ไม่พบผลการค้นหา
'บรรยง' ชง 3 ข้อเสนอ แปรรูป รสก.ขนาดใหญ่เข้าตลาดหุ้น-กระจายอำนาจท้องถิ่น ตั้งกองทุนประชาสังคมติดตามตรวจสอบงบฟื้นฟู 4 แสนล้าน-แก้รัฐธรรมนูญนำประเทศสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง เผยไม่เลือกพรรคเลือกกลุ่ม พร้อมหนุนคนคิดดีเปลี่ยนแปลงประเทศ

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวบนเวทีเสวนา "150 วันอันตราย ทางเลือกหรือทางรอด" ในงานเปิดตัวกลุ่มแคร์ ว่า ตนเป็นประชาชนคนธรรมดาตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่หากใครทำดีเพื่อโลก พร้อมสนับสนุนไม่เลือกกลุ่มเลือกพรรค ขณะที่วันนี้ วิกฤตที่มวลมนุษยชาติกำลังเจออยู่ เป็นปัญหาข้อกังวล อย่างที่ทราบ วิกฤตครั้งนี้เจอกันทั้งโลก เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งยิ่งใหญ่ และประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ถูกคาดการณ์ในทางเศรษฐกิจว่าจะมีปัญหามากกว่าประเทศอื่่นโดยค่าเฉลี่ย 

ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ สิ่งที่รัฐบาลทำก็ต้องขอแสดงความชื่นชมในด้านสาธารณสุข ประเทศไทยสามารถจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 และมีอัตราการตายน้อยประเทศหนึ่งในโลก อย่างไรก็ตามมาตรการที่ประเทศไทยใช้มีต้นทุนสูงเกินไปหรือเปล่า ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ปีนี้ว่าจะติดลบร้อยละ 9 เป็นอย่างน้อย และจะไม่ได้ติดลบปีเดียว ซึ่งเป็นอัตราการติดลบที่มากกว่าปี 2540 ซึ่งในตอนนั้น ภายใน 3 ปี ประเทศไทยสามารถกลับไปที่เดิมได้ แต่รอบนี้ไม่รู้จะกลับเมื่อไร

ส่วนมาตรการรัฐด้านเยียวยา ฟื้นฟู รักษาเสถียรภาพ ผ่านการออก พ.ร.ก.เงินกู้ ในเวลาที่หนี้เพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจหดตัว หลายคนกังวลว่าหนี้สาธารณะมีความเสี่ยง แต่สำหรับตนคิดว่าเรื่องหนี้สาธารณะไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะประเทศไทยมีวินัยการคลังต่อเนื่องยาวนาน หนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 40 ของจีดีพี และแม้จะมีการคาดกันว่าเงินกู้ที่นำมาใช้ในมาตรการดูแลผลกระทบโควิด-19 ชุดแรกนี้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 50 แต่เนื่องจากหนี้สาธารณะไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้จากรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้วจึงมองว่าประเด็นหนี้สาธารณะไม่เป็นประเด็น และจะเพิ่มอีก 1 ล้านล้านก็ยังได้

ดังนั้น ตนจึงเห็นด้วยกับสิ่งที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย กล่าวถึง 5 T ได้แก่ Titanic, Timing, Target, Transpiracy และ Temporary หรือ ใหญ่ มีจังหวะเวลา มีกลุ่มเป้าหมายชัด โปร่งใส และชั่วคราว เนื่องจากเวลาเกิดวิกฤตในโลก รัฐที่ต้องแก้ปัญหาต้องแก้ปัญหาในตัวเองครั้งมโหฬาร และรัฐต้องขยายตัวในกรอบเวลาอันจำกัด ชัดเจน ดำเนินการโดยความโปร่งใส และพร้อมจะถอนตัวออกไปเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย 

พร้อมเสนอทางออกจากวิกฤตสำหรับประเทศไทยว่า หนึ่ง แปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เข้าตลาดหุ้น เนื่องจากประเทศไทยมีรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ที่มีขนาดใหญ่ มีหนี้สาธารณะเพิ่มพูนขึ้น หากนำรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ออกไปกระจายหุ้นในตลาดหุ้น นอกจากประเทศจะได้คืนหนี้สาธารณะกลับมาแล้ว ตัวหนี้สาธารณะที่เกิดจากรัฐวิสาหกิจก็จะหายไปมากถึง 5-6 แสนล้านบาท (จากปัจจุบันหนี้สาธารณะไทยมีจำนวน 7.1 ล้านล้านบาท) อีกด้านหนึ่งเมื่อขายหุ้นรัฐวิสาหกิจออกไป รัฐก็จะได้เงินกลับมาเพิ่มอีกเกือบ 1 ล้านล้านบาท เป็นต้น

สอง กระจายทรัพยากรกระจายอำนาจ โดยให้ทดลองโมเดลจากการใช้เงินใน พ.ร.ก.เงินกู้ ที่ใช้สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยให้จัดสรรให้ท้องถิ่น แบ่งสรรตามจำนวนคนและสัดส่วนตามจำนวนประชากร ให้ท้องถิ่นดำเนินการ ไม่ใช่มีโครงการโผล่มา 40,000 กว่าโครงการ งบกว่า 8 แสนล้านบาท เหมือนแค่ดึงมาจากลิ้นชัก แต่ไม่ตอบโจทย์ไม่แก้ปัญหาประชาชน ดังนั้นจึงเสนอใช้โอกาสนี้ทดลองการกระจายและจัดสรรงบประมาณร้อยละ 0.5 ของวงเงินดังกล่าว ตั้งกองทุนและให้ภาคประชาสังคมตรวจสอบการใช้เงินจำนวนนี้

สาม ใช้โอกาสในวิกฤตนี้เรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในประเทศ ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะวิกฤตช่วยกระตุ้นให้เกิดเรื่องเหล่านี้ได้ ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนมากยังสงสัยในประสิทธิผลของประชาธิปไตย ยังไขว้เขว่ ลังเล แต่ตนอยากจะชี้ว่าหากพิจารณาผ่านดัชนีความมั่งคั่ง ดัชนีความโปร่งใส และดัชนีความเป็นประชาธิปไตย จะพบว่าใน 20 ประเทศแรกในโลกติดอันดับซ้ำกันหมด ซึ่งจะเห็นว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมาก ก็จะโกงน้อยเคารพสิทธิคนอื่นมาก หรือจะบอกว่าประเทศที่รวยเพราะไม่โกงก็ตาม แต่ที่ผ่านมาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้พิสูจน์มาแล้ว 

"ไหนๆ หากคุณจะเป็นวีรบุรุษ แก้โควิดได้ ก็น่าจะคืนความประชาธิปไตยสู่ประชาชน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอนนี้ใช้มา 3 ปี วันนี้ก็รู้แล้วว่า มันใช้ไม่ได้ วิกฤตตอนนี้ก็น่าจะถือเป็นโอกาสปลดล็อกได้" นายบรรยง กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :