ไม่พบผลการค้นหา
ผลหารือแก้ปัญหาโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ศธ.ร่วมกับ สธ.เยียวยาเด็กและผู้ปกครอง พร้อมแจง 'อรอุมา' หรือ 'ครูจุ๋ม' เป็นแค่พี่เลี้ยงเด็ก รมช.ศธ. สั่งตั้งทีมตรวจสอบทั้งประเทศ

กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อการแก้ไขปัญหากรณีโรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์ราชพฤกษ์ หลังจาก 'อรอุมา ปลอดโปร่ง' ซึ่งสื่อหลายสำนักเรียกว่า 'ครูจุ๋ม' พนักงานของโรงเรียน ลงโทษนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ด้วยความรุนแรง โดยการประชุมในวันที่ 28 ก.ย.2563 เป็นการหารือร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการ คือ ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตำรวจ ผู้ปกครอง และโรงเรียน 

ภายหลังการประชุม กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. เปิดเผยข้อสรุปว่า ศธ.จะร่วมกับกรมสุขภาพจิต เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจร่างกายของนักเรียนและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบ โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจ และถ้าเด็กไปตรวจร่างกายและสภาพจิตใจแล้วมีค่าใช้จ่าย ทางโรงเรียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะถือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากโรงเรียน 

ทั้งนี้ต้องดูแลสภาพจิตใจของนักเรียนในโรงเรียนด้วย โดยกรมสุขภาพจิตจะเข้าไปช่วยเหลือจัดกรรมให้เด็กแสดงออกปลดปล่อยความรู้สึกต่อไป ส่วนการดำเนินคดีอาญาที่พี่เลี้ยงรายนี้ได้กระทำ ตำรวจจะเข้ามารับผิดชอบดูแลให้ เบื้องต้นบุคคลรายนี้ไม่ได้เป็นครูพี่เลี้ยง ซึ่งทางโรงเรียนให้พี่เลี้ยงรายนี้ออกจากโรงเรียนแล้ว

นอกจากนี้ทางตำรวจของความร่วมมือดูกล้องวงจรปิดจากทุกห้องในโรงเรียน ซึ่งสามารถดูย้อนหลังทั้งหมดได้เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม และทางโรงเรียนได้ให้ข้อมูลหลายเรื่อง เช่น การลงโทษครูที่อยู่ในเหตุการณ์โดยให้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว พร้อมกับลงโทษตักเตือนครูที่แสดงความคิดเห็นให้กำลังใจพี่เลี้ยงคนดังกล่าว ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ทางโรงเรียนจะชี้แจงในการประชุมร่วมกับผู้ปกครองอีกครั้งในวันที่ 29 ก.ย.นี้

โรงเรียนจะต้องชี้แจงและปรับระบบการบริหารจัดการของโรงเรียนใหม่ ทั้งในประเด็นวิชาการ อาหารกลางวันเด็ก การรับครู โดยต้องออกเป็นมาตรการเพื่อชี้แจงกับผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก และถ้าเด็กเรียนในโรงเรียน เด็กจะมีความสุข

กมล กล่าวอีกว่า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จะลงพื้นตรวจสอบโรงเรียนต่อไป และจะตรวจสอบโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งรัฐมนตรีช่วย ศธ.มอบหมายให้ตน และคณะทำงานลงไปกำกับติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

สั่งทบทวนบทบาท 'ครูพี่เลี้ยง' หลังระเบียบ สช.ระบุชัดมีแค่ 'พี่เลี้ยงเด็ก'     

ด้านอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์จะเห็นว่ามีการกระทำความผิดในวิชาชีพ ซึ่งครูถือเป็นวิชาชีพควบคุม คนที่เข้าไปอยู่ในโรงเรียนเอกชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หรือหนังสืออนุญาตจากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่ง สช.สั่งให้โรงเรียนทบทวนการใช้คำว่า 'ครูพี่เลี้ยง' ว่าควรมีหรือไม่ เพราะเดิมคำนี้ไม่มีในระเบียบของ สช.ซึ่งตามระเบียบของ สช.มีแค่คำว่า 'พี่เลี้ยงเด็ก' และพี่เลี้ยงเด็กไม่ถือเป็นบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นลูกจ้าง ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แต่บุคคลรายนี้จะอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานแทน

อรรถพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สช.ไม่ได้กำหนดให้ห้องเรียน English Program หรือ ห้องอีพี จะต้องมีพี่เลี้ยงเด็ก และ สช.กำหนดไว้ว่าห้องเรียนอีพีต้องมีเด็กไม่เกิน 25 คนต่อห้อง ซึ่งจากที่ผู้ปกครองให้ข้อมูลว่าห้องเรียนอีพีที่มีครูพี่เลี้ยงรายนี้ดูแล มีนักเรียนถึง 34 คน จึงสั่งให้ ศธจ.นนทบุรี ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พร้อมกับสั่งให้โรงเรียนแก้ไขโดยด่วน 

นอกจากนี้พบว่า โรงเรียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่น นอกเหนือจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาอีกด้วย ดังนั้น โรงเรียนต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ผู้ปกครองร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักเรียนต่อห้อง การเรียกเก็บเงิน การจัดอาหารกลางวันให้นักเรียน ซึ่ง สช.จะกำหนดเวลาให้โรงเรียนไปดำเนินการแก้ไข หากโรงเรียนไม่แก้ไข สช.จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ต่อไป

อรรถพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้โรงเรียนในเครือสารสาสน์ทั่วประเทศจำนวน 42 แห่ง แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา สช.รับเรื่องร้องเรียนจากโรงเรียนในเครืองสารสาสน์ จำนวน 34 แห่ง เช่น การกลั่นแกล้งระราน การสอนครู การลงโทษนักเรียน และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น ซึ่ง สช.จะตั้งคณะทำงานออกไปตรวจสอบโรงเรียนทุกแห่งเพื่อจัดระเบียบโรงเรียนเหล่านี้ต่อไป 

เห็นชอบติดกล้องวงจรปิดแบบเห็นได้สาธารณะ

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้วงจรปิดที่โรงเรียนเอกชนมีควรจะมีจอมอนิเตอร์ที่เห็นได้แบบสาธรณะ ไม่ควรเป็นกล้องวงจรปิดแบบบันทึกแล้วดูย้อนหลังอีกต่อไป และต่อไปนี้โรงเรียนเอกชนต้องแสดงภาพถ่ายและเลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู พร้อมวันหมดอายุ ติดประกาศให้ผู้ปกครองได้เห็นในสถานที่ที่เปิดเผย หน้าห้องเรียน และในเว็บไซต์ด้วย เพราะต้องการให้ผู้ปกครองเป็นหูเป็นตา ถ้าโรงเรียนจ้างผู้อื่นมาสอนแทนคนที่ติดประกาศ แสดงความโรงเรียนกระทำความผิด เช่น ถ้าโรงเรียนจ้างคนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาทำหน้าที่ครู มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท

และถ้ามีหลักฐานพยานเพียงพอว่าบุคคลนี้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู หรือไม่ได้รับอนุญาตทำหน้าที่ครู แต่กลับทำหน้าที่ครู ให้นำพยายานหลักฐานมา สช.พร้อมจะเป็นผู้กล่าวโทษทั้งผู้ปฏิบัติและผู้จ้างวาน ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 60,000 บาท 

ส่วนครูที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นต่อแบ่งความผิดเป็น 2 ประเด็นคือ คนที่อยู่ในเหตุการณ์อาจจะบกพร่องในเรื่องของจรรยาบรรณที่มีต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องไปดุว่าการกระทำนี้เข้าข่ายและบกพร่องในมาตรฐานวิชาชีพครูข้อใด แต่ถ้ามองในด้านที่ครูยืนดูในขณะที่เด็กถูกปะทุศร้าย ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบดูเรื่องนี้

ทั้งนี้มีรายงานเพิ่มเติมว่า ครูสอนภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์ของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ที่มีคลิปภาพการทำร้ายร่างกายนักเรียนอนุบาลด้วยการกระชากแขนและเหวี่ยงเข้าห้องน้ำนั้น พบว่าใช้หนังสือเดินทางแบบนักท่องเที่ยว อนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้แค่ 30 วันเท่านั้น และต่อมาครูรายดังกล่าวได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนนทบุรีแล้ว อยู่ระหว่างการสอบปากคำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง