ไม่พบผลการค้นหา
กูเกิลประกาศว่าภายในปี 2022 จะใช้วัสดุรีไซเคิลในฮาร์ดแวร์ภายใต้แบรนด์ Made by Google ทุกชิ้น พร้อมชดเชยคาร์บอนในการขนส่งสินค้าให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดเป็นศูนย์ภายในปี 2020 หัวหน้าทีมชี้ว่าการออกแบบคือการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ และปัญหาความยั่งยืนก็เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน

วันที่ 5 สิงหาคม กูเกิลประกาศว่าภายในปี 2022 สินค้าในแบรนด์ Made by Google ทั้งหมด เช่น สมาร์ตโฟนพิกเซล (Pixel) โน๊ตบุ๊กพิกเซลบุ๊ก (Pixelbooks) ลำโพงอัจฉริยะกูเกิลโฮม (Google Home) จะมีวัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบ

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งมีกำหนดการเปิดตัวในปีนี้ที่ยังไม่ประกาศว่าคืออะไร จะใช้พลาสติกจากขวดรีไซเคิล แทนเส้นใยโพลีเอสเตอร์ตามปกติ โดยกูเกิลระบุว่าทีมฮาร์ดแวร์ใช้เวลาสองปีในการตรวจสอบว่าวัสดุรีไซเคิลจากขวดนั้นจะได้มาตรฐานการผลิตและการออกแบบ โดยผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะใช้วัสดุรีไซเคิลจากขวดพลาสติกถึงหนึ่งในสาม

กูเกิลยังประกาศอีกว่า ภายในปี 2020 กูเกิลจะจัดส่งสินค้าทั้งหมดโดยมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (carbon neutral) ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงการไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย แต่มีการลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเพื่อให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์

ไอวี รอสส์ หัวหน้าทีมออกแบบฮาร์ดแวร์ของกูเกิล ชี้ว่าการออกแบบไม่ใช่แค่การทำให้สินค้าดูดีหรือสวยงาม แต่เป็นการแก้ไขปัญหาให้มนุษย์ และความยั่งยืนก็เป็นหนึ่งในปัญหา ซึ่งอาจจะสำคัญที่สุดในช่วงชีวิตของเราด้วย

ทั้งนี้ ทางทีมก็ต้องรักษาสมดุลระหว่างความยั่งยืน ต้นทุนการผลิต และความเป็นไปได้ในการผลิตด้วย แอนนา มีแกน หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนสำหรับฮาร์ดแวร์ของกูเกิล ระบุว่าในส่วนของการขนส่ง กูเกิลลดการปล่อยก๊าซลงได้ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเปลี่ยนจากการขนส่งทางเครื่องบินเป็นทางเรือ แต่ก็ทำให้แผนกต่างๆ ต้องพัฒนาโดยเผื่อเวลาสำหรับขนส่งสินค้ามากขึ้นเพื่อให้วางจำหน่ายได้ตามกำหนด

นอกจากนี้ กูเกิลยังมีโครงการให้ผู้ใช้งานอุปกรณ์ของกูเกิลในสหรัฐอเมริกา ส่งอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วคืนกูเกิลผ่านทางเฟ็ดเอ็กซ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปรีไซเคิลต่ออีกด้วย

ทั้งนี้ กูเกิลไม่ใช่บริษัทด้านเทคโนโลยีรายเดียวที่หันมาลงทุนกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม แอปเปิลเองก็เริ่มมีการใช้วัสดุอย่างพลาสติก อะลูมิเนียม และดีบุกรีไซเคิล รวมถึงออกแบบหุ่นยนต์ที่สามารถแยกชิ้นส่วนไอโฟนและส่งวัตถุดิบบางอย่างกลับเข้าห่วงโซ่อุปทานได้ เช่น โคบอลต์จากแบตเตอรีไอโฟนเก่า

ที่มา: Verge / Fast Company

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: