ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติโยกวงเงิน 262 ล้านบาท จากชิมช้อปใช้กระเป๋า 1 ไปใช้ในกระเป๋า 2 หลังกระทรวงคลังรายงานมีผู้ได้รับสิทธิ์ 14.3 ล้านราย ใช้สิทธิ์รวม 11.8 ล้านราย ยอดใช้จ่าย 21,546 ล้านบาท

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ธ.ค. 2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณวงเงินสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริม "ชิมช้อปใช้" (มาตรการส่งเสริมฯ) และมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ "ชิมช้อปใช้" (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ) g-Wallet ช่อง 1 ซึ่งมีงบประมาณคงเหลือจำนวน 262,003,000 บาท เป็นเงินชดเชยค่าซื้อสินค้าและบริการผ่าน g-Wallet ช่อง 2 แทน

เนื่องจากกระทรวงการคลังรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการชิมช้อปใช้ว่าในกระเป๋าช่องที่ 1 ว่ามีการใช้เงินไปแล้วทั้งหมด 11,737.997 ล้านบาท จากวงเงินที่ขออนุมัติจากครม.ไป 12,000 ล้านบาท ทำให้กระเป๋าที่ 1 มีเงินคงเหลือ 262 ล้านบาท กระทรวงการคลังจึงเสนอขออนุมัติเพื่อให้ใช้วงเงินส่วนนี้สำหรับเป็นเงินค่าชดเชยสินค้าและบริการในกระเป๋าช่องที่ 2 เนื่องจากมีผู้ใช้เงินในช่องที่ 2 เพิ่มมากขึ้น โดยตัวเลขล่าสุด (17 ธ.ค.2562) มีการใช้เกิน 13,000 ล้านบาทไปแล้ว ดังนั้น ครม.จึงอนุมัติตามที่มีการเสนอ

สำหรับมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน รวมจำนวนไม่เกิน 15 ล้านคน (มาตรการส่งเสริมฯ ไม่เกิน 10 ล้านคน และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 5 ล้านคน) โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ เพื่อการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เลือกที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ผ่าน g-Wallet 

โดยรัฐบาลสนับสนุนวงเงินสำหรับบัญชี g-Wallet ช่อง 1 จำนวน 1,000 บาท ต่อคน เพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการในจังหวัดที่เลือกไว้เมื่อตอนลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" เฉพาะผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมฯ ไม่เกิน 10 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 และผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 3 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 

สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 2 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 จะไม่ได้รับวงเงินสนับสนุนดังกล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเข้าบัญชี g-Wallet ช่อง 2 เพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก รวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น ในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้านกับผู้ประกอบการร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเข้าบัญชี g-Wallet ช่อง 2 ดังนี้

  • เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)
  • เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน) 

นอกจากนี้ ยังมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 ในส่วนมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เพิ่มเติม โดย ครม. เห็นชอบให้การใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตามมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ให้สามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้านโดยให้รวมถึงค่าบริการแพ็กเกจที่พักพร้อมการเดินทางหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนค่าสินค้าและบริการผ่านระบบที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค. 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชย โดยประชาชนที่มีการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. – 30 พ.ย. 2562 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือน ธ.ค. 2562 ส่วนการใช้จ่ายเงินเดือน ธ.ค. 2562 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือนม.ค. 2563 และการใช้จ่ายในเดือนม.ค. 2563 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือนก.พ. 2563

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ (ณ 10 ธ.ค. 2562) มีผู้ได้รับสิทธิ์ 14,354,159 ราย โดยมีผู้ใช้สิทธิ์รวมเป็นจำนวน 11,787,584 ราย มียอดการใช้จ่ายทั้งสิ้น 21,546 ล้านบาท

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้รับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 10,000,000,000 บาท และเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000,000,000 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 12,000,000,000 บาท โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติและดำเนินการแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยผ่านวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน ซึ่งผลการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จากการใช้จ่ายของประชาชนผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. – 30 พ.ย. 2562 เป็นเงินทั้งสิ้น 11,737,997,000 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินคงเหลือจำนวนทั้งสิ้น 262,003,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :