ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านมา 3 สัปดาห์แล้วสำหรับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม กลับมามี ‘อำนาจเต็มมือ’ อีกครั้งในฐานะ ผอ.ศบค.

หลังพ้นจากการเป็นหัวหน้า คสช.ที่มี มาตรา 44 เป็นอาญาสิทธิ์สำคัญในการปลดล็อคสิ่งต่างๆ จนทำให้ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในนามคณะก้าวหน้า ชี้ว่าเป็นการ ‘รัฐประหารโควิด’ นั่นเอง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันว่าไม่ได้ลดทอนอำนาจรัฐมนตรีก็ตาม

สิ่งที่ตอกย้ำคือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 9/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 33 คน ที่แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้มีอำนาจกลั่นกรอง ควบคุม การบริการจัดการพัสดุ และเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย พิจารณากลั่นกรองการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 และเวชภัณฑ์ป้องกัน ตลอดจนสินค้าหน้ากากอนามัยของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้เหมาะสม

แต่กลับไม่มีไม่มีตำแหน่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค และอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นคณะกรรมการ ทำให้มีการวิจารณ์กันว่า ศบค.ได้ยึดอำนาจกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว

อนุทิน ประยุทธ์ 200414162342000000.jpg

จนสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกคำสั่งเพิ่มเติม เพื่อ ‘แก้เกี้ยว’ ออกมา นั่นก็คือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 12/2563 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 9/2563 โดยแก้คำสั่งตั้ง "ปลัดกระทรวงสาธารณสุข" นั่งรองประธานคนที่ 1 ฝ่ายยา-เวชภัณฑ์-เครื่องมือแพทย์ พร้อมตั้ง “อธิบดีกรมควบคุมโรค-ผู้แทนสมาคม รพ.เอกชน" นั่ง ‘กรรมการ’ เพิ่ม ในคณะกรรมการชุดใหญ่ เฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโควิด-19

รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ค่อยๆ ฟื้นสัมพันธ์กับ ‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข โดยสัปดาห์นี้ต่างออกงานร่วมกัน ทั้งการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบ VDO Conference ซึ่งมี ‘ดอน ปรมัตถวินัย’ รมว.การต่างประเทศ นั่งข้าง นายกฯ

แต่ที่ถูกโฟกัสคือการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รพ.ศิริราช ด้วยกัน เพื่อเยี่ยมชมการใช้งานระบบ AI ที่ติดตั้งเป็นอุปกรณ์ช่วยแพทย์-พยาบาลวิเคราะห์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยนายกฯ ได้กล่าวติดตลกกับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับแซว ‘เสี่ยหนู’ ที่ทำให้ถูกตีความไปไกล ว่าทีเล่นทีจริงหรือพูดดักไว้ก่อนกันแน่

“เราสามารถคุยกันได้ในฐานะที่อยู่ในระดับบริหารด้วยกัน ซึ่งผมมองแบบนี้ และวันหน้าก็ฝากไว้ด้วย เผื่อคุณหมอคนไหนที่จะมาเป็น นายกฯ ซึ่ง หมอหนู ก็มีสิทธิ โอเคนะ อย่าพูดกันไปมา เพราะประเทศไทย ชอบหาจำเลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ซึ่งที่ผ่านมา ‘อนุทิน’ ก็เคยเกือบ ‘ส้มหล่น’ ได้เป็น นายกฯ ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว หลังพรรคเพื่อไทยหวังปิดเกม พล.อ.ประยุทธ์ รวมพลังพรรคภูมิใจไทยกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน ในการดัน ‘อนุทิน’ เป็น นายกฯ

แต่สุดท้ายก็เป็นเพียง ‘โมเดลเปล่า’ เพราะเป็นที่รู้กันว่า ‘อนุทิน’ เลือกซบพรรคพลังประชารัฐแน่นอน หลังเกิดเหตุการณ์ ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ ที่มี ‘อาฟเตอร์ช็อก’ ตามมาหลายลูก อีกทั้ง ‘เสี่ยหนู’ ก็เป็นที่ร่ำลือมาเสมอว่ามี ‘ซูเปอร์คอนเน็กชัน’ อยู่ด้วย

อนุทิน สุดารัตน์ 003.jpg

แต่หลังจบวิกฤตโควิด-19 ก็ได้เวลาสะสาง ‘ศึกในพรรคร่วม รบ.’ แน่นอน

ระหว่าง 3 ก๊ก 3 พรรคใหญ่ หลัง ‘บิ๊กตู่’ รวบอำนาจสู่กับโควิด ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงชื่อ ‘นายกฯ สำรอง’ ขึ้นมาอยู่เนืองๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังมีอยู่

แต่ในเวลานี้การจะ ‘เปลี่ยนม้ากลางศึก’ เป็นไปได้ยาก เพราะกำลังเจอกับวิกฤตโควิด ดังนั้นการทำหน้าที่ นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะสิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย.นี้ ซึ่งก็คือสัปดาห์หน้า หากจะต่ออายุหรือสิ้นสุดตามกำหนดนั้น รวมทั้งมาตรการเคอร์ฟิว ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศบค.โควิด-19 ที่ต้องประเมินในหลายๆ เรื่อง

แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยจะลดลงก็ตาม ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเบื้องต้นว่า เรื่องการผ่อนปรนต่างๆ จะต้องมีการพิจารณา รัฐบาลทราบดีถึงความเดือดร้อน โดยจะมีการประเมินในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเม.ย.นี้ เพราะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด หากขาดความร่วมมือและหย่อนวินัย โรคระบาดจะกลับมาโจมตีได้อีก

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอให้ทุกฝ่ายประเมินภาพรวมการทำงานที่ผ่านมาว่า Best and Worst Case จะเป็นอย่างไร จะมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว อนุโลม และเข้มงวดในเรื่องใดบ้าง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางร่วมกัน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ในการประเมินมาตรการผ่อนคลาย

ด้าน ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้โยน พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจง เพราะเป็นอำนาจพิจารณาของนายกฯ และต้องอาศัยตัวชี้วัดหลายตัวถึงจะบอกได้ว่าควรจะผ่อนผันหรือเข้มงวดมากขึ้น โดยรัฐบาลคงจะคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ ต้องใช้ระยะเวลาประเมินพิจารณา

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คุมการสื่อสาร โดยจำกัดผู้ที่จะออกมาแถลงข่าวต่างๆ โดยมี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.เป็นหลัก ซึ่งเป็นเวลากว่า 2-3 สัปดาห์แล้ว ที่สื่อไม่ได้โต้ตอบคำถามต่างๆกับนายกฯ ด้วยมาตรการที่ทางทำเนียบฯ ขอความร่วมมือ หลังพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ศูนย์โควิด-19 ที่ ทำเนียบฯ ติดเชื้อโควิด

ประยุทธ์ โควิด โคโรนา 316111603000000.jpg

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้มาตรการ Single Voice ทางการสื่อสาร แต่ก็ยังพบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เอง ที่ไม่ต้องพบปะกับสื่อโต้ตอบกันไปมา

แต่สุดท้ายก็ ‘พลาดพลั้ง-พูดไม่เคลียร์’ จึงต้องออกมาขอโทษที่ทำให้ประชาชนสับสน ในกรณีการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ไประบุว่าสามารถแจกได้เพียงเดือนเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วได้ทั้ง 3 เดือน แต่ที่มาของเงินนั้นคนละก้อนกัน อีกทั้งได้กล่าวขอโทษขณะตรวจเยี่ยม รพ.ศิริราช กับแพทย์-พยาบาลด้วยว่า ‘นิสัยทหาร’ อาจพูดจาไม่ค่อยเข้าหูคนบ้าง

"ต้องขอโทษด้วย ถ้ามีอะไรที่ทำให้พวกเราไม่สบายใจ ผมอาจจะติดนิสัยแบบนี้ แบบของผม คือเป็นทหารบ้างอะไรบ้าง บางทีพูดจาไม่ค่อยเข้าหูคนบ้างอะไรบ้าง แต่ผมเข้ารายละเอียดมากเกินไป ซึ่งมันไม่เหมาะสมกับการที่จะมาพูด เป็นนักการเมืองยังไม่ค่อยได้ใช่ไหม คือผมอยากให้คนเข้าใจ แต่ก็กลายเป็นถูกบิดเบือนเลยไม่พูดดีกว่า พูดทีไรก็มีปัญหาทุกที" นายกฯ กล่าว

ทั้งหมดนี้แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะคุมเบ็ดเสร็จ ก็ยังพบกับปัญหาต่างๆ หากจะกล่าวว่าปัญหาอยู่ที่ระบบเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถกล่าวเช่นนั้นได้ แต่อยู่ที่ ‘ผู้นำ’ และ ‘องคาพยพ’ ซึ่งปัญหาที่เกิดกับการบริหารจัดการโดยหลักการแล้วก็อยู่ที่ทั้ง ‘คน’ และ ‘ระบบ’ นั่นเอง

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีเวลาพิสูจน์ตัวเอง หลังจัดการกับการแพร่ระบาด จนจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลง

แต่ปัญหาที่เปรียบเป็น ‘ระเบิดเวลา’ รอถูกจุดชนวนต่อไป คือ มาตรการเยียวยาต่างๆ เช่น การแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท กับแรงงานนอกระบบ แค่เพียงลงทะเบียนก็สร้างแรงสะเทือนเสียแล้ว ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย ฝั่งพรรคก้าวไกลก็ออกมา ขอให้รัฐบาลเปลี่ยน Mindset ว่าเงินเป็นของประชาชน รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของ แต่มีหน้าที่มาจัดสรรเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะแก้ปัญหาได้ไม่คลอบคลุมและไม่ตรงจุด

อย่างไรก็ตาม มีการมองว่าการใช้ ‘อำนาจเบ็ดเสร็จ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้รัฐบาลมีอาการเป๋น้อยลง ลดปัญหาต่างคนต่างทำ ออกคำสั่งแก้เกี้ยวได้ สไตล์การพูดต่างๆ คล้ายกับยุค คสช. แม้จะไม่มี มาตรา44 ก็ตาม

เพราะเป็น ‘Nature’ ของ ‘บิ๊กตู่’ นั่นเอง !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog