ไม่พบผลการค้นหา
'ดวงฤทธิ์ บุนนาค' สถาปนิกนักออกแบบชี้อุปสรรค 'ธุรกิจขนาดจิ๋ว' โตยาก ขาดแหล่งเงินทุน ขาดการสนับสนุนต่อเนื่อง ซ้ำร้ายสังคมไทยขาดเสรีภาพ ปิดกั้นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ กดทับ 'ความคิดสร้างสรรค์'

นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ กล่าวในงานเสวนา "150 วันอันตราย ทางเลือกหรือทางรอด" สะท้อนปัญหาของธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแรงงาน 1-5 คน และปัญหาคอขวดของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) ว่าต้องจำเป็นต้องมีนโยบายที่มองเห็นปัญหาที่แท้จริงและเปิดโอกาสให้บุคคลในวงการเหล่านี้ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ

โดยฉายภาพปัญหาที่พบเจอทั้งในฐานะผู้ที่ทำงานบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์และนักธุรกิจ โดยในฐานะนักธุรกิจพบว่าการเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่อย่าง micro enterprise ที่ซ่อนอยู่ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ยังเผชิญปัญหากับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่ ซึ่งเป็นคอขวดที่ธุรกิจเจอมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ด้วยซ้ำ ดังนั้นยิ่งเมื่อมาเจอวิกฤตโรคระบาดผู้ประกอบการจึงเจอปัญหาสภาพคล่องหนักยิ่งขึ้น และมาตรการที่ออกมาจากฝั่งรัฐบาลอาจจะมีให้พักการชำระหนี้ได้จริง แต่กลุ่มคนเหล่านี้ยังเจอปัญหาต่อเนื่องอยู่ดี เมื่อต้องกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง เพราะการเปิดธุรกิจอีกครั้งต้องใช้เม็ดเงินหมุนเวียน ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากยังเข้าไม่ถึง 

ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถใช้เวลา 150 วันตรงนี้ สร้างห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานภายในประเทศขึ้นมาได้ ก็จะเป็นการสร้างให้เกิดการหมุนเวียนท้องถิ่นแทนที่จะต้องพึ่งสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศ จึงอยากจะให้เม็ดเงินที่ออกมาเอามาลงกับการพัฒนากระตุ้นธุรกิจไปให้ถึงสายการผลิตเหล่านี้ ให้ลงไปถึงชุมชนท้องถิ่นให้ผู้ประกอบการได้สามารถพึ่งพากันและกันได้ 

อีกทั้งยังเชื่อมไปที่ความหวังที่ของรัฐบาลชุดนี้ที่ทุ่มเม็ดเงินลงไปไม่น้อยกับสตาร์ทอัพ แต่กลับได้ตัวเลขจีดีพีกลับคืนมาแค่ร้อยละ 2.7 เท่านั้น จึงทำให้เกิดคำถามว่าอะไรเป็นปัจจัยบั่นทอนสำคัญให้สตาร์ทอัพกว่า 7,000 บริษัท ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ชี้ว่ามีอัตรารอดเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น 

ประเด็นนี้ นายดวงฤทธิ์ ชี้ว่าที่ผ่านมาเด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกันคนไทยที่ซึ่งเป็นชาติที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดในโลก แต่กลับเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ไม่เอื้อไม่ส่งเสริมให้เกิดการแสดงออก ไม่เปิดโอกาสให้รู้จักกับอิสรภาพในการคิด ปัจจัยเหล่านี้บั่นทอนความสามารถของเด็กไทยเป็นจำนวนมาก เพราะแค่จะออกมาพูดเรื่องสักเรื่องที่ขัดกับความคิดผู้ใหญ่ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กแหกคอก เป็นเรื่องผิด เป็นความลามปาม ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องสุดท้ายสามารถแก้ไขได้ง่ายมาก แค่สังคมเปิดใจแก้ไข และตนในฐานะผู้ทำงานบนความคิดสร้างสรรค์รวมถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่อีกมากก็พร้อมลุกขึ้นมาทำธุรกิจ ลุกขึ้นมาเสี่ยง กล้าทำทุกอย่าง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: