ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประกอบการเล็งขึ้นราคาบุหรี่จากซองละ 60 บาท เป็น 93 บาท รับอัตราภาษีตามแผนปฏิรูปภาษีสรรพสามิต ดีเดย์ 1 ต.ค. 2562 'ฟิลลิป มอริส' กังวลราคาบุหรี่ขยับ ซ้ำเติมผู้ปลูกยาสูบและอุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบ

นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเตด กล่าวว่า ตามแผนปฏิรูปภาษีสรรพสามิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 และมีการขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่ในปีที่ผ่านมาที่อัตราร้อยละ 20 มาเป็นร้อยละ 40 ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 นั้น จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาสูบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้รับผลกระทบ 

ดังนั้น จึงต้องการเสนอให้ทางการพิจารณาชะลอการปรับขึ้นอัตราภาษีไว้ก่อน เพราะบุหรี่ในตลาดตอนนี้ร้อยละ 85 เป็นบุหรี่ที่มีราคาอยู่ที่ 60 บาท ที่มีอัตราภาษีที่ร้อยละ 20 และในวันที่ 1 ต.ค. 2562 นี้ จะต้องปรับภาษีเป็นร้อยละ 40 ทั้งหมด 

"สิ่งที่ต้องการเสนอให้ภาครัฐชะลอการขึ้นอัตราภาษีบุหรี่เป็นร้อยละ 40 ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ไปก่อน เพราะที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่า การปรับขึ้นราคาบุหรี่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยาสูบอย่างมาก โดยกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุดคือ ผู้ปลูกยาสูบ ซึ่งถูกตัดโควต้าการส่งยาสูบ หลังจากยอดขายบุหรี่ลดลง" นายพงศธร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายพงศธร กล่าวด้วยว่า สำหรับฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) ลิมิเตด ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องราคาบุหรี่ และตอนนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใดๆ และคงจะรอให้ใกล้ๆ เวลาตามที่กฎหมายระบุก่อน

'ยาสูบ' เล็งขึ้นราคาบุหรี่ 5 ยี่ห้อ จากซองละ 60 บาท เป็น 93 บาท ตามอัตราภาษี 40%

ขณะที่ เว็บไซต์ 'ไทยโพสต์' รายงานอ้างคำกล่าวของ น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ ยสท. มีแผนขึ้นราคาบุหรี่อีกหลายชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ ที่จะขึ้นภาษีบุหรี่ซองราคาไม่เกิน 60 บาท จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 โดยเบื้องต้นจะขึ้นราคาบุหรี่ที่ขายซองละ 60 บาท ซึ่งมีอยู่ 5 ยี่ห้อ 10 ชนิด เป็นซองละ 93 บาท หรือ ขึ้นซองละ 33 บาท 

ส่วนบุหรี่ที่ขายเกินซองละ 90 บาท ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาจะขยับราคาขึ้นไปด้วย ซึ่งอาจเป็นซองละหลักร้อยบาทก็ได้     

พร้อมกับให้เหตุผลว่า การขึ้นราคาเช่นนี้ไม่ได้เป็นเพราะ ยสท. ต้องการมีกำไรเยอะ แต่ต้องปรับ เพราะภาษีสรรพสามิตใหม่คิดคำนวณจากราคาปลีก เมื่อมีการขึ้นภาษีมากถึง 1 เท่าตัว ยสท. ก็ต้องขยับราคาตามไม่เช่นนั้นก็จะขาดทุน โดยกำไรจากภาษีปัจจุบันตกอยู่ซองละ 10 สตางค์เศษๆ แต่ถ้าขึ้นราคาตามภาษีใหม่กำไร ก็ใกล้เคียงกับของเดิมไม่ได้ต่างกันมากนัก 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้หากรัฐบาลมีการชะลอการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่ระดับร้อยละ 40 ออกไปก่อน ก็ยังจะขายราคาเดิมได้ไม่ต้องปรับขึ้นราคา

นอกจากนี้ ในปีนี้ ยสท. ยังมีแผนปรับการตลาดใหม่ เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่จากต่างประเทศมากขึ้น โดยล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการออกบุหรี่ใหม่อีก 1 ยี่ห้อ ขายซองละ 55 บาท ซึ่งเป็นบุหรี่ที่ราคาถูกที่สุดของ ยสท. เพื่อมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อไม่สูง และกลุ่มผู้สูบที่ต้องการบุหรี่สูตรเย็นจัด เพื่อใช้แข่งขันทำตลาดกับบุหรี่ต่างประเทศ ซึ่งมีการลดราคาออกมาแข่งในช่วงก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน ยสท. ยังพิจารณาขยายตลาดยาเส้นเพิ่มเติม โดยจะมีการผลิตออกมาอีกหลายยี่ห้อ เพราะผลสำรวจพบว่านับตั้งแต่รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ได้ทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูง หรือกลุ่มชาวบ้านตามต่างจังหวัด เลิกสูบบุหรี่และหันไปสูบยาเส้นเพิ่ม เพราะมีราคาถูกกว่าบุหรี่มาก เช่น บุหรี่ซองละ 60 บาท แต่ยาเส้นขายเพียง 10-15 บาท

สำหรับเป้าหมายผลดำเนินงานในปี 2562 ยสท. คาดว่าจะผลิตและจำหน่ายได้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านมวน ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และมีกำไรอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท ลดลงจากปีนี้ที่กำไร 900 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 20 เท่าตัว เมื่อเทียบกับกำไรก่อนหน้าปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ซึ่งในปี 2560 ยสท. เคยมีกำไรสูงถึง 9.8 พันล้านบาท

น.ส.ดาวน้อย กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลช่วยทบทวนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมโดยรวมดีขึ้น เห็นได้จากการจัดเก็บรายได้ภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิตไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง แต่คนสูบหันไปสูบยาเส้นที่ภาษีต่ำกว่าแทน รวมถึงยังมีบุหรี่หนีภาษีลักลอบนำเข้าจากนอกประเทศมาขายมากขึ้น เนื่องจากราคาขายในไทยสูงกว่าต่างชาติมาก จึงมีแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาขายเพิ่ม และที่สำคัญเมื่อการบริโภคบุหรี่ลดลงก็จะมีผลต่อการรับซื้อใบยาจากชาวไร่ยาสูบในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2562 ที่ประชุมอุตสาหกรรมยาสูบ ครั้งที่ 2 มีมติขอให้รัฐบาลมีการปรับแผนการขึ้นอัตรภาษีสรรพสามิตที่ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ โดยแบ่งออกเป็นแผนระยะสั้น คือ การปรับราคาจุดตัดอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 20 จาก 60 บาท เป็น 70 บาท และยังคงอัตราภาษีบุหรี่ตามมูลค่าแบบสองอัตราที่ร้อยละ 20 และ 40 ต่อไป เพื่อลดการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมบุหรี่ 

รวมทั้งยังขอให้รัฐบาลเลื่อนการเก็บภาษีด้านมูลค่าแบบอัตราเดียวที่ร้อยละ 40 ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 ออกไปอีก เพื่อให้ชาวไร่ยาสูบ ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมีระยะเวลาในการปรับตัวมากขึ้น

ส่วนแผนระยะยาว เสนอให้มีการพิจารณาขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ตามมูลค่า จากร้อยละ 20 แบบขั้นบันได คือ เพิ่มทีละร้อยละ 5 เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสูบสามารถปรับตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับการประกาศใช้อัตราภาษีสรรพสามิต ที่คิดตามมูลค่าที่ร้อยละ 40 โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 นั้น จะมีผลทำให้ราคาบุหรี่ทั้งของในและต่างประเทศ ที่ปัจจุบันขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท ต้องปรับราคาขายเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีดังกล่าว แม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้ง ยสท. ผู้ประกอบการบุหรี่ต่างประเทศ และเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน โดยขยายเวลาการประกาศใช้อัตราภาษีสรรพสามิต ที่คิดตามมูลค่าที่ร้อยละ 40 ออกไปก่อน เนื่องจากส่งผลกระทบกับภาพรวมอุตสาหกรรมอย่างมาก

ก่อนหน้านี้ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า การเก็บภาษีอัตราใหม่ยังคงเดินหน้าตามกฎหมายใหม่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยอัตราภาษีใหม่เริ่มใช้มาตั้งแต่ 16 ก.ย. 2560 โดยอัตราภาษีสำหรับบุหรี่ที่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท จะคิดตามปริมาณ อยู่ที่ 1.20 บาทต่อมวน และตามมูลค่าร้อยละ 20 ขณะที่บุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาทขึ้นไป จะคิดภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 40

แต่ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 การเก็บภาษีบุหรี่ทั้งที่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท และราคาเกินซองละ 60 บาทจะมีการคิดอัตราภาษีตามมูลค่าเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดที่ร้อยละ 40 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือขยายเวลาออกไปแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :