ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องสั้นกลายเป็นเพลงรัก และความรักกลายเป็นบาดแผล ในโปรเจกต์ ‘Paper Cut รักกลายเป็นกระดาษ’ ที่เป็นทั้งชื่อเพลงใหม่ของ เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน และชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นของ 4 นักเขียนร่วมสมัยจากสำนักพิมพ์ P.S.

“ฉันกลายเป็นอากาศ ฟ้ากลายเป็นกระดาษ เรื่องของเรากลายเป็นภาพเก่าๆ ไปได้อย่างห้ามไม่ไหว รักกลายเป็นกระดาษ แล้วบางวันที่เราพลาดขึ้นมา มันก็แอบบาดให้ใจต้องเจ็บเหลือเกิน”

บางส่วนจากเพลงใหม่ล่าสุดของ ‘เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน’ นักร้องเสียงละมุนผู้เคยฝากเพลงอย่าง ‘เธอเห็นท้องฟ้านั้นไหม’ และ ‘เส้นทางนี้’ ไว้ในความทรงจำของหลายคน คราวนี้เจี๊ยบกลับมาพร้อมกับ 4 บทเพลงที่รับแรงบันดาลใจมาจาก 4 เรื่องสั้นของนักเขียนสาวใน ‘Paper Cut รักกลายเป็นกระดาษ’ หนังสือชื่อเดียวกันกับบทเพลง ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกใน ‘LIT Fest’ เทศกาล (ยิ่งกว่า) หนังสือ ณ มิวเซียมสยาม

ในหนังสือเล่มนี้ ป่าน-ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์, ปอ เปรมสำราญ, บิว-โบนิตา อาดา, และ ภวิล เฟย์ 4 นักเขียนร่วมสมัยจากสำนักพิมพ์ P.S. เลือกเล่ารอยแผลที่กลายมาเป็นเรื่องราวกระทบใจเจี๊ยบจนกลายเป็น 4 บทเพลงหวานขม

Voice On Being อยากชวนผู้อ่านทุกท่านสำรวจมุมมองของ 4 นักเขียน 1 นักร้อง ว่าการอ่านสามารถกระทบใจแล้วเปลี่ยนตัวเองไปได้สักเพียงไหน แล้วทำไมความรัก และรอยแผล จึงมีความหมายพอให้นักเขียนเล่า และเราต้องอ่าน

ps-1.jpg


พี่เจี๊ยบอ่านเรื่องของนักเขียน P.S. แต่ละคนแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

เจี๊ยบ : รู้สึกเหมือนเราเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ฉันเข้าใจทุกอย่าง คือเหมือนมันมีมวลอารมณ์ของผู้หญิงที่เป็นตัวของตัวเอง มีโลกทัศน์ มีวิธีตัดสินใจ มีความรัก มีความบ้าคลั่ง ซึ่งคาแรคเตอร์เขาจะคล้ายๆ กัน ถ้าเสียใจเรื่องนี้ก็จะเสียใจเรื่องนี้อยู่นั่นแหละ จริงๆ กู grow up ก็ได้ แต่กูจะไม่ grow อะ กูจะเป็นอย่างนี้

มันจะมีความดื่มด่ำกับอะไรบางอย่าง แล้วเราก็ชอบนะ ชอบในหนังสือหลายๆ ประโยค รู้สึกว่า เฮ้ย มันดีจังเลย มันรู้สึกดีมากที่เราสามารถเอามาเขียนเพลงได้เลย ไม่ต้องไปดัดแปลงอีกที หรือใช้มันเป็นแค่แรงบันดาลใจ เพราะประโยคของแต่ละคนมันมีความเท่อยู่ แล้วก็มีความเป็นผู้หญิงสูงมาก ซึ่งเรารู้สึกว่าจะเป็นผู้หญิงแบบหนึ่ง คือจะไม่ได้หน่อมแน้มมากนักนะ มันจะมีความแข็งกร้าวในวิธีคิดแบบหนึ่ง แต่ก็จะมีความอ่อนไหวแบบไม่เข้าเรื่องในอีกมุมหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันเป็นคาแรคเตอร์ของผู้หญิงมุมหนึ่ง


การอ่านทำให้มุมมองความรักเปลี่ยนไปหรือเปล่า

ปอ : อาจจะนะ แต่สำหรับเราจะมองหาคนที่สามารถอธิบายสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้ในงานเขียน เหมือนพอรู้สึกแล้วอธิบายไม่ได้ ก็จะตามหาด้วยการฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ เฮ้ย มันรู้สึกยังไงวะ จนเราเจอคำที่ใช่ แล้วก็ได้รู้สึกว่า เออ มันรู้สึกอย่างนี้แหละ คืออย่างน้อยเราก็ไม่รู้สึกอย่างนี้อยู่คนเดียวนะ แล้วก็คงอธิบายได้ด้วยคำอะไรแบบนี้แหละ มันทำให้เราเข้าใจตัวเอง

เจี๊ยบ : คือบางทีคำมันไม่พอเนอะ คำไม่พอความรู้สึก เหมือนบางทีความรู้สึกมันหาคำยากเหมือนกัน ตอนทำเพลงเราก็จะอ่านหนังสือเหมือนกัน

ภวิล : ถ้าเกิดถามว่าการอ่านทำให้มุมมองความรักเปลี่ยนไปหรือเปล่า เราอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นหนังสือมันน่าจะฟอร์มมุมมองความรักของเรามากกว่า แต่คราวนี้พอเราโตขึ้น เราผ่านความสัมพันธ์ แล้วพอเรากลับไปอ่านหนังสือ หนังสือมันไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยน แต่มันทำให้ชัดขึ้น ว่าการที่เราเผชิญสิ่งนี้อยู่ เราหาคำไม่เจอ แต่หนังสือบางเล่มมันบอกความรู้สึก เฮ้ย มันใช่ มันทำให้ความรู้สึกของเราชัดขึ้นว่ามันเป็นแบบนี้นะ มันทำให้หมอกที่อยู่ในใจเราชัดขึ้น

บิว : การอ่านในหลายๆ แบบทำให้เรารู้ว่า ความรักมันก็มีมุมของคนอื่น ทำให้บางทีเราก็ย้อนกลับเข้ามาคิดว่า ในมุมของเราที่มองอีกคนหนึ่งเป็นแบบนี้ เขามองเรายังไงอยู่ ถ้าไม่อ่านเลยเราจะไม่รู้ เหมือนเราไม่เคยฟัง จริงๆ เราไม่ได้ค่อยๆ พิจารณาจริงๆ ว่า ในความคิดของคนอื่นที่เขาเจอความรักมาเขามองมันยังไง เราเห็นแต่ภาพของตัวเอง เราเห็นแต่เสียงของตัวเอง แต่พอฟังเพลงหรืออ่านหนังสือด้วยแล้ว มันมีอีกหลายมุมที่เราอาจจะไม่ใช่เจ้าหญิง บางทีเราอาจจะเป็นตัวร้ายในละคร แต่ในความรักมันก็คือความรักแหละค่ะ คือเราอาจจะไม่ดีกับเขา เขาอาจจะไม่ดีกับเรา หรือเราดีต่อกันแต่มันไม่มากพอ แต่ถ้ามันรักแล้ว ไม่ว่าจะเล่าออกมาด้วยหนังสือเล่มไหน เราก็จะรู้ว่า เออ เขาทำอย่างนี้เขาก็รักนั่นแหละ ถ้าถามว่าการอ่านทำให้ความรักเปลี่ยนไหม ก็เหมือนกับว่าทำให้เราพยายามเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

เฟ.jpg
  • บิว - โบนิตา อาดา (นามปากกา)

ป่าน : สำหรับเราไม่ค่อยนะ มุมมองความรักไม่ค่อยเปลี่ยนเพราะการอ่าน เพราะเราไม่ค่อยเชื่อที่คนอื่นบอก แต่การอ่านเรื่องรัก หรือความสัมพันธ์ในหนังสือมันเป็นการพยายามทำความเข้าใจคนอื่นมากกว่า เหมือนเราจะนับว่ามันคือวิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจมนุษย์

หนังสือมันอาจจะไม่ได้ฉายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่มันเป็นสิ่งที่มีคนไปจินตนาการขึ้น หรือว่าสัมผัสอะไรสักอย่าง แล้วกลั่นกรองเป็นตัวหนังสือ เวลาอ่านเราจะพยายามจินตนาการว่า คนเขียนเขาเคยเจอความรักแบบไหนมา เหมือนที่บิวบอกว่ารู้จักคนอื่นนั่นแหละ เหมือนกับว่าเป็นการทำความเข้าใจคนอื่น แต่ว่าไม่ค่อยหยิบมาประยุกต์ใช้ในความรักตัวเองเท่าไร มุมมองความรักก็ไม่ค่อยเปลี่ยนไป เพราะเชื่อในการเรียนรู้เอง

เจี๊ยบ: รักคนนี่แหละทำให้ความรักเปลี่ยน คือหนังสือพยายามบอกกูแล้ว ให้กูทำทุกอย่างตามขั้นตอนแล้ว มันไม่ได้หรอก (เสียงสูง) การอ่านไม่ได้ทำให้ความรักเปลี่ยน แต่ความรักทำให้การเขียนเปลี่ยน ความรู้สึกเรานะ


ถ้าอย่างนั้นความรักทำให้การอ่านของเราเปลี่ยนไปไหม เหมือนหนังสือบางเล่มอาจจะต้องประสบบางอย่างถึงจะอิน ถึงจะเข้าใจ

ป่าน: เราว่าเปลี่ยนแหละ มันทำให้เราเข้าใจบางเรื่องมากขึ้น เช่น ข้างหลังภาพ ตอนเรียนเราถูกบังคับให้อ่านเรื่องนี้ ตอนนั้นความรักที่เราเจอก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ค่อยคลุมเครือ เราก็จะยังรู้สึกกับเรื่องนี้ประมาณหนึ่ง แต่พอเราเจอช่วงที่ความสัมพันธ์คลุมเครือ พอกลับไปอ่านอีกรอบเรารู้สึกแบบ เออ แม่งจริงว่ะ เข้าใจเลยว่าทำไมนพพรถึงไม่แน่ใจว่าเขารักเราหรือเปล่า มันทำให้เราเข้าใจหนังสือมากขึ้น แต่ก็บางเล่มนะ บางเล่มก็ยังไม่เข้าใจ ก็ต้องลองมีความรักเยอะๆ

เจี๊ยบ : มันก็เป็นลักษณะของผู้กล้าชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้กล้ามักจะเจ็บตัวเยอะเป็นปกติ

บิว : พังให้มากที่สุดเท่าที่จะพังได้ (หัวเราะ)

ภวิล : คิดว่ามันมีเลเวลของความเข้าใจกับความเข้าถึงอยู่ สิ่งที่บิวพูดคือ เข้าใจ แต่เลเวลของป่านคือ เข้าถึงแล้ว เพราะเราผ่านความรักนี้มา ถ้าเกิดเราประสบพบเจอความรักในรูปแบบหนึ่ง สมมติความรักคลุมเครือ แล้วไปอ่านข้างหลังภาพ เราจะเข้าถึง ไม่ใช่แค่เข้าใจ

เพราะการอ่านมันทำให้เข้าใจตัวละครได้ ทำให้เข้าใจชีวิตที่เราไม่ได้ใช้ได้
papercut01.jpg


แล้วประสบการณ์แบบไหนที่ทำให้งานเขียนออกมาเป็นแบบนี้

ปอ : อันนี้พูดก็จะดูจริงจังมาก ความเป็นเมืองมันทำให้เราเหงาขึ้น เราแยกตัวเองจากคนอื่นได้รวดเร็ว แล้วทุกคนก็ชินกับการที่ก็ไม่ต้องแนบชิดกันมากนักหรอก เดี๋ยวก็ไปหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ ได้ เราว่าทุกคนใช้ชีวิตอยู่เพื่อตัวเองมากขึ้น ก็กูอยากรู้สึกแบบนี้ กูเลยเอาตัวเองเข้าไปหาความสัมพันธ์แบบนี้

เจี๊ยบ : หมกมุ่นกับความกับความรู้สึกตัวเองมากกว่าที่จะมีความสัมพันธ์อย่างแท้จริง

ปอ : ใช่ค่ะ ทีนี้พองานมันออกมา เราเลยคิดว่ามันอาจจะทัชกับคนอื่น เพราะคนอื่นก็เป็นคนคล้ายๆ กับเราที่อยากจะตามหาอะไรบางอย่าง อยากจะรู้สึกอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน บางทีอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังตามหาสิ่งนี้อยู่ แต่ถ้าเราไปเจอคนแบบนี้ หรือว่าเจองานแบบนี้ เราอ่านแล้วรู้สึกว่า อ๋อ นี่แหละสิ่งที่กูรู้สึกเหมือนกัน หรือจริงๆ เราตามหาคนแบบนี้อยู่วะ

มันเลยเหมือนกับว่า คุณตามหาอะไรได้ไว แต่ขณะเดียวกันคุณไม่รู้เหมือนกันว่า คุณตามหาอะไรอยู่ คือตามหาแบบไม่รู้ว่าตามหาอะไร แต่ว่าไปก่อน อยากลองดูก่อน แล้วมันก็คลุมเครือเพราะว่า คนสมัยก่อนชีวิตเขาค่อนข้างชัดเจนด้วยว่ามันควรจะมีสเต็ปยังไงบ้าง เหมือนกับว่า โอเค ต้องตามหาความมั่นคง แต่งงาน มีลูก อะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันเข้าใจแล้วว่าคอนเซ็ปต์พวกนี้มันไม่จริง หรือว่ามันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางออก แค่มึงต้องไปข้างหน้าเรื่อยๆ แล้วก็อาจจะเจออะไรบางอย่างที่ใช่ก็ได้ ความรู้สึกเรานะ


เหมือนสมัยนี้เราใช้อารมณ์ฟุ่มเฟือยกันหรือเปล่า

เจี๊ยบ : ก็ฟุ่มเฟือย ความเปิดกว้างทางอารมณ์มันเยอะ มันเป็นไปได้ แล้วมันไปได้สุดขอบ ความจะรักใครมันก็เลื่อนไหลไปหมดเลย ฉันจะรักแกในแบบไหนก็ได้ถ้าฉันรู้สึก พอความรู้สึกมันถูกเปิดกว้างขึ้น ปัญหามันจะตามมาเยอะขึ้น เมื่อก่อนรักกันแค่ผัวเมียเลี้ยงลูกก็ทะเลาะกันฉิบหายวายป่วงแล้ว นี่รักเพื่อนก็ได้ รักแฟนมึงก็ได้ด้วย มันนำพาไปสู่ความวุ่นวายทางอารมณ์ และค้างคา แต่เราคิดว่าคนยุคนี้บางทีก็เสพติดความรู้สึกนี้

ความเหงาบางทีมันบอกเราว่า เราเป็นใคร สำหรับคนยุคนี้ เหงาเพราะใครสักคน ยังดีกว่ากูเหงาโดยไม่มีใครเลย เราว่ามันก็มีความเป็นแบบนั้นอยู่
เจี๊ยบ.jpg
  • เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน

แต่มันไม่ได้มีอะไรดีกว่ากัน ผิดหรือถูกกว่ากันเลย เมื่อก่อนก็เป็นเรื่องของเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้ก็เป็นเรื่องของเดี๋ยวนี้ แต่คนเดี๋ยวนี้น่าจะเป็นอย่างที่ปอว่า อะไรๆ มันรวดเร็วมากเลย มันเข้าหาใครก็ได้ง่ายมาก แต่ขณะเดียวกันความเหงามันก็มากขึ้นตามความง่ายไปด้วย แอปพลิเคชันไม่ช่วยห่าอะไรเลยนะในความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ก็คือมนุษย์กับมนุษย์อยู่ดีแหละ

ป่าน : เรารู้สึกว่ามันคงพูดไม่ได้ว่าคนยุคนี้ใช้อารมณ์ฟุ่มเฟือย เพราะเราแค่มีโอกาสได้อ่านการระบายอารมณ์ของคนยุคนี้เยอะ เรารู้สึกว่าถ้าเราได้ไปอ่านจดหมายที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราส่งหากัน หรืออ่านที่เขาจดในไดอารีอาจจะฟูมฟายกว่ายุคนี้ไหมก็ไม่รู้ แค่คนสมัยนี้มีพื้นที่ให้เล่าเยอะขึ้น เราเลยรู้สึกว่ามันฟุ่มเฟือย

แต่ก็พูดไม่ได้นะ เราก็ไม่รู้ว่ายุคก่อนเขานิ่งกว่านี้ไหม แค่รู้สึกว่ามันคงเป็นอารมณ์สากลที่คนกำลังจะมีความรักต้องเจอ แล้วเรารู้สึกว่าที่คนเล่าเรื่องความคลุมเครือเยอะ จริงๆ แล้วในเฟสของความรักช่วงที่ยังคลุมเครือ หรือว่ากำลังจะ...

ปอ : คบไม่คบอย่างงี้อะเหรอ

ป่าน : ใช่ (หัวเราะ) เออ ช่วงนั้นมันเล่าแล้วมันฟินสุด รู้สึกว่าเราอาจจะมีเฟสอื่นของความรักแหละ แต่มันเล่าได้ไม่สนุกเท่าช่วงนี้

 

มันสนุกแต่มันเหนื่อยนะ

ป่าน : ใช่ แต่พอเขียนออกมาแล้วมันเหนื่อยน้อยลง อย่างสมมติว่าเราชอบใคร เราจะมีความแบบว่า ฮึ ฉันไม่เท่าไรหรอก (เชิดเสียง) ตอนเขียนก็เยอะๆๆๆๆ แต่อยู่ต่อหน้าเขาก็ อ๋อหรอ เออ อ๋อ (พูดเสียงโมโนโทน) อะไรอย่างนี้ เราก็ใช้การเขียนเป็นช่องทางในการเยอะ ถ้าเขามาอ่านเราก็โป๊ะแตก รู้เลยว่าอีนี่เยอะนะ ส่วนตัวนะ ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นหรือเปล่า

 

พอเป็นแบบนี้ หลายคนก็ชอบมองว่านักเขียนหญิงสนใจแต่เรื่องรักๆ แล้วไม่สนใจปัญหาในสังคม

ปอ : เป็นสิ่งที่เราถูกบอกมาตลอด แม้แต่ผู้หญิงด้วยกันก็ด้วย เราคิดว่าคนในสังคมตอนนี้ โดยเฉพาะเจนวายก็จะมีคนแบบสายแข็ง เขาก็คาดหวังว่าคนทำงานเขียนควรที่จะสะท้อนสังคม และการเมือง เพราะอย่างที่รู้ว่าสภาพสังคม และการเมืองเราก็ควรจะถูกพูดถึง ควรจะมีคนไปงัดข้อ แต่เรารู้สึกว่าส่วนตัวเราไม่ได้เป็นคนเขียนการเมืองดี คือเคยเขียนแล้วเอาไปให้ที่หนึ่งพิจารณาแล้วเขาบอกว่า รู้สึกว่าพยายามไปหน่อยนะคะ คือเคยอ่านเรื่องความรักคุณ รู้สึกว่าเป็นธรรมชาติกว่า ก็เออ ดีว่ะ เราก็ได้มาทบทวนตัวเองว่าก็พยายามจริงๆ เพราะมันเหมือนสับโฟกัสจากสิ่งที่เราเล่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไปเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามมากๆ

ปอ.jpg
  • ปอ - นัทธมน เปรมสำราญ

จริงๆ เราพูดการเมืองอยู่แล้วผ่านความสัมพันธ์เรื่องรักแหละ บางทีถ้ามันมีเหตุการณ์กระทบมากๆ เช่นมีช่วงหนึ่ง เขียนเรื่องรักแล้วก็แทรกไปว่าหมุดของคณะราษฎรหาย เราก็ให้ตัวละครคุยกันว่าหมุดคณะราษฎร���าย แล้วอีกคนก็ถามว่าพูดขึ้นมาทำไม เราไม่ได้คุยกันเรื่องนั้น ซึ่งแอบไปอ่านฟีดแบกส์ บางคนก็แบบว่า โห มึงใส่มาให้ดูเท่ปะ เหมือนจะอินกับการเมือง แต่ไม่เห็นมึงลงลึกเลย แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่าเนี่ยโคตรจริงเลย การที่ตัวละครดูเปลือก ดูผิวเผิน บางทีมันก็สะท้อนเราว่าแล้วเราพูดได้มากกว่าตัวละครจริงๆ ไหม หรือที่ตัวละครมันต้องพูดแบบนี้ เพราะว่ามันอยู่ในสังคมแบบเราแล้วมันพูดได้แค่นี้จริงๆ ซึ่งในอนาคตเราก็ตั้งใจจะเขียนแหละ แต่เราก็ทำที่เรารู้สึกว่าเป็นธรรมชาติก่อน

แต่เรารู้สึกว่า นักเขียนไม่ควรรู้สึก guilty ว่าไม่เขียนเรื่องการเมือง จริงๆ มันเป็นหน้าที่พลเมืองทุกๆ คนที่ควรมีส่วนร่วมในการเมือง แต่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ภาระของนักเขียนทุกคน คือถ้าคุณสามารถทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ถ้าเกิดคุณทำไม่ได้ แต่คุณไม่ได้มืดบอดกับมัน ไม่ได้ใช้เรื่องประโลมโลกว่าสังคมเรายังดีอยู่ เมืองเรายังดีอยู่ แต่คุณแค่เขียนสิ่งที่จริงใจกับตัวเอง ถ้ามันออกไปก็ให้มันออกไปแบบเป็นธรรมชาติ ดีกว่าไปพยายามจนคนรู้สึกอึดอัด หรือไปปิดหูปิดตาคน เราให้มันเป็นไปตามธรรมชาติดีกว่า

ป่าน : เราก็เห็นด้วยกับปอมากๆ แล้วเราก็เคยพยายามเหมือนกันด้วย คือฟีดส์แบกมันมาถึงพวกเราอยู่แล้วว่า พวกมึงแม่งเซนติเมนทัลว่ะ เราก็เคยพยายามแต่ก็รู้สึกว่ามันยังไม่กลมกล่อมพอ จะบอกว่าเรายังไม่เก่งพอ เราก็ยอมรับว่าเราไม่เก่งพอที่จะเล่าการเมืองเป็นเรื่องสั้น เป็น fiction ได้อย่างกลมกล่อม และฮุกผู้อ่าน

แต่เราว่าเราทุกคนมีหลาย medium กว่านั้น อย่างปอก็ทำละครเวที ภวิลก็เขียนกับอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่จะเขียนเรื่องการเมือง บิวก็อาจจะมีพื้นที่อื่นๆ เราเองก็มีงานประจำที่เราก็ยังไปสัมภาษณ์คนที่เป็นแอคทิวิสต์เรื่องการเมือง เราก็ยังตามงานอื่นๆ เรารู้สึกว่าการที่นักเขียนไม่เขียนเรื่องสั้นให้การเมืองไม่ได้แปลว่าคนนั้นเขา ignorant เขายังมีช่องทางอื่นๆ ให้เขาไฟต์อีกเยอะ หรือกระทั่งถ้าเกิดเขาไม่ไฟต์ในทางไหนเลย มันก็ไม่ใช่ภาระของเขาอย่างที่ปอบอก

ป่าน.jpg
  • ป่าน - ฉัตรวี เสนธนิสศักดิ์
เรารู้สึกว่าถ้าจะยอมรับในความหลากหลายจริงๆ เราก็ควรโอบรับคนที่ไม่พูดเรื่องการเมือง

เขาอาจจะไม่ได้ไม่อิน แต่เขาอาจจะแค่เหนื่อยกับมันมากเกินกว่าที่จะเล่า เราก็อาจจะให้เวลาเขาหรือเปล่า วันหนึ่งถ้าเขาพร้อมจะเล่า เขาก็อาจจะเล่าออกมาโดยไม่ต้องฝืนไปเอง มันไม่ได้แปลว่าเราพาตัวเองหลีกหนีไปกับการเขียนเรื่องสั้น มันไม่ใช่ แล้วเรารู้สึกว่าเราแค่เสนออีกหนึ่งรสชาติให้กับคนอื่น เขารู้แหละว่าถ้าอ่านทางนี้เขาก็จะเจออะไรประมาณนี้ มันก็เป็นชอยส์ของเขา เขาก็มีชอยส์ที่จะไปเสพเรื่องอื่นๆ ที่มันแข็งแรงขึ้น แต่เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ถ้าจะมาตีตราว่า คนนี้หมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง หมกมุ่นอยู่แต่กับความรักอะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่าคุณได้รู้จักทั้งหมดของเขาหรือยัง อันนี้มันแค่เสี้ยวเดียวที่เขาถ่ายทอดออกมา แล้วถ้าเขาสนุกกับการจะเล่าเรื่องสั้นในรูปแบบนี้ก็ไม่เห็นผิดเลย ถ้าเขาไม่ตายก่อน งานเขาอาจจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็ได้

 

คิดว่าความเป็นผู้หญิงมันส่งผลกับงานเขียนของเราด้วยหรือเปล่า หนังสือของ P.S. เองก็มีกลิ่นอายเฉพาะตัวชัดเจนมาก

บิว : เรารู้สึกว่า P.S. เป็นงานของผู้หญิงชั่ว (ทุกคนหัวเราะ) คือเหมือนเปิดเรื่องในมุมของผู้หญิงที่ลึกๆ แล้วเรามี แต่เราถูกกดเอาไว้ว่าเป็นผู้หญิงห้ามคิดแบบนี้ เรามีกรอบประเพณีอันดีงามมาตลอด แล้วเราทัชกับหนังสือหลายๆ เล่มของ P.S. มาก่อนจะมาเขียน เพราะเรารู้สึกว่า เนี่ย เราตามหาหนังสือสักเล่มหนึ่งที่ไม่เป็นคนดีแล้วเป็นคนได้ไหม

ภวิล : ด้วยความที่งานเขียนมันคือผลผลิตจากมนุษย์คนหนึ่ง มันคือศิลปะแขนงหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเขียนมันสะท้อนภาพของตัวเราอยู่แล้ว การที่เราจะเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้ชายหรือไม่ การที่เราถูกฟอร์มความคิดจากทั้งหนังสือเอง จากเพลง จากสิ่งที่เราเสพ จากสิ่งแวดล้อมของตัวเรา จนมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ยังไงๆ งานที่เราสร้างก็คือ การประมวลผลตลอดทั้งชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นถามว่าความเป็นนักเขียนหญิงสะท้อนอะไร เราว่าบอกว่าความเป็นนักเขียนดีกว่า มันสะท้อนมนุษย์ สะท้อนคนๆ หนึ่ง มุมมองทางโลก

ไม่ต้องหญิงไม่ต้องชายอะไรหรอก ที่เขาเห็นกันว่านักเขียนหญิงต่างจากนักเขียนชาย สมมติว่าไปอ่านงานของยุโรป อาจจะเห็นว่านักเขียนหญิงไม่ได้ต่างกับนักเขียนชายอะไรเลยก็ได้ แต่พอมาอ่านงานของเอเชีย งานของผู้หญิงที่ต้องอยู่ในกรอบ มันก็ต่าง เพราะว่าโลกฟอร์มเขามาเป็นแบบนั้น มันเป็นโลกที่เขาอยู่

เนี่ย ความเป็นประเทศไทย ฟอร์มให้เราเป็นคนที่ทนต่อความรุนแรงได้อย่างสูงยิ่ง เพราะฉะนั้นงานเขียนมันก็เลยออกมารุนแรงมากๆ หรือเปล่า หรือว่าถูกผู้หญิงถูกกดไม่ยอมให้คิดถึงเรื่องเพศ มีแฟนตาซีก็ผิด เพราะฉะนั้นมันก็ออกมาเป็นงานเขียนที่กบฏมากๆ หรือเปล่า
Untitled-13.jpg
  • ภวิล เฟย์ (นามปากกา)

ปอ : เราว่ามันขึ้นอยู่กับคนนะ เพราะบางทีเราเขียนไปเราก็ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าอยากเขียนเรื่องนี้ แต่พอมันถูกอ่านโดยคนอื่น เขาอาจจะสามารถตีความได้ในระดับของความเป็นภาพแทนของอะไรบางอย่าง มันเป็นสิ่งที่เราว่ามันมีทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจ หมายถึงว่าเราตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ว่าทำไมไม่เคยเจอคนเขียนเรื่องนี้วะ หรือว่าอยากเขียนเรื่องนี้มากๆ เลย แล้วก็เขียน แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราเขียนเพราะว่านักเขียนหญิงควรจะเขียนแบบนี้

แต่ถ้าถามความต่าง เราก็รู้สึกว่าต่างนะ เพราะเวลาเราอ่านหนังสือเราก็จะรู้สึกว่านักเขียนทุกคน ในฐานะของปัจเจกแต่ละคนต่างกันอยู่แล้ว แต่ว่าผู้ชายเขาก็จะมีความสนใจของเขาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็จะต่างกับผู้หญิงหน่อย โดยส่วนตัวเรารู้สึกว่านักเขียนผู้หญิง หรือแม้แต่นักเขียนที่เป็น LGBT เขาจะค่อนข้างที่จะเล่าจากเรื่องของตัวเองไปสู่เรื่องใหญ่ๆ

ภวิล : เราเห็นเหมือนที่ปอพูดว่า ผู้ชายชอบมองภาพใหญ่ มองการเมือง มองโลก มองสิ่งที่มันใหญ่ๆ แต่เราจะค่อยๆ มองจากตัวเองแล้วขยายใหญ่ออกไป เมื่อก่อนจะเล่าการเมืองที่แบบการเมื้องการเมือง แต่เดี๋ยวนี้การเมือง เหมือนเสียงของคนตัวเล็กๆ เสียงของตัวละครดังมากขึ้นกว่าเสียงของสภาพแวดล้อม ว่าตัวละครโดนการเมืองกระทำยังไงมาบ้าง เรารู้สึกอย่างนั้น

บิว : เราว่าเราเล่าไปในรูปแบบของสัญลักษณ์ แต่มันไม่ได้ชัดเจนว่าอันนี้คือการเมืองนะ อย่างสมมติว่าที่ทำงานแอร์ตรงที่คนๆ หนึ่งนั่งหนาวมาก แต่มันเบาไม่ได้ เพราะแอร์มันไม่ถึงที่ที่ ผู้ใหญ่นั่ง แค่นี้เราก็รู้สึกว่าเหลื่อมล้ำ แล้วฉันต้องมานั่งใส่เสื้อขนเป็ดนี่ฉันไม่ใช่คนเหรอ ขณะที่เขาร้อนอยู่ข้างหลังคนเดียว ทำไมไม่เอาพัดลมมาเปิด แล้วคนตรงนี้ กลุ่มนี้ลูกน้องเขาอยู่รวมกันกระจุกอยู่แล้ว ต้องมานั่งใส่เสื้อขนเป็ดกันทุกคน ทุกคนต้องลำบาก เพราะคนๆ หนึ่งต้องการสบาย เพราะตำแหน่งสูงกว่า เราสามารถมองไปถึงอย่างนั้นได้ด้วยเรื่องแอร์เรื่องเดียว เพราะว่าความสัมพันธ์มันคือการอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์มันเกิดขึ้นคนเดียวไม่ได้ อย่างน้อยก็สองคน มันจะมีฝ่ายกระทำ และถูกกระทำ กระทบกระแทกกันตลอดเวลา แล้วเราจะดีลกันยังไง เริ่มจากสองคนก่อน สามคน สี่คน แล้วมันก็จะกว้างขึ้น เราจะเห็นมุมกว้างขึ้น เราจะเห็นสังคมจากหน่วยเล็กๆ แล้วค่อยๆ โตขึ้น

 

แล้วในโปรเจกต์ ‘Paper Cut รักกลายเป็นกระดาษ’ เขียนถึงอะไรกัน

ป่าน : เราเขียนถึงเพื่อนที่รักเพื่อน ให้ตัวถูกแอบรักเนี่ยมีความไม่ได้บอกชัดว่าเขาเป็นตุ๊ด หรือเป็นเกย์ ไม่ได้เขียนคำว่ารักลงไปเลย ไม่ได้บอกว่าฉันรักเขาเหลือเกิน ก็ไม่ แต่พยายามให้เป็นบทสนทนาของสองคนนี้ แต่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของเพศสภาพที่รักกัน แต่มันเป็นเรื่องที่คนๆ นั้นก็แบกความทรงจำแล้วก็บาดแผลของเขาไว้ แล้วอยู่ที่ว่าอีกคนจะจดจำเขาไปพร้อมกับบาดแผลพวกนี้ไหม หรือเลือกที่จะจดจำแค่ภาพที่รู้สึกว่าโรแมนติกสำหรับเขา

บิว : เราเขียนถึงความรักที่ตอนอยู่ด้วยกันก็รักกันแหละ แต่ก็ทำร้ายกัน แบบรักอะ อยากอยู่ด้วยอยากให้สนใจมากกว่านี้ แต่ก็ด่า เหมือนจะเลิกๆ แต่ก็รัก แล้วเหมือนพอเวลาที่ตอนอยู่ด้วยกันก็ทำร้ายกัน ตอนที่ไม่อยู่ด้วยกันแล้วก็ทำลายกัน แต่ว่าไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ มันก็ยังรักกัน จะเป็นประมาณนั้น

ปอ : เราได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของเรานี่แหละ ก่อนหน้านี้ก็มีป้าเส้นเลือดในสมองแตก แล้วเราต้องไปโรงพยาบาลทุกวันก่อนป้าเสีย แล้วทีนี้ มันก็เป็นเรื่องรักอยู่ดี เพราะรู้สึกว่ามันเล่าผ่านเรื่องรักได้ดีกว่า ก็จะมีพี่สาวกับน้องซึ่งจริงๆ มันแทนภาพของป้ากับแม่เรา เราก็ได้สำรวจอีกอย่างระหว่างอยู่โรงพยาบาล คือในขณะที่เป็นเหมือนช่วงหนึ่งของชีวิต ที่เราได้เจอคนที่กำลังจะตายและตายลง แล้วเราก็ได้เจอมุมของตัวเองที่เหมือนมันดิบมากของมนุษย์ แล้วความรักกลายเป็นเหมือนเรื่องโกหกไปเลย

ภวิล : ของเราเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่เขียนเรื่องสั้น โดยที่ตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าจะไม่ฟัง จะไม่คิดถึงเพลงเลย เพลงใดๆ ก็ตามบนโลกใบนี้ จบแล้ว ก็ต้องลองไปอ่านดูว่าจากการที่เขาตั้งเงื่อนไขแบบนี้มันเกิดอะไรขึ้น แล้วมันดึงเอาอะไรเข้ามา การที่เขาตั้งเงื่อนไข การที่เขาทำสิ่งๆ นี้มันทำให้เกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา แล้วระหว่างนั้นเขาเจออะไร

papercut02.jpg


ดูเหมือนความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ที่ถูกเล่าก็มักจะเป็นเรื่องราวที่ทิ้งรอยแผลไว้ อะไรทำให้บาดแผลเหล่านี้น่าสนใจ

บิว : ทุกคนมีบาดแผลนะ อยู่ที่เรารู้หรือเปล่าว่าเรามีบาดแผลอยู่ แล้วเรียนรู้กับมันยังไง ในความสัมพันธ์ที่มันทำให้เราเกิดบาดแผล เราดีลกับมันยังไงต่อ

ภวิล : มันได้สำรวจตัวเองด้วย มันได้สำรวจตัวเองจากจุดเล็ก ได้มองจากจุดเล็กๆ แล้วก็ค่อยๆ ขยายไป ในเรื่องที่ใหญ่ขึ้น เราคิดว่าเรื่องที่ใหญ่ มันปะทุ มันถูกจุดจากจุดเล็กๆ นี่แหละเสมอ เรื่องราวที่ใหญ่ เรื่องราวที่โกลาหล หรือว่าเรื่องราวไม่ว่าจะสเกลไหนก็ตาม มันเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ ความสัมพันธ์เกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ เสมอ

เราเป็นคนที่ชอบโศกนาฏกรรม เราเป็นคนชอบความปรักหักพัง ซากผุพังอะไรหลายๆ อย่าง เราชอบความงามของสิ่งที่มันไม่งาม แล้วพวกบาดแผล เรารู้สึกว่ามันสวยงามดี ในแง่ของการเขียน เราก็ชอบถ่ายทอดความงามของสิ่งพวกนี้ออกมา แต่ทำไมถึงชอบอ่าน เราคิดว่าบางคนอ่านเพราะว่า เหมือนได้เพื่อนคนหนึ่งว่า เฮ้ย เราไม่ได้รู้สึกอย่างนี้อยู่คนเดียว คนนี้ก็รู้สึกเหมือนกับเราเหมือนกัน เราชอบความรักที่นิ่ง ลึก แล้วก็บาดลึกๆ บาดเหมือนกระดาษบาดนี่แหละ