ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดัน 3 สารพิษ ออกนอกแล้ว 1.5 ล้านลิตร พร้อมตั้งข้อสังเกตการเสนองบเยียวยาเกษตรกรสูงเกือบ 4 หมื่นล้าน

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตร ได้เคยเสนอขอขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน ในการจัดการสต็อกสารเคมี ก่อนมีมติแบนสาร 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมกรมวิชาการเกษตร ยังเสนอต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบยกเลิกใช้ 3 สาร ที่มีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ชุดที่แต่งตั้งโดยรมว.เกษตรฯ เข้าใหม่อีกรอบ 

อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเสนอตัวเลขงบเยียวยากว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ชดเชยค่าต้นทุนการผลิตที่คาดว่าจะสูงขึ้น ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดกว่า 5.2 แสนครัวเรือน และยังไม่รวมจำนวนเกษตรกรสวนยาง อาจจะทำให้มีงบเยียวยาเพิ่ม 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตั้งข้อสังเกตตัวเลขงบเยียวยาและจำนวนเกษตรกร ทำไมจึงสูงมาก เพราะในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ตนดูแลได้สั่งให้ไปหามาตรการรองรับช่วยเกษตรกร ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ทั่วประเทศ กว่า 700 แห่ง ของบช่วยเหลือมาเพียง 100-200 ล้านบาท ในการจัดหาเครื่องจักรกำจัดวัชพืช และจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกพืช 6 ชนิด ข้าวโพด ยาง มัน ปาล์ม อ้อย ไม้ผล มีกว่า 1 แสนรายที่ได้รับผลกระทบ ที่ตนจะเสนอเข้าครม.

"หากยึดความถูกต้อง เอาความจริงมาพูดกัน จะสามารถทำทุกอย่างให้เกิดประโยชน์กับประชาชนเกษตรกร ประเทศชาติได้สูงสุด ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ไม่อย่างนั้น จะไม่ได้เริ่มอะไรใหม่ๆ ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงกับคนไทย โดยมติแบน 3 สารมีผลวันที่ 1ธ.ค. 2562 นี้ ขอให้มาร่วมมือกันกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทยและไม่อยากให้มีการดำเนินคดีกับเกษตรกร ทุกหน่วยงานจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจส่งสารคืนบริษัทต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ทั้งนำเข้า ส่งออกไม่เสียภาษีเลย ทั้งนี้เราไม่ได้ทำเพื่อใคร เราทำเพื่อพี่น้องประชาชน เกษตรกร ในวันที่ 25 พ.ย.นี้จะเชิญสหกรณ์จังหวัด 77 จังหวัด มาฟังมาตรการกำกับดูแลการเก็บคืน 3 สาร ให้ลงพื้นที่ทันที ช่วยให้เกิดเข้าใจอย่างทั่วถึง" รมช.เกษตรฯ กล่าว

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า เตรียมลงนามอนุญาตให้เอกชนที่ครอบครองสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้เป็นสารเคมี วอ.4 ห้ามผลิต จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง นำเข้า ส่งออก หลังวันที่ 1 ธ.ค. 2562 จะมีผลบังคับใช้ เพื่อขณะนี้สามารถส่งไปประเทศที่ 3 หรือประเทศต้นทาง โดยขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ออกใบอนุญาตส่งออกให้แล้ว ซึ่งจะดำเนินให้ทุกฉบับที่ขอส่งออกไปต่างประเทศ โดยวัตถุอันตรายทั้งหมด 60 ฉบับ ปริมาณทั้งหมด 2,829,913 ลิตร

ประกอบด้วย 1. พาราควอตไดคลอไรด์ 5 ฉบับ ปริมาณ 1,480,000 ลิตร 2. ไกลโฟเซต-ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม 2 ฉบับ ปริมาณ 9,552 ลิตร 3. คลอร์ไพริฟอส + ไซเพอร์เมทริน 1 ฉบับ ปริมาณ 12,480 ลิตร 4. คลอร์ไพริฟอส 1 ฉบับ ปริมาณ 13,860 ลิตร 5. สารชนิดอื่น 51 ฉบับ ปริมาณ 1,314,021 ลิตร ยอดรวม 3 สาร 1,515,892 ลิตร

อ่านเพิ่มเติม