ไม่พบผลการค้นหา
แม้เส้นทางการต่อสู้บนท้องถนนยังคงไร้คำตอบ แต่มูฟเม้นท์ของงานศิลปะหลายแขนงยังคงขับเคลื่อน เพื่อยั่วล้อรอวันพังทลายขวากหนามความเจ็บปวดของผู้คน

"ผมรู้สึกว่าถ้าพูดถึงศิลปะต่อต้านมันคือการยั่วล้อ การทำให้มันเป็นเรื่องขบขัน การทำให้สัญลักษณ์บางอย่างที่ดูสูงส่ง จับต้องไม่ได้ ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา"

"เขาเรียกว่าตาสว่างกันหมดหรือปลดแอกตัวเองออกมาได้แล้ว ผมชอบมากคำว่าปลดแอก คือการปลดแอกในสิ่งที่คุณกำลังถูกครอบงำอยู่"

บางบทสนทนาของ ‘คาเงะ - ธีระวัฒน์ มุลวิไล’ เจ้าของรางวัลศิลปาธรสาขาการแสดง ประจำปี 2561 หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะละคร B-Floor ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ผู้คนออกมาเรียกร้องปลดแอกจากอำนาจที่กดทับ

ไม่เพียงแต่สีสันของการปราศรัยหรือกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังมีกลุ่มศิลปินหลากแขนง ต่างพาเหรดออกมาร่วมขบวนการต่อสู้ครั้งนี้

เขาเชื่อว่าเส้นทางการต่อสู้ข้างหน้ายังอีกยาวไกล และศิลปะนั้นถือเป็นอาวุธสำคัญอีกชนิดหนึ่ง ที่ทรงพลังเมื่อมันเข้าไปอยู่ภายในการชุมนุม

S__32915503.jpg
  • การแสดงเรื่อง A Thorn of Conceptual Pain จากคณะการละครบีฟลอร์

เช่นเดียวกับงานศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต การยั่วล้อด้วยท่วงท่า สีสัน และอารมณ์ของนักแสดง ที่มักซ่อนเร้นความหมาย และชวนตีความจากการสัมผัสจากสายตา ออกมาในรูปแบบการละครที่เชื่อมร้อยผู้คนไปกับมนต์การเมืองไทย

'วอยซ์' ชวนเขามองอนาคตของแวดวงศิลปะ ท่ามกลางการต่อสู้ที่เข้้าสู่ภาวะแหลมคม เปราะบาง และบางสิ่งที่กดทับไม่ให้พูดได้โดยปกติ


หลังการออกมา Call Out ของศิลปินยุคใหม่ จะมีผลอย่างไรกับแวดวงศิลปินไทยในอนาคต

ผมว่ากระแสมันกำลังมานะ อย่างที่ผมเห็นในแกลลอรี่ต่างๆ ตอนนี้กำลังทำงานกันเยอะมาก ศิลปินในเชิง Visual Art หรือที่เซอร์ไพรส์มากเลยคือนักร้องเพลงป็อบ ทำมิวสิคออกมา ทำเพลงออกมา เรารู้สึกว่าโห.. คุณไม่กลัวฐานคนดูตัวเองเลยเหรอ คือเขาเรียกว่าตาสว่างกันหมดหรือปลดแอกตัวเองออกมาได้แล้ว ผมชอบมากเลยนะคำว่าปลดแอก คือการปลดแอกในสิ่งที่คุณกำลังถูกครอบงำอยู่ แล้วผมเห็นงานศิลปะหลายๆชิ้นนะที่ไม่ใช่ละคร ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพัฒนาไปเรื่อยๆ


พลวัตละครเวที ความเปลี่ยนแปลงใน 20 ปี มุมมองคุณเป็นอย่างไรบ้าง

ผมรู้สึกว่าตอนที่เริ่มทำงานเพอร์ฟอร์แมนช์ อาร์ต ถ้าพูดถึงเรื่องบริบททางการเมืองมันไม่เหมือนกัน มันจะแตกต่างกันไปเรื่อยๆ อย่างเช่นช่วงที่เราเริ่มต้น ปี 2540 ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง มันเป็นช่วงที่ทุกคนกำลังมีไฟเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง พอหลังจากธุรกิจหลายประเภทได้ล้มหายตายจากไปจากพิษเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนเริ่มเข้ามาในวงการละครเวที 

ต่อมาในปี 2549 เกิดการยึดอำนาจรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซึ่งบรรยากาศตอนนั้น ได้สร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง อาทิเช่น เสื้อเหลือง เสื้อแดง เรื่อยมาจนถึง กปปส. มูฟเม้นท์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนตัวมองว่ามันส่งผลกับการละครโดยตรง เพราะก่อนหน้านั้นเราไม่เคยสนใจ 

ตัวอย่างเช่น ละครสมัยก่อนในรั้วมหาวิทยาลัย มักจะนำวรรณกรรมของต่างประเทศมาประยุกต์เป็นบทละคร หรือนำละครพื้นบ้านมาดัดแปลงให้ทันยุคสมัย ซึ่งมิติทางการเมืองนั้นถือว่ายังไม่ได้หยิบยกมาเล่าได้อย่างตรงไปตรงมา แต่พอหลังยุครัฐประหาร 2549 มันมีความหลากหลายมากขึ้น

3 การเคลื่อนไหวที่ผมกล่าวมา ผมว่ามันมีผลมากเลยกับการละคร ในยุคหนึ่งผมอยู่กับนายกฯคนนี้ พอมาอีกยุคหนึ่งก็เกิดการทำร้ายฆ่ากัน ผมก็ต้องทำงานแบบตอบสนองกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ดังนั้นการละครของผมไม่ว่าจะผ่านไปอีก 20 ปีข้างหน้า ผมก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนบันทึก เพื่อเล่าเหตุการณ์ที่บ้านเมืองกำลังประสบอยู่”


ตะกอนความคิดและกระบวนการผลิตงานของคุณเป็นอย่างไร

การผลิตงานผมก็เหมือนกับศิลปินหลายคน ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมหรืองานวรรณกรรม มันคือการหยิบจับจิ๊กซอว์ในสังคมมาถ่ายทอดในรูปแบบของงานศิลปะ ในส่วนตัวผมมีเทคนิคในแง่ของการทำละครจากสิ่งที่เราเก็บเกี่ยวรอบตัว มันเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้เริ่มจากโครงเรื่องหรือวรรณกรรม

แต่สามารถเริ่มโดยสิ่งกระตุ้นจากภาพถ่าย เสียงดนตรี โดยนำมาทดลองกับทีมงานนักแสดง เราจึงให้เวลาค่อนข้างเยอะในห้องซ้อม สำหรับละครหนึ่งเรื่อง ผมจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการซ้อม ช่วงเวลาในการค้นหาเราจะเวิร์คช็อปในเชิงเทคนิค เพื่อหาคอนเซ็ปต์ของเรื่องว่ามันจะทำงานยังไง เหมือนทำ 10 เอา 1 มันเลยค่อนข้างเสียเวลา 

S__32915500.jpg
  • ขวากหนามและความเจ็บปวด

ซึ่งผมมีขั้นตอนที่จะเลือกนักแสดงคือ คุณต้องมีเวลาที่จะอยู่กับมัน ยกตัวอย่างเช่นเวลาผมทำงานบนถนน ตอนผมไปรับสมัครผมบอกเขาเลยว่า ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานอะไรเลย ขอเพียงให้มีใจรักประชาธิปไตย เพราะว่ากระบวนการทางความคิดที่มันเห็นตรงกัน มันสามารถเชื่อมต่อกันง่ายกว่า ส่วนเทคนิคหรือการซ้อม มันสามารถเรียนรู้ร่วมกันไปได้ 

เช่น งานล่าสุดผมชื่อเรื่องของผมคือ A Thorn of Conceptual Pain หรือขวากหนามความเจ็บปวด ผมรู้สึกว่าลวดมันมีความแวววาวมันมีความแข็งกระด้าง แต่มันก็สามารถดัดรูปทรงได้ ในขณะเดียวกันคุณก็จะรู้สึกถึงความน่ากลัวซีน บางซีนเหมือนผมคลี่ลวดออกมา มันก็กลายเป็นลวดหนาม ผมก็มองเห็นเป็นเชิงการเมืองแล้ว 

เพราะทุกครั้งถ้าคุณไปม็อบคุณจะเห็นลวดหนามก่อนเลย ตามเนื้อเรื่องที่บอกว่า เฮ้ย…เราต้องไม่กลัวแล้ว ผมก็เลยใช้ซีนให้ทุกคนมาเล่นยั่วล้อเหมือนกับกระโดดเชือกโดยเส้นลวด สำหรับผู้ชมก็จะรู้สึกถึงความน่ากลัวของมันผ่านความแวววาว สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือมันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าเราเข้าใจระบบของมัน 

“เพราะผมรู้สึกว่าการเมืองตอนนี้มันกำลังวิพากษ์โครงสร้างและระบบที่มันเป็นจริงๆว่ามันคืออะไร แล้วเอาเข้าจริงเราควรจะพูดถึงมันได้ เราควรจะวิพากษ์วิจารณ์มันได้ ผมเลยแปลงสารในสิ่งที่รู้สึกว่ามันไกลตัว เข้ามาเชื่อมโยงให้เห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองของเราตอนนี้"


คุณใช้เทคนิคในงานศิลปะต่อต้านอย่างไร

ผมรู้สึกว่าถ้าพูดถึงศิลปะต่อต้านมันคือการยั่วล้อนะ การทำให้มันเป็นเรื่องขบขัน การทำให้สัญลักษณ์บางอย่างที่มันดูสูงส่งจับต้องไม่ได้ ถูกทำให้มันกลายเป็นเรื่องธรรมดา

บางทีอาจจะมีการแทรกความหมายใหม่เข้าไปด้วย เราเคยเห็นหมุดคณะราษฎร์ใช่ไหมแล้วอยู่ๆมันก็เปลี่ยนเป็นอีกหมุด ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นการเล่นกับสัญลักษณ์ นี่คือเสน่ห์ในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง 

หรือแม้กระทั่งการใช้กระดาษหรือไอแพดเขียนข้อความแล้วนำมาชู สะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปบนท้องถนน ซึ่งผมมองว่าสิ่งเหล่านี้คืองานศิลปะ แม้ว่าคนข้างนอกเขาคือคนธรรมดาที่ไม่ได้เคลมตัวเองว่าเป็นศิลปิน แต่มุมมองที่พวกเขาสื่อสารออกมาผมมองว่ามันคือศิลปะ ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นศิลปิน เราเลยอยากเอาสิ่งที่มันเกิดขึ้นบนท้องถนน เข้ามาถ่ายทอดในโรงละคร  


ความเปราะบางในสังคม ยกตัวอย่างเช่น ‘ดราม่าธงชาติ’ มันมีผลต่อการทำงานของคุณไหม

ก็มีคนถามว่าทำไมศิลปินถึงไม่พูดตรงๆ ออกมาสักที เพราะข้างนอกเขาก็พูดกันตรงๆชิบหายแล้ว แต่ว่าทำไมศิลปินไม่พูดกัน ผมรู้สึกว่าบางงานของผมก็พูดตรงๆเลยนะ (หัวเราะ) ตอนนั้นพอฟังเพลงบ้านป่าเมืองดอน เวอร์ชั่นของพลเมืองโต้กลับ สมัยที่พวกเขาต่อต้าน Single Gateway ผมเลยรู้สึกว่าเฮ้ย เราควรจะแปลงเพลงบ้างนะ 

48371.jpg
  • ยั่วล้ออำนาจด้วยศิลปะ

เพราะการต่อสู้ตอนนี้มันเริ่มเข้มข้นขึ้นแล้ว เราควรจะแปลงกันถึงเรื่องเพดานหรือเรื่องที่มันยิ่งใหญ่มากกว่านั้น เพื่อนำมาแสดงโชว์ นี่มันคือการพูดที่ไม่รู้จะตรงยังไงแล้ว (หัวเราะ) เข้าใจไหม แต่คนดูอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นรีวิวประกอบบทเพลงที่สวยงาม แต่เนื้อหาที่มันถูกแปลงมาคือแรงมาก 


การสื่อสารทางการเมืองเริ่มเปิดมากขึ้น ส่งผลกับการผลิตงานไหม

คือผมเป็นคนกวนตีนไง ผมก็เลยมีทั้งมุมขำ มุมซีเรียส ไม่ได้เน้นอารมณ์ไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องโยนก้อนข้อมูลเข้าไป เพราะผมรู้สึกว่าคนดูเขาสามารถไปหาคำตอบในสิ่งที่เขาอยากรู้ได้ งานของผมหลายๆชิ้นจะใช้วัตถุที่มันแตกต่างกัน บางเรื่องใช้แบริเออร์หรือที่กั้นถนน บางทีใช้ไม้ไผ่หรือบางงานก็ใช้จาน ผมพยายามมองว่าในแง่มุมของศิลปะ เราพยายามพูดถึงสังคมผ่านสิ่งของ อันนี้มันอาจจะเป็นลายเซ็นผมก็ได้ ในการที่จะนำเสนอเรื่องราวออกมา 

“ผมยังรู้สึกว่าชอบกลิ่นอายของการซ้อมหรือการแสดงในโรงละครอยู่ แน่นอนว่าทุกคนที่เห็นเคยเห็นผมก็จะรู้ว่าเวลาไปข้างนอกผมก็จะทำอีกแบบ ซึ่งอาจจะตรงไปตรงมาด้วยซ้ำไป แต่พอมาอยู่ในโรงละครคนก็จะสามารถ ฟังในเสียงที่แบบโทนต่ำๆหรือดีเทลเล็กๆได้ ซึ่งขณะเดียวกันบนท้องถนนคุณทำไม่ได้ มันเลยทำให้ผมไม่อยากสูญเสียวิธีการในการสื่อสารแบบนี้ออกไป” 


มองเห็นอะไรบ้างในแนวรบวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ ทั้งหมอลำ ร็อคแอนด์โรล ฯลฯ

ใช่ๆ ผมมีความรู้สึกว่า การต่อสู้ครั้งนี้มันสู้กันยาว ผมไม่เคยคิดเลยว่ามันจะจบตั้งแต่ปีแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวใหญ่ ผมมองว่ามันไม่ใช่แต่สิ่งที่เราต้องต่อสู้จริงๆคือ การต่อสู้กับทัศนคติมันต้องใช้ศิลปะ และเราต้องใช้การยั่วล้อ แน่นอนว่าการแสดงการด้อยค่า (หัวเราะ) มันก็ทำงานของมันอยู่ แต่สิ่งที่มันสะท้อนกลับมาคือความเป็นเหตุเป็นผล อะไรคือพื้นฐานที่เราจะสามารถรับฟังกันได้ 

แน่นอนว่าในสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวนั้นอาจจะเกินจินตนาการของพวกเขา หลังจากที่เพดานทะลุไปแล้ว แต่ผมก็มองเห็นว่าเฮ้ยทุกคนก็พูดกันธรรมดามากขึ้น แสดงว่ามันก็เกิดความสำเร็จประมาณหนึ่งแล้ว เพียงแต่ปัญหาคือใครไม่เปลี่ยน ระบบต่างหากล่ะที่ไม่เปลี่ยนใช่ไหม แต่คนมันเปลี่ยนแล้วมันพร้อมที่จะมองไปข้างหน้าแล้ว โอเคงานศิลปะคือการทำงานกับประชาชน แต่จริงๆแล้วมันสามารถสะท้อนขึ้นไปถึงข้างบนได้ไหม

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญของความเปลี่ยนแปลงคือเสียงมันต้องดังพอ อย่างในโรงละครรองรับได้เพียง 80 ที่ มันก็อาจจะสะท้อนได้บ้าง แต่มันก็ยังมีข้อจำกัด คุณไปทำมิวสิควีดีโอคุณยังสื่อสารกับคนได้มากกว่าอีก แต่ในฐานะคนทำงานละครหรือว่าทำงานศิลปะ ผมก็ยังรู้สึกว่าเราต้องทำในสิ่งที่เราถนัด


บีฟลอร์มีทิศทางอย่างไร ในการขยายฐานคนที่รู้สึกว่าละครเวทีเข้าใจยาก?

จริงๆ แล้วเราต้องมีทีมงานการตลาดหรือโปรดิวเซอร์ ที่คอยสนับสนุนดังนั้นฐานที่มันจะใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่การทำงานในกรุงเทพฯ โอเคมันอาจจะเป็นประเด็นที่อ่อนไหว คุณไปทำงานต่างจังหวัดอาจจะไม่มีการตอบรับมาก แต่ตอนนี้ต่างจังหวัดก็เริ่มกระเพื่อมขึ้นมาหลายพื้นที่แล้ว ก็ต้องไม่ดูแคลนว่าการเคลื่อนไหวมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพฯ 

ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่นเชียงใหม่หรือภาคใต้ พื้นที่เหล่านี้มันกำลังมีการเคลื่อนไหวของมันอยู่ ตัวอย่างที่ผมบอกว่ามันต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป สมัยก่อนเราเคยได้ยินว่าหลัง 14 ตุลา 6 ตุลา มีกลุ่มละครที่เริ่มออกไปทำงานมวลชน แต่กลุ่มละครก็ทำหน้าที่ได้เพียงในขอบเขตที่ถูกจำกัดไว้ 

ถ้าจะให้ผมจะขยายฐานคนดู ต้องให้ผมเล่นที่รัชดาลัยเธียเตอร์สิ (หัวเราะ) หรือบางคนอาจจะมองว่าเอาดาราที่มีชื่อเสียงมาเล่นสิ แต่ผมรู้สึกว่ากระบวนการแบบนี้ ถ้าทำแล้วบางทีผมอาจจะสูญเสียตัวตนได้ ผมเคยทำงานแสงสีเสียงนะ ที่คอยสนับสนุนไอเดียอีกรูปแบบหนึ่ง ผมรู้สึกว่าการขยายฐานมันยังเป็นอุดมคติอยู่ ที่ไม่ได้ตังค์แต่ได้ไอเดียในการเคลื่อนไหว 


ตั้งใจทำเป็นอะไรต่อในอนาคต

ปี 2565 เดือนเมษายน ผมจะไปทำงานที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อทำงานกับชุมชนและชาวบ้าน ซึ่งจะทำกรณีเรื่องกบฏผีบุญที่จะครบรอบ 120 ปี ซึ่งผมและอาจารย์ถนอม ชาภักดี จะพากลุ่มราษดรัมส์ลงพื้นที่ด้วย มีการทำเวิร์คช็อป อาจใช้เวลาสัก 2 สัปดาห์ในการทำงานตรงนี้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล เพื่อที่จะเรียบเรียงมันออกมาเป็นงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog