ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงคมนาคม พร้อมดูแลความสะดวก-ปลอดภัยรับเปิดภาคเรียน กำชับขนส่งจังหวัดเข้มงวดรถโรงเรียน-รถรับจ้างให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงอย่างเคร่งครัด ห้ามบรรทุกเกินจำนวน-ห้ามปล่อยผู้โดยสารโหน นั่งบนหลังคา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมาตรการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกปลอดภัยรองรับการเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครองช่วงเปิดภาคเรียนเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ว่า ระหว่างวันที่ 13–24 พ.ค. นี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบกได้จัดผู้ตรวจการลงพื้นที่ร่วมกับตำรวจจราจรดูแลความเรียบร้อยปลอดภัยบริเวณหน้าโรงเรียนและจุดเชื่อมต่อการเดินทาง รวมทั้งกำกับดูแลรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้างไม่ให้เอาเปรียบผู้โดยสาร

โดยเฉพาะเส้นทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด 3 เส้นทาง

เส้นที่ 1 ถนนสามเสน-ราชวิถี-นครราชสีมา

เส้นที่ 2 ถนนอโศก-เพลินจิต-สุขุมวิท

เส้นที่ 3 ถนนสีลม-สาทร-เจริญกรุง รวมถึงบริเวณที่มีผู้โดยสารและการจราจรหนาแน่น เช่น ถนนบางนา ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สะพานกรุงธน ถนนพระราม 6 หน้าโรงเรียนสามเสน สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ควบคู่กับการตรวจสภาพความพร้อมของรถโดยสารประจำทางและรถโรงเรียน

เพิ่มรถเมล์ 2 หมื่นเที่ยวรับผู้โดยสาร

ขณะที่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพิ่มปริมาณรถโดยสารสาธารณะร้อยละ 10 หรือประมาณ 22,200 เที่ยวต่อวัน ในเส้นทางที่ผ่านสถานศึกษา พร้อมเร่งคืนพื้นที่ที่มีการก่อสร้างในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เร่งคืนพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่จำเป็นโดยเร็ว และร่วมกันแก้ไขปัญหากับผู้รับจ้างกรณีเกิดเหตุที่ทำให้การจราจรติดขัดเป็นเวลานาน

รวมถึงพิจารณาแนวทางการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากการก่อสร้างโครงการในความรับผิดชอบ กรมเจ้าท่ากำกับดูแลความปลอดภัยปริมาณนักเรียนและผู้ใช้บริการบริเวณท่าเรือ พร้อมประสานผู้ประกอบการเรือโดยสารเพิ่มเที่ยวเรือวันละ 1–2 เที่ยว รวมทั้งกำชับพนักงานประจำท่าเรือดูแลความปลอดภัยเป็นพิเศษด้วย

การเดินทาง รถเมล์ ขสมก ค่าครองชีพ เศรษฐกิจ


รถโรงเรียนในต่างจังหวัดต้องทำตามกฎกระทรวงอย่างเคร่งครัด

สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดได้กำชับให้สำนักงานขนส่งจังหวัดเข้มงวดรถโรงเรียนและรถรับจ้างเอกชนทุกประเภทต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยห้ามบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สภาพรถมีความพร้อม ทั้งความมั่นคงแข็งแรง มีอุปกรณ์ความปลอดภัยประจำรถ และต้องไม่มีนักเรียนโหน หรือขึ้นไปนั่งบนหลังคารถอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ ยังสั่งให้ดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์ความปลอดภัยหน้าโรงเรียน เช่น ทางม้าลาย ไฟสัญญาณจราจร ป้ายเตือนเขตโรงเรียน ทางเดินเท้า สะพานลอยคนข้าม ให้แล้วเสร็จ โดยกำหนดให้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยจังหวัดละ 5 โรงเรียน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน และในอนาคตให้พิจารณาติดตั้งเสียงสัญญาณเตือนควบคู่กับทางม้าลายและสัญญาณไฟจราจร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง