ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. เห็นชอบให้เรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 190 MHz จาก อสมท กองทัพบก และกองทัพไทย เพื่อนำมาประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (5 มี.ค. 2562) ที่ประชุม กสทช. ได้รับทราบรายงานการวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมทั้งเห็นชอบการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวนรวม 190 MHz

โดยเรียกคืนจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 154 MHz กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก และกรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย รวม 2 หน่วยงานอีก 12 MHz ที่เหลือเป็นคลื่นว่างที่ไม่มีการใช้งาน เพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดวันสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็น 45 วันนับจากวันที่ กสทช. มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการยุติการใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืน โดยในระหว่างดำเนินการให้สามารถใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืนดังกล่าวไปพลางก่อนได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วันนับจากที่ กสทช. มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่

โดยมีมติอนุมัติสำรองค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย รายการเงินงบกลางของสำนักงาน กสทช. ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในการนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในย่านความถี่ดังกล่าว จำนวน 3 ชุด รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,500,000 บาท และเมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ เสร็จสิ้นแล้ว ให้ดำเนินการหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวจากเงินรายได้ที่ได้รับจากการประมูล

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเฉพาะ (Regulatory Sandbox) หรือที่เรียกว่า ประกาศ Sandbox และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยประกาศฉบับนี้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนการทดลอง และทดสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G โดย กสทช. จะอนุญาตให้ใช้ความถี่ในพื้นที่เฉพาะ เป็นกรณีพิเศษโดยไม่ใช้กฎระเบียบปกติ เพื่อให้มีการทดสอบนวัตกรรมใหม่ที่ใช้คลื่นความถี่ในพื้นที่นั้นๆ แต่พื้นที่ที่เราเรียกว่า Sandbox นี้ จะจำกัด อาทิเช่น พื้นที่ที่เป็นสถานศึกษาที่มีการศึกษาแบบสหวิทยาการ 

ตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากประกาศที่มีอยู่เดิมมีข้อจำกัดมาก เมื่อประกาศฉบับนี้ออกมากรณีนำเข้านำออก เพื่อทดลองทดสอบจะได้รับการยกเว้นเพื่อเอื้อต่อการทดลองทดสอบ จะได้ไม่ต้องมาขออนุญาตมาก หน่วยงานต่างๆ รายย่อย สามารถขอใช้ความถี่เพื่อการทดลองทดสอบได้ไม่ใช่เฉพาะโอเปอเรเตอร์รายใหญ่เท่านั้น รวมถึงภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องก็สามารถขอใช้คลื่นนี้ได้

เช่น เอสเอ็มอีรายย่อย หรือนักพัฒนารายย่อยก็สามารถขอใช้คลื่นได้ อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรมขนส่ง การแพทย์ ก็สามารถขอใช้คลื่นได้ เอื้อเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากจ่ายแค่ค่าธรรมเนียมการขอใช้คลื่นแค่ 5,000 บาททุกราย การขอใบอนุญาต และขยายเวลาในการใช้งานคลื่นเพื่อทดลองทดสอบจากเดิมอนุญาตแค่ 270 วันเป็น 720 วัน หรือ 2 ปีโดยประมาณ

นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบกรอบระยะเวลาดำเนินการและกรอบวงเงินงบประมาณการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 68,000,000 บาท เพื่อเป็นการนำร่องในการทดลองทดสอบใช้เทคโนโลยี 5G โดยจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบและติดตั้งโครงข่าย 5G บนพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสยามสแควร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย โดยเป็นการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน กทปส. ซึ่งเรื่องนี้จะส่งให้บอร์ดกองทุน กทปส. จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป

นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติเห็นชอบให้เรียกเก็บเงินรายได้ขั้นต่ำจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 850 MHz ในช่วงระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2561 จนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามจำนวนเงินที่บริษัทฯ รายงานในรายการคำนวณค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 603,806,875 บาท โดยแบ่งเป็นเงินรายได้ในช่วงระยะเวลา 16 ก.ย. 2561 ถึง 31 ต.ค. 2561 เป็นเงิน 329,659,607 บาท และเป็นเงินรายได้ช่วง 1 พ.ย. 2561 ถึง 15 ธ.ค. 2561 เป็นเงิน 274,174,268 บาท

ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้คณะทำงานตรวจสอบเงินรายได้แผ่นดินฯ ดำเนินการตรวจสอบจำนวนเงินรายได้ค่าใช้จ่าย และดอกผลจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 โดยเงินรายได้จากการให้บริการที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทฯ เคยนำส่งภายใต้สัญญาสัมปทาน ณ วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน หากมีเงินนำส่งรายได้ที่ต้องนำส่งเพิ่มเติมให้เรียกเก็บเงินส่วนต่างเพิ่มเติม และนำเสนอผลการพิจารณาของคณะทำงานตรวจสอบเงินรายได้แผ่นดินต่อ กสทช. พิจารณาต่อไป

เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบแนวทางในการนำค่าใช้จ่าย ในส่วนของค่าเช่าท่อร้อยสายใต้ดิน และค่าดำเนินการนำสายสื่อสารลงดิน มาหักลดหย่อนจากรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (USO) (กรณีค่าใช้จ่ายในการนำสายสื่อสารลงดิน) ได้โดยแต่ละบริษัทสามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท ต่อปี ต่อหนึ่งบริษัท และการหักลดหย่อนดังกล่าวต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการสื่อสารนำสายลงดินและจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายรัฐบาล