ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์' ตรวจสอบนโยบายหาเสียง 3 พรรคร่วมรัฐบาล หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินผ่านไป 2 ปี เป็นอย่างไร ทำได้ ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ

2 ปีที่แล้ว ในศึกเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2564 บรรดาพรรคการเมืองมากมาย งัดกลเม็ดเด็ดๆ ขึ้นมาหาเสียง หวังโกยคะแนนความนิยมจากประชาชนให้ได้มากที่สุด

จนถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ที่เกือบ 20 พรรคการเมือง รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล อุ้มชู บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่เป็นแคนดิเดตนายกฯของ พรรคพลังประชารัฐ ที่ว่ากันว่า เป็นคนดี คนเก่ง คนมือสะอาดมาเป็นผู้นำบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่องจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2557

ตลอด 2 ปีมานี้ พรรคร่วมรัฐบาล นำโดย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชนหรือไม่ ไปดูกัน

ประยุทธ์ จุรินทร์ อนุทิน พรรคร่วมรัฐบาล


พลังประชารัฐ.jpg
  • พปชร. ทำไม่ได้ ทำไม่จริง ไม่ทำทันที

พรรคพลังประชารัฐ ประกาศนโยบาย “พลังประชารัฐ” เพื่อประชาชน ทำได้ ทำจริง ทำทันที

ชู สโลแกน หาเสียง เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ หาเสียงเสมือนว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง จะมีแต่ความสงบเรียบร้อย ไร้ซึ่งความวุ่นวายเหมือนสมัยก่อนรัฐประหารปี 2557 หรืออีกนัยหนึ่ง คือ จะไม่มีม็อบ

2 ปีที่ผ่านมา นโยบายของพรรค พปชร.ถูกขับเคลื่อนอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ การสานต่อโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ด้วยการจ่ายเงินให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นรายเดือน และเพิ่มวงเงินขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นโยบายเด่นๆ ของ พรรค พปชร.ที่ประกาศไว้ คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทต่อวัน , เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท , อาชีวะ 18,000 บาท

ทั้งนี้ เมื่อออกนโยบายใหม่ๆ เกิดเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้างว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ จนต่อมาแก๊ง 4 กุมารที่นำโดย อุตตม สานายน อดีตหัวหน้าพรรค ต้องมาแก้ตัวว่า ทำได้จริง แต่ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ในการปรับโครงสร้างค่าจ้างอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม 1 ปีหลังการตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้เหตุผลที่ไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงอย่างที่หาเสียงไว้ได้ ว่าเพราะพรรค พปชร.ไม่ได้คุมกระทรวงแรงงาน  โดย รมว.แรงงาน ช่วงเริ่มแรกคือ "หม่อมเต่า" ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย

กระทั่งมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อเดือน ส.ค.2563 พรรค พปชร.ได้เข้ามาคุมกระทรวงแรงงานถึง 2 คน คือ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน

กระนั้นวันนี้ ส.ค.2564 ผ่านไป 1 ปี หลังปรับ ครม.ก็ยังไม่มีการขึ้นค่าแรงอย่างที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง

เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ ประยุทธ์ พลังประชารัฐ สงบ ป้ายหาเสียงประยุทธ์ ลุงตู่ ป้ายหาเสียง พลังประชารัฐ  หาเสียง

อีกนโยบายที่สร้างความฮือฮาไม่แพ้กันของพรรค พปชร.คือมาตรการยกเว้นภาษีของแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ เป็นเวลา 2 ปี , ลดภาษี 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับบุคคลธรรมดา , เว้นภาษีสำหรับเด็กจบใหม่ เป็นเวลา 5 ปี

ซึ่งแม้คนในโควต้าพรรค พปชร.จะคุมกระทรวงการคลังมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ อุตตม สาวนายน ปรีดี ดาวฉาย และ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ แต่ก็ไม่มีการผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เป็นเป็นรูปธรรม

ส่วนนโยบาย “มารดาประชารัฐ” ที่พรรค พปชร.ใช้หาเสียงในการเลือกตั้ง 2562 โดยการจ่ายเงินให้ผู้ตั้งครรภ์เดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน และช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร 2,000 ต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ

แต่สุดท้าย พรรค พปชร.กลับไม่ได้ดูแลกระทรวงพัฒนาความมั่นคงและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ทำให้พรรค พปชร.มีข้ออ้างที่นโยบายดังกล่าว ซึ่งประกาศไว้ตอนหาเสียง จะไม่ถูกผลักดันให้เป็นจริง

ประชาธิปัตย์.jpg
  • “เกิดปั๊บรับแสน” ยังไปไม่ถึง

ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดดเด่นด้วยนโยบายรับประกันพืชผลทางการเกษตร มีการรับประกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าว มัน ยางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ใช้งบประมาณไปปีละกว่าแสนล้านบาท

ส่วนนโยบายด้านสวัสดิการ เช่น ประกันค่าแรง 120,000 บาทต่อปี(เฉลี่ยวันละ 400 บาท)  เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 ต่อเดือนสำหรับทุกคน เบี้ยผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน

พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ จุติ ไกรฤกษ์ นั่งเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จึงมีโอกาสสานต่อนโยบายด้านสวัสดิการ กระนั้นการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ก็ยังได้รับไม่ถึงขั้น 1,000 บาทต่อเดือน และไม่ได้จ่ายให้สำหรับทุกคนด้วย

โดยปัจจุบันมีเกณฑ์การจ่าย ดังนี้

อายุ 60-69 ปี 600 บาทต่อเดือน

อายุ 70-79 ปี 700 บาทต่อเดือน

อายุ 80-89 ปี 800 บาทต่อเดือน

อายุ 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท ต่อเดือน

ตอนหาเสียง พรรคประชาธิปัตย์ ยังประกาศนโยบาย “เกิดปั๊บรับแสน” สนับสนุนเด็กแรกเกิด 5,000 บาท จากนั้นจะให้เงินช่วยเหลือเด็กเล็ก 0-8 ขวบ เดือนละ 1,000 บาท

แต่ปัจจุบันมีการอุดหนุนเด็กแรกเกิด จ่ายตั้งแต่ 0- 6 ขวบเท่านั้น โดยจ่ายอยู่ที่เดือนละ 600 บาท ให้เฉพาะคุณสมบัติเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปี

ภูมิใจไทย.jpg
  • ภูมิใจไทย เกือบหล่อ

พรรคภูมิใจไทย นำโดย เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคค ประกาศนโยบายกัญชาถูกกฎหมาย , ทำงานนอกบ้าน 4 วัน อีก 1 วัน Work From Home , พักหนี้ กยศ.5 ปี ยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ , ให้เงินเดือน อสม. 2,500 บาท ถึง 10,000 บาท

นโยบายด้านกัญชาของพรรคภูมิใจไทย แม้จะไม่อาจผลักดันได้ถึงขั้นการใช้โดยเสรีอย่างที่ประกาศไว้ในตอนต้น แต่การปลดล็อกให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ก็ทำให้พรรคภูมิใจไทย ประสบความสำเร็จในนโนบายด้านนี้อยู่ระดับหนึ่ง เรียกว่า ยังพอเชิดหน้าชูตาได้อยู่บ้าง

ส่วนนโยบาย Work From Home แม้ไม่ได้ตั้งใจ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรื่องนี้ถูกนำมาปฏิบัติตั้งแต่ต้นปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นโยบายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น , พักหนี้ กยศ.5 ปี ยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ , ให้เงินเดือน อสม. 2,500 บาท ถึง 10,000 บาท ยังถือว่าอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง

ประยุทธ์ สภา แถลงนโยบาย รัฐสภา mplate.jpg

ขณะเดียวกัน รัฐบาลพรรคร่วมรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ โดยแถลงต่อรัฐสภา ดังนี้ 1) แก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน 2) ปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3) มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับการผันผวนของ เศรษฐกิจโลก 4) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร 5) พัฒนานวัตกรรมการยกระดับศักยภาพของแรงงาน 6) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต 7) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

8) แก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายข้าราชการประจำ 9) แก้ไขปัญหายาเสพติดและความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 10) พัฒนาระบบการให้บริการประชาชน 11) สนับสนุนให้มีการศึกษาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และดำเนินเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 12) การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ 12 นโยบายรัฐบาล ไม่สามารถเดินหน้าอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน รัฐบาลทำได้เพียงออกมาตรการเยียวยาผลกระทบและแก้ไขสถานการณ์การติดเชื้อรายวัน

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านไป 2 ปี กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มลุกคลุกคลานหลายครั้ง ยังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แม้แต่มาตราเดียว ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ในกระบวนการของรัฐสภาเพื่อแก้ไขระบบเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง