปี ไม่ทันแล้ว อย่างกีฬาที่คนอิตาเลียนนิยมมากคือ โมโตจีพี นักบิดเริ่มฝึกตั้งแต่ 6 ขวบ แต่แปลกตรงที่เด็กขี่มอเตอร์ไซค์ได้ ล้มได้ คนยุโรปมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเป็นการต่อสู้ ทำไม่ได้ ไม่สามารถชกจริงจัง คือต่อยกันได้ แต่หากปะทะกันแรงกรรมการจะยุติการชกทันที ซึ่งผมไม่ชอบต่อยแบบนั้น เพราะเหมือนไม่ได้อะไร เล่นเชิงที่ค่ายดีกว่า ในไทยเริ่มชกเร็ว ชกบ่อย ถ้าเป็นมวยงานวัดวันหนึ่งเด็กไทยต่อยได้ 2 ครั้งเลยด้วยซ้ำ แต่เขานวมใหญ่ ตัวเล็ก เลยไม่เจ็บมาก

สมัยก่อนอิตาลีจัดการแข่งขันชกมวย 1 ครั้ง ต่อ 3-4 เดือน เพราะไม่มีเวทีมวยไทย ส่วนมากจะดัดแปลงจากสนามบาสเกตบอล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จัดบ่อยไม่ได้ แต่ในไทยเวทีเยอะจนต่อยได้ทุกวัน (หัวเราะ) ที่จริงก็ไม่ได้หรอกเขากำหนดให้ต่อยห่างกัน 21 วัน

เมื่อก่อนอิตาลีไม่มีพื้นที่เฉพาะมวยไทย มีแต่ฟิตเนสใหญ่ๆ ที่มีกีฬาหลากหลายให้เลือกเล่น ตอนนี้เริ่มมียิมมวยไทยเปิดขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ ‘ค่ายมวยไทย’ ไม่มี ทุกคนจะมาซ้อมที่ยิมกลับไปกินข้าวข้างนอก ไปนอนที่บ้าน ไม่ได้กินนอนที่ค่ายเหมือนที่นี่” มาเธียสบอกความแตกต่างของการฝึกมวยไทยในต่างประเทศ

ตลอดระยะเวลามากกว่า 12 ปี มาเธียส และพ่อของเขาผ่านการฝึกซ้อมกับค่ายมวยต่างๆ มาแล้วมากมาย การเดินทางไปยังค่ายต่างๆ ทำให้พวกเขาเห็นทั้งแง่ดี และแง่ลบ จากนั้นเมื่อสบโอกาสลงมือทำค่ายเป็นของตัวเอง ครอบครัวคาสซาริโน่จึงตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำเสนอแต่แง่มุมของมวยไทยพี่พวกเขาชื่นชอบ

แน่นอนว่า เมื่อตัดสินใจเปิดค่ายมวย น้ำเลี้ยงอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ รายรับจากนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสมวยไทย แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเสมอคือ การฝึกซ้อมแบบ ‘จริงจัง’ คือผู้มาฝึกซ้อมต้องเก่งขึ้นเมื่อก้าวเท้าออกจากค่าย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“เซเว่นมวยไทยยิมไม่ได้มีนักชกอาชีพอย่างเดียว ยังมีนักท่องเที่ยวมาฝึกด้วย แต่ทุกคนที่เข้ามาฝึกต้องซ้อมหนัก ต้องเหนื่อย เทคนิค และร่างกายต้องดีขึ้น เราอยู่จังหวัดระยอง ที่นี่ไม่มีอะไรเลย คนมาซ้อมก็นึกถึงแต่มวยเท่านั้น บางค่ายที่ภูเก็ต พัทยา หรือกรุงเทพฯ จะซ้อมแค่นิดหน่อย ค่ายมวยแนวท่องเที่ยวหลายแห่งซ้อมกันแบบพอเหนื่อย เตะเป้า 3 ยก พอเป็นพิธี ชาวต่างชาติพอกลับบ้านไปก็เหมือนไม่ได้เรียนอะไรเลย แต่ที่นี่ต้องซ้อมหนัก ซ้อมเหมือนนักมวยจริง

ตอนเปิดค่ายแรกๆ มีปัญหาเยอะมาก เพราะเราเป็นชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ ปัญหาอันดับแรกเลยคือ พนักงาน ครูฝึกหายาก และอยู่ไม่นาน ทำงาน 2 เดือนพอมีเงินในกระเป๋า บางคนก็กลับบ้าน หรือไปทำงานที่อื่น ส่วนมากเวลาเจ้าของไม่อยู่บรรยากาศในค่ายจะเป็นคนละเรื่องทันที เทรนเนอร์จะไม่ทำตามที่เจ้าของสั่งไว้ ผมกับพ่อเราอยู่ไทยมา 12 ปี เก็บประสบการณ์มาจำนวนหนึ่งจากหลายค่ายทั้งในกรุงเทพ อีสาน เกาะสมุย หรือภูเก็ต แต่ละค่ายจะมีทั้งข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกันไป เราพยามทำสิ่งที่เราชอบเท่านั้น

อีกอย่างคือ ‘กฎหมาย’ บางคนบอกว่า ประเทศไทยทำอะไรง่ายกว่า เพราะไม่เคร่งครัดเท่ายุโรป แต่มันต่างกันมากๆ ที่นี่พวกผมต้องมีหัวหน้าใหญ่เป็นคนไทย ถ้าไม่มีก็เปิดค่ายไม่ได้ ชาวต่างชาติจะมาทำธุรกิจต้องมีคนไทยที่ไว้ใจได้เต็มร้อยเหมือนคนในครอบครัว” กำปั้นหนุ่มชาวอิตาเลียนอธิบาย

มวยไทย คือกีฬา��ระจำชาติของประเทศไทย แต่ความนิยมต้องเรียกว่า ยังห่างจากกีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอล หรือวอลเลย์บอลอยู่หลายช่วงตัว แต่คนในวงการก็ไม่นิ่งนอนใจ ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเริ่มเปลี่ยนแปลงกติกา เพื่อเพิ่มความน่าตื่นเต้น และเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เซียนมวย หรือแฟนมวย ทำความรู้จักกับผืนบ้าใบ และสังเวียนให้มากขึ้น

แต่ก่อนคนไทยจะคิดว่า มวยเป็นกีฬาของคนจน ส่วนคนที่มีเงินจะไปดูฟุตบอล

“แต่ก่อนคนไทยจะคิดว่า มวยเป็นกีฬาของคนจน ส่วนคนที่มีเงินจะไปดูฟุตบอล คนที่ชอบมวยแต่เดิมมีอยู่สองประเภท กลุ่มแรกคือเซียนมวย ไปสนามเพื่อเล่นมวย (พนัน) อย่างเดียว กลุ่มที่สองคือ ดูผ่านทีวี หรือไปที่สนาม ดูเป็นกีฬา ดูเพราะอยากเห็นคนต่อยกัน

แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว มวยไทยกำลังเดินไปข้างหน้า มีรายการแข่งขันแบบ 3 ยก ที่ทำให้การต่อยกระชับลง ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหันมาดูมวยมากขึ้น แต่มันไม่ใช่มวยไทย 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อก่อนมวยไทยจะชกกัน 5 ยก ยกแรกๆ จะเน้นไปที่การดูเชิง คนที่ไม่ได้รู้จักมวยไทยลึกมากจะเบื่อ เพราะไม่ทำอะไรกันสักที พอเปลี่ยนกติกายกแรกก็ต่อยกันแล้ว มันดีสำหรับคนที่ดูเพราะสนุก แต่ไม่มีการดูจังหวะ ไม่มีเชิงมวย ผมว่ามันเสียศิลปะไปนิดนึง

ในยุโรปไม่มีการเล่นมวยที่สนามแบบเมืองไทย มีร้านพนันเปิดให้ไปเล่นต่างหาก ผมว่าการเล่นมวยที่ไทยมันก็มีทั้งดีและไม่ดี อย่างที่ดีคือ เวลาเราชกมวยจะได้ยินเสียงเชียร์ดังมาก ที่ยุโรปไม่มีนะ คนจะนั่งดูกันเงียบๆ ได้ยินแค่พี่เลี้ยงพูดจากมุมแค่นั้น แต่ที่ไทยทั้ง 500 คน ส่งเสียงเชียร์หมดเลย สำหรับนักมวยมันดีมาก

ส่วนข้อเสียคือ บางครั้งเวลาคนใหญ่คนโตมาเล่นมวยจะมีส่วนกับการตัดสินใจของกรรมการ

ส่วนข้อเสียคือ บางครั้งเวลาคนใหญ่คนโตมาเล่นมวยจะมีส่วนกับการตัดสินใจของกรรมการ เวลาฝรั่งดูมวยผ่านวิดีโอเขาคิดว่า ฝ่ายแดงจะชนะแน่ๆ แต่กรรมการกลับชูมือฝ่ายน้ำเงิน การตัดสินที่เมืองไทยค่อนข้างต่างจากเมืองนอก เพราะเขาตัดสินสำหรับคนเล่นมวย

เมืองไทยยก 1 กับ ยก 2 ไม่มีคะแนน ถ้าไม่มีใครน็อก หรือเป็นอะไรฝ่ายแดงกับน้ำเงินได้ 10 คะแนนทั้งคู่ เมื่อไม่มีใครชนะในสองยกแรกจะไปชนะได้ในยก 3 ยก 4 ไม่ว่าสองยกแรกออกอาวุธแค่ไหนก็ไม่มีผล ยก 3 เตะลำตัวไม่กี่ครั้ง ยก 4 ปล้ำเชิงสักหน่อยก็ชนะแล้ว ยก 5 ไม่ต้องเดินหน้าก็เล่นๆ กันไม่ได้ต่อย ฝรั่งงงว่าทำไมนักมวยไม่ชกกัน บางคนบอกว่าไม่ใช่กรรมการที่ตัดสินมวย แต่เป็นเซียนมวยที่ตัดสิน” มาเธียสท้ิงท้าย




Untitled-1.jpg

นักมวยหน้าเก่า บนสังเวียนใหม่

เดซี่ โรวิรา (Desiree Rovira) นักชกหญิงจากสเปนในวัย 21 ปี ที่เดินทางมาฝึกมวยตามความฝันของตัวเองที่ประเทศต้นกำเนิดมวยไทย เธอบอกกับเราตั้งแต่ประโยคแนะนำตัวว่า เลือกมาที่นี่เพราะอยากฝึกมวยให้ดีมากยิ่งขึ้น และเป้าหมายของเธอคือ การเทิร์นตัวเองเป็นนักมวยฝีมือดีที่สุดของประเทศสเปน

ก่อนหน้านี้ เดซี่ฝึกมวยไทยมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี เธอว่าการฝึกฝนอย่างหนัก ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นสำหรับการก้าวไปข้างหน้าในอาชีพ หลังจากเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ในการขึ้นเวทีครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยิ่งยืนยันความตั้งใจครั้งนี้ให้ชัดเจนขึ้นไปอีกลำดับหนึ่ง

“คุณลองนึกภาพการชกกับนักมวยที่ฝึกมา 10 ปี ในขณะที่คุณซ้อมได้ 4 ปี มันน่าพึงพอใจมากกว่าการเอาชนะที่สเปน บางครั้งที่สเปนคุณหานักมวยหญิงมาต่อสู้ได้ยาก เพราะไม่มีใครน้ำหนักพอๆ กับคุณ แต่มันต่างกันโดยสิ้นเชิงสำหรับเมืองไทย ที่สามารถหาคู่ต่อสู้ได้ง่ายมาก” เดซี่กล่าว

แม้การเดินทางข้ามทวีป เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักมวย จะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และน่าหวาดกลัวไปพร้อมๆ กัน แต่สำหรับเดซี่ การตัดสินใจครั้งนี่ไม่ใช่เรื่องยากลำบาก และเธอยินดีจะต้องทิ้งงานที่เคยทำ เพื่อขึ้นสังเวียนใหม่ในอีกซีกโลก




มวย2.JPG
  • เดซี่ โรวิรา นักชกสัญชาติสเปน อายุ 21 ปี กำลังโชว์รอยสักรูปมงคลมวย ณ ค่ายเซเว่นมวยไทยยิม จังหวัดระยอง เมื่อวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2561

“การมาซ้อมมวยที่ไทย เป็นความคิดที่ฟังดูแปลกประหลาดสำหรับครอบครัวของฉัน และพวกเขายังไม่เข้าใจทางเดินนี้ โชคดีที่เพื่อนของฉันเข้าใจ และสนับสนุนอย่างเต็มที่ ที่จริงมันเป็นเรื่องยากที่ต้องออกจากงาน ก่อนหน้านี้เคยทำงานช่วยเหลือเยาวชนเกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ชอบมาก แต่จำเป็นต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดโดยเฉพาะสิ่งที่ตัวเองเลือก” นักชกสาวเล่าให้ฟัง

เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยเดซี่ค้นพบทันทีว่า กีฬาประเภทเดียวกันมีแง่มุมที่ต่างกันอยู่ไม่น้อย เธอบอกว่ามวยไทยในประเทศของเราถูกให้ความสำคัญมากกว่าในสเปน และการเอาชนะนักมวยที่นี่ได้ก็มีความสำคัญมากสำหรับเธอ และถ้าคุณต้องการทำอะไรสักอย่าง ไม่ควรมีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น

ที่สเปนมวยคือ ‘งานอดิเรก’ แต่ที่ไทยคือ ‘อาชีพ’ มวยไทยเป็นสิ่งที่ฉันต้องการ ฉันอยากอยู่ที่นี่ เรียนรู้ ฝึกฝน และกลายเป็น ‘นักมวย’ ที่ดีขึ้น”

“การฝึกที่ประเทศไทยมีความจริงจัง และต่อเนื่องมากกว่า ในสเปนคุณซ้อมแค่วันละ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ตอนนี้ในประเทศไทยฉันซ้อมมากถึง 6-7 ชั่วโมงต่อวัน ที่นั่นมวยคือ ‘งานอดิเรก’ แต่ที่ไทยคือ ‘อาชีพ’ มวยไทยเป็นสิ่งที่ฉันต้องการ ฉันอยากอยู่ที่นี่เรียนรู้ ฝึกฝน และกลายเป็น ‘นักมวย’ ที่ดีขึ้น”

เดซี่เล่าว่า เธอชอบการท่องเที่ยว และพบปะผู้คน หากมีเวลาว่างหลังซ้อม หรือขึ้นชกการเดินทางไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าแปลกสำหรับหญิงสาวในวัย 21 ปี แววตาของเดซี่ เมื่อพูดถึงกรุงเทพฯ เกาะสมุย หรือ พัทยา ไม่ได้เป็นประกายเท่ากับตอนถามว่า เป้าหมายของเธอในประเทศไทยคืออะไร?

“ฉันต้องการฝึกให้หนัก และอย่างที่บอกไปว่า ฉันอยากเป็นนักมวยไทยที่เก่งกาจที่สุด จากประเทศสเปน สำหรับที่นี่ฉันอยากให้คนอื่นมองในฐานะนักมวย มากกว่าเป็นฝรั่งคนหนึ่งในประเทศไทย”

เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่นๆ ตัวตนของนักชกจากสเปนผู้นี้ข้างล่างเวทีดูราวกับเป็นคนละคน เดซี่เล่าว่าหน้าตา และท่าทางจะเปลี่ยนไปเมื่ออยู่บนเวที มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะกีฬามวยคือ การต่อสู้ เธอเล่าว่าเวลาอยู่บนเวทีเธอจะคิดถึงครอบครัว แต่เสียงเดียวที่เธอได้ยินคือ คำแนะนำจากพี่เลี้ยง

“การขึ้นชกเต็มไปด้วยความกังวลใจ ซึ่งไม่ใช่ความเจ็บที่เป็นห่วง แต่มันเป็นกังวลว่าจะทำได้ไม่ดีพอ และมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักมวยเพียงอย่างเดียว มันเกี่ยวโยงไปถึงพี่เลี้ยง และค่ายมวยด้วย ทว่าความกังวลทั้งหมดจะหายไปทันทีที่เสียงระฆังดังขึ้น ฉันจะฟังแต่เสียงพี่เลี้ยงเท่านั้นเวลาขึ้นชก ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีทีสุด เมื่อการชกจบลงสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความพอใจของฉันเอง” เดซี่กล่าวทิ้งท้าย

On Being
198Article
0Video
0Blog